xs
xsm
sm
md
lg

ผลตรวจ ม.รินทร์ทอง อยู่ได้แต่เสี่ยงสูง เตือนบทเรียนก่อนซื้อบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยผลตรวจ "หมู่บ้านรินทร์ทอง" ลำลูกกา ทรุดตัวกว่า 500 หลัง ยังคงใช้อยู่อาศัยได้ แต่จะมีปัญหาน้ำท่วม เพราะพื้นดิน-พื้นถนน ทรุดตัว ต่ำกว่าตัวบ้าน ใต้ถุนกลายเป็นโพรง-มีน้ำขัง ดึงกำแพงด้านหน้าและด้านข้างของลานจอดรถ ยุบตัวลงเกือบ 1 เมตร แนะแยกซ่อมโดยลงเข็มหน้าบ้าน ห้ามถมดินเพิ่ม เพราะจะทำให้ทรุดหนักลงอีก พร้อมเตือนระวังเด็กพลัดตกหลุม ชี้ บทเรียนเตือนใจ ผู้ประกอบการ-วิศวกร-ผู้ซื้อ ก่อนตัดสินใจ ควรตรวจสอบข้อมูลที่ดินย้อนหลัง

ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าหมวดวิชาวิศวกรรมปฐพี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบหมู่บ้านรินทร์ทอง ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จำนวนกว่า 500 หลังคาเรือน ซึ่งมีปัญหาดินทรุดเกือบครึ่งโครงการ โดยผลการตรวจสอบพบว่า บ้านส่วนใหญ่ซึ่งเป็นทาวน์เฮาส์ ยังคงใช้อยู่อาศัยได้ แต่จะมีปัญหาน้ำท่วม เพราะพื้นดินและพื้นถนนทรุดตัว ต่ำกว่าตัวบ้าน จนใต้ถุนบ้านกลายเป็นโพรงและมีน้ำขัง อีกทั้งยังดึงกำแพงด้านหน้าและด้านข้างของลานจอดรถหน้าให้ยุบตัวลงด้วยเกือบ 1 เมตร

ทั้งนี้ หากจะซ่อมแซม ควรแยกซ่อม ก็ควรลงเสาเข็มลานจอดรถหน้าบ้าน โดยแยกโครงสร้างออกจากตัวบ้าน และควรระวังเด็กๆ จะตกลงไปในพื้นดินที่ทรุดตัวด้วย ส่วนการถมดินจะถือว่าเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้ดินเดิมทรุดลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวถือเป็นสิ่งเตือนใจทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ประกอบการบ้านจัดสรร ซึ่งซื้อที่ดินมาปลูกสร้างโครงการ ควรตรวจสอบประวัติว่าเคยเป็นบ่อที่ขุดดินไปขายหรือไม่ ซึ่งในย่านปทุมธานี พบว่ามีบ่อดินที่มีความลึก 10-15 เมตร อยู่จำนวนมาก หากถมดินเพื่อทำบ้านจัดสรรจะทำให้ดินอ่อนและยุบในเวลาต่อมา ซึ่งรุนแรงกว่าการยุบตัวของดินตามธรรมชาติ

ส่วนวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้าง ก็ควรสำรวจดินให้ละเอียดว่าเป็นดินอ่อนหรือไม่ หากเป็นการยุบตัวตามธรรมชาติ ก็ยังถือว่าไม่รุนแรงเท่ากับการถมบ่อลึกเพื่อสร้างบ้านจัดสรร เมื่อวิศวกรรู้แล้ว ก็ควรหาวิธีแก้ตามแนวทางวิศวกรรม ซึ่งสามารถแก้ไขได้ เช่น กรณีการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่หนองงูเห่า ก็เป็นการสูบน้ำออก แล้วฉีดซีเมนส์บนหน้าดิน แต่ก็มีต้นทุนที่สูงมาก

สุดท้ายคือผู้ซื้อบ้าน ควรจะตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังของที่ดินว่าเคยเป็นบ่อลึกหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้เทคโนโลยีของกูเกิลเอิร์ท หรือแผนที่ดิจิตอลบนอินเทอร์เน็ตตรวจสอบย้อนหลังได้นับสิบปี โดยให้ระวังพื้นที่เคยเป็นบ่อดินขุด เนื่องจากหน้าดินจะอ่อนตัวรุนแรง เช่นเดียวกับหมู่บ้านรินทร์ทอง

น.อ.บุญส่ง จุ้ยกล่อม เจ้าของบ้านเลขที่ 59/210 กล่าวว่า คนที่อาศัยในพื้นที่ส่วนใหญ่มีรายได้ระดับกลาง จึงไม่มีรายได้มากพอที่จะย้ายไปซื้อหลังใหม่ จึงต้องทนอยู่ โดยราคาบ้านโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 500,000- 650,000 บาทต่อหลัง ทั้งนี้หมู่บ้านดังกล่าวมีอายุราว 13-14 ปี เริ่มทรุดตัวหลังเข้าอยู่เพียง 5 ปี โดยผู้ก่อสร้างโครงการ คือ บริษัท ลลิล แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด ซึ่งหลังจากดินทรุดตัวถึง 3 ซอย จากทั้งหมด 7 ซอย ผู้ก่อสร้างไม่เคยมาดูแลเลย

ขณะที่นายวราวุธ ชวันกุล เจ้าของบ้านอีกหลัง กล่าวว่า ตนเป็นคนต่างถิ่นเข้ามาซื้อบ้านโดยไม่รู้ว่า มีการขุดดินไปถมโครงการในเฟสแรกซึ่งอยู่ด้านหน้าโครงการ แต่พอยอดขายดี ผู้ประกอบการ ก็ถมดินเพื่อก่อสร้างในเฟสที่ 2 ปัญหาที่พบหลังดินทรุด คือ บ่อส้วมใต้ถุนบ้านแตก ไม่สามารถซ่อมได้ ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเน่าไปทั้งหมู่บ้าน ส่วนหน้าฝน ก็จะมีปัญหาน้ำท่วม โดยปีที่ผ่านมา ท่วมถึงเอว จนต้องใช้เรือสัญจร ส่วนตัวบ้าน ก็ร้าวทุกหลัง มากน้อยต่างกัน บางบ้านซ่อมแซมด้วยการถมหน้าบ้าน ดินก็ทรุดลงทุกปี จนหน้าลาดเอียงถึง 30 องศา และมีแนวโน้มว่าจะไม่หยุด ทั้งนี้ชาวบ้านทนทุกข์มาร่วม 10 ปี โดยไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร ล่าสุดสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ลงพื้นที่มาดูแล้ว โดยแนะนำให้นำเอกสารไปร้องเรียนที่ สคบ.
กำลังโหลดความคิดเห็น