มูลนิธิกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย เผยสถิติสุขภาพของกลุ่มหญิงวัยหมดประจำเดือน 5 ปีแรกสูญเสียมวลกระดูกมากที่สุด 1 ใน 3 เสี่ยงกระดูกพรุน หัก แพทย์แนะกินแคลเซียม เสริมวิตามินดี
รศ.นพ.ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมูลนิธิกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยอย่างมาก เนื่องจากต้องทนทุกข์ทรมานจากผลพวงของกระดูกสะโพกหัก การเดินช้าลง และบั่นทอนสุขภาพจิตตลอดจนการเข้าสังคมอีกด้วย
“ผู้ป่วยทั่วไปเข้าใจถึงความสำคัญของแคลเซียม แต่อาจจะละเลยความสำคัญของวิตามินดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมและช่วยสร้างกระดูกให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเปราะ การหักของกระดูก ซึ่งแหล่งสำคัญของวิตามินดีคือ แสงแดดรวมทั้งไขมันและน้ำมันจากปลา”
สำหรับการรับประทานยาและวิตามินดีเสริม เป็นการลดและชะลออัตราเสื่อมของกระดูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มหญิงวัยหมดประจำเดือน ทั้งนี้ ผู้หญิงวัยนี้จะต้องเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกควบคู่กันไปด้วย เพราะการสูญเสียมวลกระดูกในกลุ่มวัยหมดประจำเดือนในช่วง 5 ปีแรกจะมากถึง 1 ใน 3 ของมวลกระดูกที่ร่างกายสูญเสียตลอดช่วงชีวิต
“การสูญเสียมวลกระดูกที่เกิดจากภาวะหมดประจำเดือนเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคกระดูกพรุนและกระดูกหัก ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการกระดูกผิดรูปร่าง ถึงขั้นพิการได้ โดยจากการศึกษาหลายแห่งพบว่า 1 ใน 5 ของผู้หญิงที่เกิดอาการกระดูกหัดนั้นอาจเสียชีวิตภายใน 1 ปี”รศ.นพ.ฉัตรเลิศ กล่าว