บอร์ดบริหาร สธ.ห่วง “ไชยา” ผลาญงบ หลังผุดไอเดียบรรเจิดเสนองบ 40 ล้าน ทำประกันชีวิตให้ข้าราชการ สธ.3 จังหวัดชายแดนใต้ ตายได้รายละล้าน สั่งศึกษารายละเอียดบริษัทประกันของรัฐ เกรงสิ้นเปลื้องงบได้ไม่คุ้มเสีย เหตุข้าราชการมีงบประมาณ ชดเชยให้อยู่แล้วตามระเบียบ ก.พ.ชี้ ปีที่ผ่านมาตายเพียง 1-2 รายเท่านั้น
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สธ.ได้ปรารภในที่ประชุมผู้บริหาร สธ.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ว่า มีความเป็นห่วงความปลอดภัยของข้าราชการในสังกัด สธ.ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีปัญหาความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานในพื้นที่ จึงต้องการให้ สธ.ทำประกันชีวิต ให้แก่ ข้าราชการสังกัด สธ.ทุกคน อาทิ แพทย์ พยาบาล ใน วงเงิน 40 ล้านบาท หากใครเสียชีวิตจะได้รับเงินประกัน 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม อาจจะใช้วงเงินน้อยกว่าที่ตั้งไว้ เพราะบางรายอาจมีการประกันส่วนตัวอยู่แล้ว
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัด สธ.ในฐานะที่ดูแลพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ.ได้มอบหมายให้ พญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัด สธ.ด้านบริหาร เร่งศึกษาการทำประกันชีวิตกับบริษัทประกัน เช่น จำนวนข้าราชการ สธ.ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รายละเอียดของกรมธรรม์ ว่า มีเงื่อนไขการจ่ายสินไหมทดแทนอย่างไร โดย สธ.ได้ใช้งบประมาณจากสำนักปลัด สธ.จำนวน 20 ล้านบาท และงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อีก 20 ล้านบาท โดย นายไชยา ได้กำชับว่า ให้เลือกทำประกันชีวิตจากบริษัทประกันของรัฐเท่านั้น ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ผู้ตรวจราชการเขต 18, 19 จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา สตูล กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2547 ที่เกิดความไม่สงบในพื้นที่ 3 ชายแดนภาคใต้ มีข้าราชการสังกัด สธ.เสียชีวิต จากเหตุการณ์ความไม่สงบ 12 ราย และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข เสียชีวิต 38 ราย โดยที่ผ่านมา ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบจะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลรายละ 5 แสนบาท ส่วนกองทุนอื่นนั้น ขณะนี้มีการรวบรวมเงินเป็นกองทุนเพื่อชดเชยให้แก่ครอบครัวของผู้สูญเสียโดยเฉพาะ โดยมีการตั้งกองทุนตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งมีเงินกองทุนอยู่ 6 ล้านบาท
“ความปลอดภัย ขวัญกำลังใจของข้าราชการในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นหน้าที่ของกระทรวงต้องดูแลอยู่แล้ว โดยแนวทางการทำประกันชีวิตน่าจะเป็นการสร้างหลักประกันให้กับคนทำงานในพื้นที่เสี่ยงได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจของผู้บริหารเพื่อคิดให้รอบด้านถึงความคุ้มในการลงทุน”นพ.ณรงค์ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งในที่ประชุมแจ้งว่า มีความเป็นห่วงว่าการทำประกันชีวิตดังกล่าวจะสิ้นเปลืองงบประมาณมากเกินไป เนื่องจาก ปกติหากข้าราชการประสบอุบัติเหตุ จนเสียชีวิต หรือพิการ ในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ จะได้รับการชดเชยตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และหากเป็นข้าราชการในสังกัด สธ.จะได้รับการชดเชยเพิ่มเติมจาก สปสช. และยิ่งในกรณีที่เสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ จะได้รับเงินชดเชย 4 แสนบาท ดังนั้น หาก สธ.จะทำประกันชีวิตถึง 40 ล้านบาท ถือว่าไม่คุ้ม เพราะในรอบปีที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ สธ. เสียชีวิตเพียง 2-3 ราย เท่านั้น หรือ หากต้องการทำประกันชีวิตให้ข้าราชการจริง ก็ไม่ควรใช้งบประมาณถึง 40 ล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทประกันภัยที่เป็นของรัฐ รัฐจะมีสัดส่วนการถือหุ้นเพียง 51% ตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ถือว่าเป็นของรัฐอย่างแท้จริง