xs
xsm
sm
md
lg

“ไชยา” สั่งเตรียมพร้อมรับ 7 วันอันตราย เพิ่มหมอ-พยาบาล 2 เท่าตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไชยา” ห่วงกินเหล้า เมา เพลีย อันตรายเกิดอุบัติเหตุสงกรานต์ พร้อมให้เงินรางวัลทีมกู้ชีพฉุกเฉิน ทุกภาค ภาคละ 3 รางวัล เผยแผนรับมือ 7 วัน อันตราย เพิ่มกำลังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล 2 เท่าตัว ในโรงพยาบาลกว่า 800 แห่ง ระดมพลังอสม. กว่า 8 แสนคน เคาะประตูบ้านเตือนอุบัติเหตุ คุมเข้มขายเหล้า ในช่วงเวลาห้ามขาย และปั๊มน้ำมัน เตือนมีสติ วินัย จิตสำนึก

วันนี้ (2 เม.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.เสรี หงษ์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แถลงข่าว “การเตรียมความพร้อมรับอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2551” ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้งานอุบัติเหตุจราจรเป็นวาระแห่งชาติ มีมาตรการเน้นหนักตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน 2551

นายไชยา กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาอันดับ 1 ใน 3 ของปัญหาสาธารณสุข แต่ละปีพบมีผู้เสียชีวิตกว่า 13,000 คน บาดเจ็บอีกเกือบล้านคน เฉลี่ยชั่วโมงละกว่า 100 คน และมีผู้พิการเพิ่มขึ้นปีละ 16,000 คน สร้างความสูญเสียเศรษฐกิจประเทศอย่างใหญ่หลวงปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญ อัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจะสูงกว่าช่วงปกติประมาณ 2 เท่าตัว คาดว่า จะมีผู้พิการเพิ่มในช่วง 7 วันอันตรายนี้เกือบ 400 คน โดยช่วงสงกรานต์ในปีที่ผ่านมา พบผู้บาดเจ็บรุนแรงที่ขี่มอเตอร์ไซค์มีสัดส่วนดื่มสุราสูงที่สุดร้อยละ 46 และยังพบว่า 1 ใน 6 ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่บาดเจ็บรุนแรงจากการขับขี่รถจักรยานยนต์มีการดื่มสุราร่วมด้วย

นายไชยา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ สธ.เน้นหนัก 3 มาตรการ คือ การป้องกันในระดับหมู่บ้าน การควบคุมการขายเหล้า และการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ โดยได้สั่งการให้โรงพยาบาลกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มกำลังแพทย์เฉพาะทาง พยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุประจำห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด สำรองคลังเลือดอีก 2 เท่าตัว ให้ทุกแห่งสำรองเตียงร้อยละ 30 เพื่อรับมืออุบัติเหตุตลอด 24 ชั่วโมง และได้เตรียมทีมกู้ชีพฉุกเฉินกว่า 4,000 ทีม พร้อมรถฉุกเฉิน เครื่องมือช่วยชีวิต ให้พร้อมออกไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บรวมทั้งการป่วยฉุกเฉินอื่นๆ ด้วย โดยเปิดสายรับแจ้งเหตุทาง 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง หลังวางสาย ทีมกู้ชีพจะเดินทางไปถึงจุดเกิดเหตุภายใน 10-15 นาที

“ฝากผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาให้ใช้ความระมัดระวัง ไม่ควรที่จะดื่มเหล้าแล้วขับรถ หรือแม้แต่เพลีย ง่วง ซึ่งจะทำให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่าปกติ 2-3 เท่าโดยเฉพาะห่วงมากในวันที่ประชาชนทยอยเดินทางกลับซึ่งเป็นช่วงวันท้ายๆ ของเทศกาล” นายไชยา กล่าว

นายไชยา กล่าวด้วยว่า ในปีนี้เป็นปีแรกที่กฎหมายการแพทย์ฉุกเฉินประกาศใช้ ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2551 เมื่อประชาชนพบเห็นผู้ บาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือป่วยฉุกเฉินให้แจ้ง 1669 เพื่อรับการช่วยเหลือจากมืออาชีพและอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมแล้ว เพื่อความปลอดภัยของผู้บาดเจ็บ โรงพยาบาลทุกแห่งจะดูแลผู้ป่วยเต็มที่ เต็มกำลัง และจะมีรางวัลเป็นเงินสด สำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุทุกภาค ภาคละ 3 รางวัล ซึ่งยังไม่ระบุว่าเป็นจำนวนเงิน เท่าใด แต่จะติดตามดูความสามารถ อย่างไรก็ตาม หากไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้นเลยเป็นเรื่องดีที่สุด

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ขอให้ยึดหลัก 3 ข้อ คือ มีสติ มีวินัย มีสำนึก ทั้งนี้ ปัญหาส่วนใหญ่มักเกิดบนถนนสายรองในอำเภอและหมู่บ้าน ในปีนี้ได้ขอความร่วมมืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 8 แสนคนทั่วประเทศ เคาะประตูบ้านทุกหลัง รณรงค์เตือนสติชาวบ้านดื่มแล้วต้องไม่ขับ และให้อสม.ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีในการป้องกันอุบัติเหตุตามที่รัฐบาลกำหนด คือ 3 ม 2 ข 1 ร ได้แก่ เมาไม่ขับ สวมหมวกกันน็อกทุกครั้ง เมื่อขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ พกใบขับขี่ คาดเข็มขัดนิรภัยและไม่ขับรถเร็ว โดยเฉพาะรณรงค์ให้ประชาชนที่ใช้รถจักรยานยนต์ในครัวเรือนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อสม.สวมหมวกกันน็อคเมื่อขับขี่หรือโดยสาร และให้อสม.ช่วยดูแลผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉินในเบื้องต้น เช่น การดามกระดูก การห้ามเลือด ระหว่างที่รอทีมกู้ชีพฉุกเฉินเดินทางไปถึงเพื่อป้องกันความพิการ

นายชวรัตน์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังให้ อสม.มีส่วนช่วยในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ลดการดื่มเหล้าฉลองสงกรานต์ ป้องกันปัญหาอุบัติเหตุ ห้ามดื่มสุราแล้วขับขี่รถจักรยานยนต์ ช่วยกันตักเตือนและเข้มงวดไม่ให้ขายเหล้าให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือบุคคลที่อยู่ในอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ ซึ่งสงกรานต์ปีที่ผ่านมาพบมีการกระทำผิดขายสุราในเวลาห้ามขายร้อยละ 26 ทั้งนี้ สถานที่ห้ามขายสุราตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ได้แก่ วัดหรือที่สถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา โรงพยาบาล ร้านขายยา สถานที่ราชการ หอพัก ปั๊มน้ำมันและร้านบริเวณปั๊มน้ำมัน สวนสาธารณะของทางราชการ โดยช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ขายสุราได้ คือ 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น.

“นอกจากนี้ ในช่วงสงกรานต์ อาจจะมีความเสี่ยงต่อโรคอาหารเป็นพิษ การแพร่กระจายของเชื้อโรคในวงกว้าง กรมอนามัยจึงได้จัดโครงการ “ส้วมสะอาด อาหารปลอดภัย ประชามั่นใจ รับวันสงกรานต์” เน้นกิจกรรมรณรงค์ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ รณรงค์ล้างส้วมพร้อมกัน รับวันสงกรานต์ เน้นการกวดขันมาตรการอาหารปลอดภัย เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.2551 โดยจะมีการเปิดโครงการที่สถานีขนส่งสายเหนือ เพื่อส่งพี่น้องประชานเดินทางกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย” นายชวรัตน์ กล่าว

ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้เสนอโครงการ “สาธารณสุขห่วงใย ประชามั่นใจ ปลอดโรค ปลอดภัย เทศกาลสงกรานต์” เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ โดยมีการจัดสัปดาห์ “ง่วงไม่ขับ ลดอุบัติเหตุ 10-17 เม.ย.” ตามจังหวัดต่างๆ ถวายเป็นพระราชกุศล สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 วันของการสิ้นพระชนม์ในวันที่ 10 เม.ย.กวดขันเรื่องของจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ การขับขี่รถจักรยานยนต์

“ในปีที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ที่ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากเมาสุราขณะขับขี่รถจักรยานยนต์สูงถึง 64% นอกจากนี้ ได้เตรียมความพร้อมของทีมช่วยเหลือฉุกเฉิน เพิ่มกำลังปฏิบัติ ณ จุดเสี่ยง พัฒนาระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ เตรียมเวชภัณฑ์ โลหิต และจัดให้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำงานร่วมกับแพทย์เวรในห้องฉุกเฉินของ รพ.เพื่อลดอุบัติเหตุและอัตราการเสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จากข้อมูลด้านอุบัติเหตุของศูนย์นเรนทร ในช่วงสงกรานต์ ปี 2550 พบว่า มีผู้เสียชีวิตคาที่ในที่เกิดเหตุสูงถึง 58 % เสียชีวิตขณะนำส่ง รพ.9% เสียชีวิตในห้องฉุกเฉิน 11% เสียชีวิตขณะส่งต่อ 2% เสียชีวิตใน 24 ชม.แรกหลังเกิดเหตุ 16% และเสียชีวิตหลังจาก 24 ชม.- 30 วัน 4%”รองปลัด สธ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น