กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจตัวอย่างแมลงทอดพบสารฮีสตามีน ต้นเหตุของการเกิดอาการแพ้ทั้งคลื่นไส้และอาเจียน เตือนประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้หลีกเลี่ยงการกินแมลงทอดที่ไม่สะอาด เพราะอาจทำให้อาการแพ้กำเริบอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีพบผู้ป่วยในหลายจังหวัดเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศรีษะ และบางรายมีอาการตาบวม ปากบวม เนื่องจากรับประทานแมลงทอด เมื่อเดือนมกราคม 2551 ที่ผ่านมานั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ทำการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างแมลงทอดดังกล่าวพบว่า มี สารฮีสตามีน (Histamine) ในบางตัวอย่างซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอาการของผู้ป่วย เนื่องจากสารฮีสตามีนเป็นสารที่พบในอาหาร ซึ่งจะพบในปริมาณมากขึ้นในอาหารประเภทโปรตีนที่เริ่มมีการเน่าเสีย และอาหารที่ไม่สะอาด โดยเกิดจากการที่แบคทีเรียบางชนิดสามารถเปลี่ยนฮีสติดีน (Histidine) ซึ่งเป็นกรดอมิโนชนิดหนึ่ง ไปเป็นฮีสตามีน
เมื่อรับประทานแมลงทอดที่ไม่สะอาดและมีฮีสตามีนสูงจะทำให้ไปเพิ่มฮีสตามีนในร่างกายส่งผลให้เกิดอาการทั้งทางด้านผิวหนัง ระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ เช่น ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดง เป็นลมพิษ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และหอบหืด เป็นต้น ซึ่งสารฮีสตามีนดังกล่าวอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติตั้งแต่เล็กน้อยจนเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และปริมาณอาหารที่ได้รับรวมทั้งช่วงเวลาที่ได้รับด้วย
จากข้อมูลที่ผ่านมาเกี่ยวกับการรับประทานแมลงทอดตั้งแต่ปี 2547 พบว่ามีผู้ป่วยจากการรับประทานแมลงทอดกว่า 200 ราย และเสียชีวิต 1 ราย โดยจะมีอาการทั้งทางด้านผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ ซึ่งจากการตรวจวิเคราะห์พบว่า หนอนไหม ดักแด้ไหมและตัวอ่อนของต่อมีสารฮีสตามีนสูง และจากสอบสวนโรคพบว่าแม่ค้าจะซื้อแมลงจากตลาดนำมาล้าง ต้ม ปรุงรส และบรรจุถุงแล้ว มัดเป็นพวงเพื่อขายส่งให้พ่อค้าเร่นำไปจำหน่ายตามหมู่บ้าน ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 วันในการขายส่งให้กับ พ่อค้าเร่ ทำให้แมลงทอดดังกล่าวอาจเกิดเน่าเสียหรือไม่สะอาดได้
ดังนั้น จึงขอเตือนประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแมลงทอดที่ไม่สะอาด เพราะอาจทำให้ได้รับสารฮีสตามีนปริมาณมากส่งผลให้อาการแพ้กำเริบและหากรับประทานมากอาจทำให้เสียชีวิตได้
สำหรับประชาชนทั่วไปหากจะรับประทานแมลงทอด ควรสังเกตว่าแมลงทอดดังกล่าวเป็นแมลงที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปและมีการนำมารับประทานหรือไม่ และควรเป็นแมลงที่จับมาขณะยังมีชีวิตแล้วนำมาปรุงเป็นอาหารทันที ส่วนปีก ขน ขาหรือหนามแข็งของแมลง ควรจะเด็ดทิ้งก่อนรับประทานเพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ประชาชนควรให้ความสำคัญในเรื่องของน้ำมันที่ใช้ทอดแมลงด้วย เนื่องจากน้ำมันที่ใช้ทอดแมลงหากพ่อค้าใช้น้ำมันทอดซ้ำโดยไม่มีการเปลี่ยนน้ำมัน ก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นกัน เพราะการใช้น้ำมันที่ทอดหลายๆครั้งทำให้เกิดสารประกอบโพลาร์ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ จึงขอให้ประชาชนควรสังเกตน้ำมันที่ใช้ทอดว่ามีกลิ่นเหม็นหืน เหนียวสีดำคล้ำ ฟองมาก เหม็นไหม้ และเวลาทอดมีควันขึ้นมากแสดงว่าน้ำมันใช้มานานทำให้น้ำมันเกิดควันที่อุณหภูมิต่ำลง อาหารอมน้ำมันและหลังการบริโภคเกิดการระคายคอ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการพัฒนาศักยภาพการตรวจสอบและเฝ้าระวังน้ำมันที่ใช้ทอดอาหารมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์ ได้พัฒนาชุดทดสอบน้ำมันทอดซ้ำอย่างง่าย ใช้เวลาในการตรวจสอบเพียง 3-4 นาทีเท่านั้น เพื่อให้ชุมชน หน่วยงานท้องถิ่นและผู้ประกอบการนำไปใช้ตรวจระดับสารโพลาร์ในน้ำมันทอดอาหาร สำหรับผู้ที่สนใจชุดทดสอบดังกล่าวสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.0-2589-9850-8 ต่อ 98450