xs
xsm
sm
md
lg

กทม.หวั่นแล้งทำนาข้าวสูญ เกษตรกรลงนาเกินปริมาณน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.ห่วงภัยแล้ง หากไม่มีฝนตกใน 1-2 เดือนนี้ คาดทำนาข้าวสูญ หลังกระทรวงเกษตรฯ ประกาศพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังฝั่งตะวันออก กทม.ปลูกได้ไม่เกิน 6.9 หมื่นไร่ แต่พบชาวนาปลูกไปแล้ว 9.3 หมื่นไร่ รับข้าวราคาดี 

นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รักษาการผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกทม.ถึงการเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้งและพายุฝนช่วงหน้าร้อน จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังช่วงฤดูแล้งนี้ ว่า ทางฝั่งตะวันออกของ กทม.4 เขต คือ เขตมีนบุรี หนองจอก คลองสามวา และ ลาดกระบัง ได้มีการกำหนดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ได้ไม่เกิน 6.9 หมื่นไร่ แต่จากการสำรวจพบว่ามีเกษตรกรปลูกข้าวไปแล้วกว่า 9.3 หมื่นไร่ เพราะข้าวขณะนี้มีราคาดีจึงมีการปลูกมากขึ้น และหากรวมบ่อปลาและพื้นที่ปศุสัตว์แล้วพื้นที่ทางด้านตะวันออกของ กทม.จะมีพื้นที่การเกษตรรวม 1.5 แสนไร่ จากเกษตรกร 1.5 หมื่นคน ซึ่งหากช่วง 1-2 เดือนนี้ไม่มีฝนตกลงมา อาจทำให้ข้าวที่ปลูกเกิดความเสียหาย

ทั้งนี้ เกษตรกรต้องพร้อมรับความเสี่ยงในครั้งนี้หากน้ำไม่เพียงพอ สำหรับปริมาณน้ำที่กรมชลประทาน จัดสรรให้จากเขื่นอป่าสักชลสิทธิ์ ผ่านคลอง 13 ไปยังพื้นที่ฝั่งตะวันออก อยู่ที่ 115,000 ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวได้รวมน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภค และน้ำการเกษตรเข้าด้วยกัน เนื่องจากบางพื้นที่ไม่มีน้ำประปาใช้ ทั้งนี้ กทม.ได้เสนอขอรับการจัดสรรน้ำ จากกรมชลประทานสูงถึงวันละ 1 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน แต่กรมชลไม่สามารถจัดสรรน้ำในจำนวนดังกล่าวได้ โดยปริมาณน้ำในเขื่อนขณะนี้อยู่ที่ 353 ล้าน ลบ.ม.หรือเป็นร้อยละ 36 ของความจุเขื่อน ส่วนในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกทม.จะมีการปิดประตูระบายน้ำเป็นบางช่วงเวลา เพื่อป้องกันน้ำเค็มเข้ารุกล้ำพื้นที่การเกษตรใน 18 เขตฝั่งตะวันตก ที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่างๆ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการเดินเรือ ทั้งนี้ได้สั่งการให้สำนักระบายน้ำประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบแล้ว

“อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนมกราคม -31 มีนาคมที่ผ่านมา กทม.ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้วในบางพื้นที่แล้วคือพื้นที่ในเขตหนองจอก ที่มีถนนทรุดตัว 2 จุดรวมแล้วเป็นระยะทางกว่า 60 เมตร สาเหตุเนื่องจากน้ำนอนคลองลดลง ส่งผลกระทบต่อผิวจราจรที่อยู่ติดคลองทำให้เกิดการทรุดดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว
ส่วนงบการช่วยเหลือภัยแล้งจะเอาความเสียหายของเกษตรกรเป็นตัวตั้ง กทม.จะประสานงานทุกหน่วยให้มาช่วยแก้ไข ซึ่งหากฝนไม่ตกในช่วงเดือนเมษายน จะทำให้ภาวะภัยแล้งรุนแรงกว่าที่คาดไว้ รวมถึงได้สั่งการให้สำนักอนามัย ทำการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนดูแลสุขอนามัย อาหารการกิน เพื่อป้องกันโรคอุจจาระร่วง และขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองใส่ใจอาหารของเด็กๆ เป็นพิเศษเนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม" นายวัลลภ กล่าว

นายวัลลภ กล่าวด้วยว่า ในส่วนปัญหาเรื่องป้ายโฆษณาที่ผิดกฏหมายและอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน เมื่อเกิดพายุลมแรง ซึ่งมีจำนวน 304 ป้าย จึงได้สั่งการให้ทุกเขตที่มีป้ายเร่งรื้อถอน ก่อนที่จะก่อให้เกิดอันตราย ทั้งนี้ ในเขตลาดกระบังได้มีป้ายโฆษณามากถึง 35 ป้าย โดยที่ 30 ป้ายได้จัดหาผู้รับเหมาเข้ารื้อถอนแล้ว แต่อีก 5 ป้ายอยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับเหมา ซึ่งมีเอกชนพยายามที่จะขอร้องไม่ให้ กทม.รื้อถอน แต่อย่างไรก็ตาม ต้องดำเนินการตามกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น