xs
xsm
sm
md
lg

รอน ร่วง ราญ...ณ บ้านบางแคแม้ “วันเผา” ยังไร้เงาลูกหลาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ไว้อาลัยเพื่อนร่วมชะตากรรมเป็นครั้งสุดท้าย
เสียงดนตรีไทยทำนองโหยไห้ ขับกล่อมบรรยากาศตอนบ่ายจัด ณ เมรุวัดนิมมานรดี ย่านบางแค ให้เต็มไปด้วยความโศกสลด หากเป็นทั่วไป งานฌาปนกิจร่างไร้วิญญาณเช่นนี้ คงต้องคลาคล่ำไปด้วยญาติพี่น้องของผู้วายชนม์ ที่มาส่งและอโหสิเป็นครั้งสุดท้าย แต่สำหรับวาระนี้ ในสถานที่แห่งนี้กลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิง…เพราะผู้ที่มาร่วมงานของผู้ตายกลับไร้เงาของญาติพี่น้อง ลูกหลานแม้แต่คนเดียว แต่กลับเป็นผู้ใจบุญที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ เพราะพวกเขารู้ว่างานที่จัดขึ้นในวันนี้จัดอุทิศส่วนกุศลให้แก่การจากไปของผู้สูงอายุไร้ญาติ จากศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค...

ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี เป็นช่วงที่บ้านบางแคจัดฌาปนกิจศพให้แก่บรรดาผู้สูงอายุที่จากไปในช่วงตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้จัดมาเป็นครั้งที่ 20 โดยมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 22 ราย มีเพียง 6 รายเท่านั้น ที่ได้กลับไปอยู่ท่ามกลางลูกๆ หลานๆ ที่เป็นธุระคอยจัดการพิธีศพให้

ซึ่งนั่นเป็นความจริงที่สุดเศร้า ว่า 16 ร่างไร้วิญญาณที่เหลือ จะต้องละร่างสังขารนี้ไป โดยปราศจากการเหลียวแลของญาติพี่น้อง เมื่อเป็นเช่นนี้ทางบ้านบางแคจึงต้องจัดการงานให้จนเสร็จพิธีการทางศาสนาทุกอย่าง เป็นสิ่งที่น่าคิดตามอย่างยิ่งว่า สังคมปัจจุบันนี้สถานการณ์ผู้สูงอายุที่โดนทอดทิ้งนั้นมีมากแค่ไหน

และนี่คือ ความจริงที่ต้องบันทึกไว้ในห้วงที่วันผู้สูงอายุแห่งชาติจะมาถึงในวันที่ 13 เม.ย.นี้
พฤฒินันท์ เหลืองไพบูลย์
** สุดปลายทางที่ “บ้านบางแค”
ตามคำบอกเล่าของ พี่กบ-พฤฒินันท์ เหลืองไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค ได้บอกกล่าวเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย เกี่ยวกับผู้สูงอายุที่เข้ามาพักพิงยังบ้านบางแคว่า

ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุอยู่มาก ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีครอบครัว มีลูกหลานคอยเลี้ยงดู แต่ก็มีไม่น้อยเช่นกันที่รัฐต้องดูแล ซึ่งสาเหตุหลักของผู้สูงอายุที่เข้ามาอยู่ ณ บ้านบางแค ได้แก่ เป็นผู้ไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีใครเลี้ยงดู ที่พบบ่อย คือ บางรายอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีญาติ ซึ่งแต่เดิมเคยทำงานหาเลี้ยงตัวเอง

หากประมาณอายุ 60 ปี ยังถือว่าช่วยเหลือตัวเองได้ แต่เมื่ออายุเลยมาจนถึง 70-80 ปี ก็เริ่มมีโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียน ทำให้รายได้ลดลง ประกอบอาชีพไม่ได้ ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และเมื่อไม่มีเรี่ยวแรงที่จะทำงาน รายได้ก็หายไป ทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัย จึงต้องเป็นคนเร่ร่อนและเหล่านี้ก็จะมาจบเส้นทางอยู่ที่บ้านบางแคแทบทั้งสิ้น

หากมองถึงกรณีที่ทำให้ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งนั้น พี่กบ บอกว่า หลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากตัวของผู้สูงอายุเอง บางรายเป็นผู้ที่มีอารมณ์โดดเดียว ขี้น้อยใจ หรือที่บางรายนั้นอาจต้องจากบ้านเกิดมาทำงานอยู่ในเมือง และขาดการติดต่อกับทางบ้านเป็นระยะเวลานาน ทำให้เมื่อแก่ตัวแล้วกลับไปบ้านลูกหลานจึงจำไม่ได้ เมื่อต้องอยู่กับคนอื่นทำให้เกิดปัญหา กลับไปอยู่กับญาติพี่น้องก็มีปัญหา

“สำหรับผู้สูงอายุไร้ญาติ และไม่มีที่พึ่งจริงๆ การเข้ามาอยู่ยังสถานสงเคราะห์ถือเป็นหนทางเดียวสำหรับความเป็นอยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิต โดยปกติแล้วผู้สูงอายุจะไม่ย้ายที่อยู่บ่อย เพราะบางคนอยากอยู่กับลูกๆ หลานๆ ซึ่งหากมองในส่วนของครอบครัว คิดว่าการดูแลผู้สูงอายุนั้นต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนในครอบครัวที่ต้องจัดการดูแล

“คนแก่บางรายมีลูก เมื่อลูกมีเมียลูกก็เชื่อเมียมากกว่าแม่ เมื่อทะเลาะกันลูกชายก็อึดอัด นี่ก็แม่นั่นก็เมีย...แต่ด้วยความเสียสละของผู้เป็นแม่จึงตัดสินใจให้ลูกได้อยู่อย่างสุขสบาย จึงเลือกที่จะเดินออกมาอยู่กับทางสถานสงเคราะห์ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุเพศหญิงมีมาก เพราะด้วยความที่เพศแม่เป็นเพศที่มีความเสียสละสูง อัตราส่วนของผู้สูงอายุที่มาอยู่ที่นี่ผู้หญิงจึงมีมากว่าผู้ชาย จากทั้งหมด 200 คนเป็นชายเพียงแค่ 50 นอกนั้นเป็นผู้หญิงทั้งหมด สังเกตได้ว่าผู้หญิงจะเป็นฝ่ายที่ยอมออกมาจากครอบครัวมากกว่า” พี่กบ อธิบาย
ผู้ร่วมงานบริจาคเงินทำบุญแก่ผู้จากไป
** “บ้านบางแค” ดูแลตั้งแต่อยู่จนจากไป
ในส่วนของการดูแลผู้สูงอายุนั้น ผอ.บ้านบางแค ผู้คลุกคลีกับวิถีชีวิตคนชราผู้ถูกทอดทิ้ง ยังอธิบายต่อไปอีกว่า ผู้สูงอายุที่เข้ามาอยู่จะได้ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการคลายเหงา อีกทั้งยังช่วยให้มีการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อาทิ การทำหัตถกรรมต่างๆ การรวมกลุ่มกันเพื่อเล่นคนตรีไทย เป็นต้น

“และเมื่อกล่าวถึงผู้สูงอายุโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็ย่อมตามมาเป็นของคู่กัน ซึ่งเมื่อเจ็บไข้ไม่สบายจะมีพยาบาล มีหมอคอยดูแล รักษา โดยทางบ้านบางแคจะให้การดูแลอย่างเต็มที่ และถึงวาระสุดท้ายของชีวิตเจ้าหน้าที่จะทำการติดต่อให้ญาติมารับศพกลับทำพิธีทางศาสนา”

พี่กบ กล่าวต่อไปถึงกรณีที่ไม่มีญาติมารับทางบ้านบางแคจะดำเนินการตามพิธีทุกขั้นตอนโดยการจัดพิธีสวดศพ 1 คืน จากนั้นก็จะบรรจุศพไว้ที่วัดเพื่อรอการเผาพร้อมกัน แต่สิ่งหนึ่งที่น่าหดหูใจคือ ในระหว่างที่ทำการติดต่อให้ญาติมารับศพผู้เสียชีวิตนั้น มีหลายรายที่ญาติปฏิเสธจะมารับศพ เหตุผลหนึ่งที่เจอคือ อ้างว่าอยู่ไกล ไม่มีเงินทำศพ หรือแม้กระทั่งไม่มีเวลา

“ซึ่งตรงนี้ทางบ้านบางแคก็จะจัดการให้ทุกอย่าง แต่หากมองในทางของสถาบันครอบครัวแล้วทำให้สงสัยว่าทำไมบรรดาญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตจึงไม่ยอมมารับศพทั้งๆ ที่เป็นผู้มีพระคุณ และเป็นคนภายในครอบครัวเดียวกัน บางรายไม่คิดที่จะมาร่วมงานใดๆ ถึงแม้เป็นทางบ้านบางแคจะจัดให้ก็ตาม”

** กระทั่ง “ตาย” ก็ไร้คนเหลียวแล
พี่กบตั้งข้อสังเกตว่า หากมองในฐานะผู้ปฏิบัติทำให้ต้องมองย้อนกลับไปว่า ชีวิตทั้งชีวิตของผู้สูงอายุเหล่านี้ เลี้ยงลูก เลี้ยงหลานมาตั้งแต่เล็กจนกระทั่งเติบโต ก็หวังที่จะฝากผีฝากไข้ แต่กลับเป็นลูกหลานเองที่ทอดทิ้งผู้มีพระคุณ หรือตอบแทนด้วยการไล่ออกจากบ้าน เพราะรำคาญที่จะต้องเอาใจใส่ ดูแล จึงอยากให้ลองคิดดูว่าขนาดตอนมีชีวิตลูกหลานยังทำถึงขนาดนี้ แล้วเมื่อพวกเขาจากไปก็คงไม่ต้องหวังที่ลูกหลาน ญาติพี่น้องจะมารับศพ ซึ่งแต่ละปีนั้นบ้านบางแคมีผู้เสียชีวิตกว่า 30 คน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นศพไร้ญาติทั้งสิ้น

“ปฏิกิริยาของญาติเมื่อทางเราโทร.ไปบอกว่าญาติผู้ใหญ่ของพวกเขาที่เราดูแลอยู่เสียชีวิตนั้น มีหลากหลายอารมณ์ คำตอบที่ทำให้เราถึงกับตกใจจากคำพูด ญาติบางรายบอกกับเราว่า อยู่มาตั้งนานแล้ว ตายไปก็ช่วยทำให้ด้วย... ไม่ต้องมาบอกหรอก...ไม่มีเวลา ไม่มีเงิน ไม่ว่าง ให้จัดการไปได้เลย ... บ้างรายก็เสียใจ แต่กลับไม่มาร่วมงาน แต่ละคำตอบที่เราได้รับนั้นทางเราไม่อยากคิดเลยว่ามาจากปากของบรรดาญาติๆ ของผู้ที่ล่วงลับ จริงๆ

ทางเราเองไม่ได้คาดหวังว่าญาติจะต้องมา ที่น่าเสียใจคือผู้เสียชีวิตบางรายไม่เคยได้รับความสุข ไม่ได้รับการดูแลใส่ใจจากลูกหลาน บางคนชีวิตทั้งชีวิต จนกระทั่งตายก็ยังไม่มีใครมาเหลียวแล ตายยังไม่มีลูกหลานมาเผา มาทำบุญให้ คนที่มาทำบุญให้เป็นใครก็ไม่รู้ซึ่งต่างก็ไม่ใช่ญาติ แต่ที่ต้องมาเพราะความสงสาร ทำให้ทุกวันนี้ผู้สูงอายุบางคนยังไม่รู้เลยว่าชีวิตนี้จะหาความสุขได้อย่างไร” ผอ.บ้านบางแค สะท้อนภาพอันน่าหดหู่
ยายน้อย - สุภา จองแค
** ครอบครัวที่จากไป อยู่ในใจเสมอมา
แต่ในทางกลับกัน ผู้สูงอายุหลายคนกลับเชื่อเหมือนกันว่าการได้มาอยู่ ณ บ้านบางแคนั้น เปรียบเสมือนการใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายอย่างมีความสุขที่สุดเหมือนอย่าง ยายน้อย-สุภา จองแค อายุ 64 ปี หนึ่งในสมาชิกของบ้านบางแค ที่กล่าวพร้อมใบหน้าแห่งความหวังว่า เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วที่มาอยู่บ้านบางแค ซึ่งตนนั้นเป็นคนจังหวัดแพร่แต่งงานแล้วแต่ไม่มีลูก และอยู่มาไม่นานสามีก็จากไป ประกอบกับตนเป็นโรคต้อหินทำให้การใช้ชีวิตตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากเป็นอย่างมาก เพราะอยู่คนเดียวมาตลอด ก็ได้เพื่อนบ้านที่คอยให้การช่วยเหลือบ้างเป็นครั้งคราว แต่เมื่อสายตามีปัญหาก็ไม่อยากจะรบกวนเพื่อนบ้าน อาจเป็นเหตุให้ทั้งตนและเพื่อนบ้านไม่มีความสุข จึงตัดสินใจมาอยู่ที่สถานสงเคราะห์แห่งนี้

“มาอยู่ที่นี่ ก็มาช่วยทำงานทุกอย่าง อีกทั้งยังได้รักษาดวงตาทำให้ตอนนี้การมองเห็นเริ่มดีขึ้น มาอยู่ที่นี่ทำให้สบายใจอย่างน้อยก็ยังได้มีเพื่อน ได้อยู่กับส่วนรวมทำให้ไม่เหงา ถ้าถามว่าทุกวันนี้คิดถึงบ้านหรือไม่นั้น ก็ต้องตอบว่าไม่มีบ้านให้คิดถึงแล้ว คนในครอบครัวก็เสียชิวิตทั้งหมด

อีกทั้งลูกหลานก็ไม่สนิทกับเรา อยู่ห่างกัน เหมือนอยู่ตัวคนเดียวไม่มีญาติ ตอนนี้ลูกหลานเขาคงมีฐานะดี อยู่อย่างสุขสบาย ก็อยากให้พวกเขามีความสุข แต่เขาคงไม่คิดถึงเรา หรือเขาคงไม่รู้จักเราด้วยซ้ำไป ในบางครั้งยอมรับว่าคิดถึงครอบครัวมากๆ แต่ทำอย่างไรได้เพราะเราอยู่คนเดียวมาจนชิน ฐานนะก็ยากจนจึงไม่อยากจะไปพึ่งใคร ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ดีอยู่แล้ว หวังว่าคงได้ตายอยู่ที่นี่ ชีวิตนี้จึงไม่อยากได้อะไรอีก” ยายน้อย กล่าว

เช่นกันกับ ยายเยา-พะเยาว์ แก้วปิ่นปักษ์ หญิงชราวัย 82 ปี เผยปูมหลังชีวิตที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดว่า ไม่ค่อยมีโอกาสได้อยู่บ้านที่เป็นหลักแหล่ง บางครั้งก็ไปอยู่บ้านหลานคนโน้นคนนี้ เพราะเป็นคนญาติเยอะ พี่น้องท้องเดียวกันมีถึง 8 คน แต่ตายหมดแล้วเหลือแค่ตนกับน้อง ชีวิตจึงเร่ร่อนตลอดเวลา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือตนไม่ได้ทำอาชีพอะไร ทำให้ไม่มีรายได้เมื่อไปอยู่บ้านหลานๆ เฉยๆ ก็ไม่ดี ลำบากใจเพราะตนไม่มีอะไรเลย ไม่อยากจะอยู่เป็นภาระของพวกเขา แต่จริงๆ แล้วพวกเขาก็ไม่ค่อยเต็มใจให้ตนอยู่เช่นกัน เจออย่างนี้บางครั้งก็เสียใจ จึงตัดสินใจมาอยู่ที่บ้านบางแค มาด้วยตัวเอง เพราะอยากตัดปัญหาไม่อยากให้ลูกหลานต้องเดือดร้อนเพราะตน ตอนนี้อยู่มากว่า 11 ปี ก็มีลูกหลานมาเยี่ยมบ้าง แต่ก็นานๆ ครั้ง

“อยู่นี่มีความสุข มีกิจกรรมอะไรเราก็ทำหมด ทำให้ไม่คิดถึงบ้านเลย ตอนนี้ชีวิตของยายขอฝากไว้กับบ้านบางแค ลูกหลานเขาคงไม่มาสนใจยายหรอก เขาก็มีหน้าที่ของเขา เราก็ทำหน้าที่ของเราอยู่อย่างนี้ต่อไป คงไม่คิดที่จะกลับไปเป็นภาระเขาอีก แต่ใจจริงๆ แล้วยังรักลูกหลานทุกคน แต่เมื่อไม่อยากอยู่ให้เป็นภาระใครก็เลือกที่จะอยู่เช่นนี้ดีกว่า” ยายเยาว์ พูดพร้อมทั้งน้ำตาที่ไหลผ่านแว่นออกมา

** ความจริงที่น่าเศร้า ของคนที่ไม่มีใครต้องการ
คิดถึงบ้านไหม? อยากกลับบ้านหรือเปล่า?
ไม่กี่คำถามที่เมื่อพูดคุยกับคุณตา คุณยาย และหลายคำตอบที่ได้กลับมาถูกเจือด้วยน้ำตา ชี้ถึงสิ่งหนึ่งที่อยู่ในใจผู้สูงอายุคืออารมณ์โหยหาความรัก ความใส่ใจของลูกหลาน ญาติพี่น้อง การที่หลายคนต้องเดินออกมาจากครอบครัวเพียงเพื่อเห็นว่าตัวเองเป็นตัวถ่วง อยู่ไปก็เป็นภาระ

แต่ความคิดของผู้สูงอายุเหล่านี้กลับตรงกันข้าม ซึ่งพี่กบ อธิบายให้ฟังว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่อยู่ที่นี่จะนึกถึงลูกหลานโดยตลอด แต่ไม่เคยได้รับความเหลียวแลจากลูกหลานแม้แต่น้อย ดูได้จากเมื่อมีผู้มาบริจาคสิ่งของ เมื่อพวกเขาเห็นเด็กวัยรุ่น หรือคนวัยหนุ่ม สาว บางครั้งทำให้คิดถึงลูกหลาน บ้างต้องหลบไปนั่งเก็บตัวเงียบ บ้างหนีไปร้องไห้เพราะความคิดถึง คิดไปว่าลูกหลานไม่มาเยี่ยมมีแต่คนอื่นมาเยี่ยม แต่ถึงเขาจะคิดถึงมากแค่ไหน ก็เป็นแค่การคิดถึงข้างเดียวโดยที่ทางญาติไม่รับรู้ ซึ่งญาติบางรายยังไม่กล้าเล่าให้ใครฟังเลยว่ามีญาติผู้ใหญ่อยู่บ้านบางแค

“ความจริงแล้วที่นี่เรามีวันคืนสู่เหย้า ทุกคนที่มาอยู่ที่นี่อยากกลับบ้านทั้งนั้น เพราะมันน่าจะมีความอบอุ่นมากกว่า ซึ่งก็แล้วแต่กรณี เราจะพยายามผลักดันให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านทุกคน แต่ถึงอย่างไรก็ต้องอยู่ที่ปลายทางด้วยว่าเขาต้องการจะรับกลับหรือไม่ ในรายที่มีญาติเมื่อเราติดต่อกลับไปว่าจะส่งตัวคืนให้กลับบ้าน ก็แสดงทีท่าว่าไม่อยากได้กลับ อ้างเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อไม่ให้กลับมา ในส่วนนี้เราก็ไม่สามารถบอกกับผู้สูงอายุได้ เพราะจะกระทบต่อสภาพจิตใจ ในส่วนผู้สูงอายุเองก็รับรู้ได้ว่าถึงอยากจะกลับบ้านใจจะขาด แต่ลูกหลานก็คงไม่รับ ก็เลยตัดใจไม่กลับ”

** ดูแลคนข้างหลัง สิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจ
พี่กบได้ทิ้งท้ายอย่างน่าฟังว่า ครอบครัวเป็นสถาบันที่เล็กที่สุด แต่มีความสำคัญที่สุดเช่นกัน และเนื่องจากปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ ผู้คนต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น ทำให้ความเป็นครอบครัวลดน้อยลง ต้องทำมาหากิน ทำให้เด็กกับผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ปัญหานี้ทุกคนต้องหันกลับมาใส่ใจ ยิ่งปล่อยไว้จะยิ่งหนักขึ้น

“คุณมีพ่อ มีแม่คนเดียว เราควรดูท่านให้ดีที่สุด เพราะกว่าที่เราจะโตมาใครเป็นคนดูแลเรา พ่อแม่ทุกคนมีความหวังอย่างเดียวกันคือหวังในตัวของลูก อยากให้ลูกอยู่ดีกินดี ทำงานดีๆ เป็นความหวังของพ่อแม่ ยิ่งช่วงนี้ใกล้ถึงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันดีๆ อย่างวันปีใหม่ไทย วันครอบครัว และวันผู้สูงอายุ ลองหันกลับไปมองคนที่รออยู่ข้างหลังบ้าง ตอนนี้สังคมไทยมักจะลืมในจุดนี้

ยังแอบหวังไว้เลยว่า ต่อไปบ้านบางแค คงไม่มีใครมาอยู่อีกแล้ว ปริมาณผู้สูงอายุที่เข้ามาต้องลดลง เพราะครอบครัวต่างก็มีความสุขอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา แต่จะให้เป็นเช่นนั้นก็คงเป็นไปได้ยากมาก”
ผอ.บ้านบางแค กล่าว

...ปีต่อๆ ไปการฌาปนกิจศพผู้สูงอายุไร้ญาติบ้านบางแคก็คงต้องดำเนินต่อไป แต่จำนวนร่างอันไร้วิญญาณที่จำต้องละสังขารไปจากร่างที่ถูกไฟกลืนหายไปอย่างเดียวดายไร้ญาติ จะลดน้อยหรือเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับว่า หัวจิตหัวใจของผู้ที่ละเลย นำเจ้าของร่างเหล่านี้ครั้งยังมีชีวิต มาทิ้งไว้ในบ้านพักคนชรา จะสำนึกสำเหนียกอันใดบ้างหรือไม่ ว่าเขาได้ปฏิเสธแม้กระทั่งโอกาสสุดท้ายในชีวิต ที่จะเอ่ยคำร่ำลาและกล่าวคำขอบคุณ ต่อร่างที่เคยมีชีวิต เคยอุ้มชู และเคยผูกพันกันทางสายเลือด ก่อนที่คนเหล่านี้ จะเหลือเพียงเถ้ากระดูกในห่อผ้า...

เรื่องโดย พงศ์เมธ ล่องเซ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น