"ไชยา"เผยฉลองสงกรานต์ 2 วัน ประชาชนพึ่งสายด่วนนเรนทร 1669 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกือบ 2 เท่า แต่มีมือมืดโทรป่วน 2,753 สาย เฉลี่ยนาทีละ 1 สาย อาจส่งผลประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุโทรไม่ติด เตือนมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)พร้อมด้วย นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เดินทางไปตรวจเยี่ยมจุดตรวจแอลกอฮอล์ที่ตำบลลูกแก อำเภอท่ามะกา เยี่ยมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ศูนย์นเรนทร ที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา และเปิดการรณรงค์ “อสม.ร่วมใจป้องกันอุบัติเหตุ เทศกาลสงกรานต์ปี 2551” ที่โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ อำเภอเมือง โดยได้มอบเกียรติบัตรให้หน่วยกู้ชีพ และปล่อยขบวนรถกู้ชีพกู้ภัยออกปฏิบัติการช่วงเทศกาลสงกรานต์
นายไชยา กล่าวว่า ในรอบ 2 วัน (11-12 เมษายน 2551) ประชาชนใช้บริการสายด่วนกู้ชีพนเรนทร 1669 จำนวน 2,627 ครั้ง ซึ่งในปี 2550 ใช้บริการเพียง 971 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้วเกือบ 2 เท่าตัว แต่ที่น่าห่วงมากพบว่าการโทร 1669 ซึ่งเป็นสายด่วนช่วยชีวิตประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน มีมือมืดโทรไปก่อกวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานรับแจ้งเหตุในวันที่ 11-12 เมษายน มากถึง 2,753 สาย เฉลี่ยนาทีละ 1 สาย ส่วนใหญ่โทรกลั่นแกล้ง แซว หยอกล้อเจ้าหน้าที่หรือกดเพลงให้ฟัง เมื่อตรวจสอบมักจะใช้โทรศัพท์จากตู้สาธารณะมากกว่า
“การกระทำเช่นนี้ จะเป็นการทำลายโอกาสรอดชีวิตของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากมือแพทย์ เมื่อโทรมาแล้วจะโทรไม่ติด สายไม่ว่าง ทำให้ผู้ประสบเหตุตัดสินใจขนย้ายผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินไปเอง เสี่ยงความพิการและเสียชีวิตระหว่างการนำส่ง ขอให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ปกครองเด็ก ให้สอดส่องกำชับลูกหลานอย่าให้โทรไปรบกวนเจ้าหน้าที่ ซึ่งศูนย์ฯ สามารถตรวจสอบได้ว่า โทรมาจากไหน เนื่องจากโทรศัพท์จะโชว์เบอร์ที่โทรเข้ามา ทางศูนย์ฯ จะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการทางกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า ขณะนี้ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินไทย มีหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ 5,791 หน่วย บุคลากรมีขีดสมรรถนะได้มาตรฐานเพียงพอ รองรับผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทุกกรณีไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดหรือจำนวนมากเพียงใด โดยขอรับความช่วยเหลือผ่านโทร. 1669 ฟรี ซึ่งทุกชีวิตจะได้รับการดูแลและช่วยเหลืออย่างทันเวลา ลดความรุนแรงการบาดเจ็บ และคุ้มครองชีวิตอย่างเต็มความสามารถ
ทั้งนี้ การให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11-12 เมษายน 2551 ได้ให้บริการกู้ชีพทุกประเภท 5,381 ครั้ง กว่าร้อยละ 50 เป็นหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นในระดับตำบล โดยร้อยละ 44 เป็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร เพิ่มจากปีที่แล้วร้อยละ 50 ทีมกู้ชีพได้รักษาและนำส่งรักษาต่อ ร้อยละ 91 ผู้บาดเจ็บตายระหว่างนำส่งโรงพยาบาล และตายก่อนทีมไปถึง ร้อยละ 4 ไม่พบเหตุร้อยละ 5