xs
xsm
sm
md
lg

“แท็กซี่-พี่เลี้ยงเด็ก-แม่ค้าขายอาหาร” อาชีพเสี่ยงแพร่ “วัณโรค”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จับตา “แท็กซี่-พี่เลี้ยงเด็ก-แม่ค้าขายอาหาร” อาชีพเสี่ยงแพร่ “วัณโรค” โรงหนัง โรงพยาบาล ชุมชนแออัด สถานที่เข้าข่ายเสี่ยง สธ.เผยฉุดแรงงานยากจนตายปีละ 7,000 ราย คาดมีผู้ป่วยรายใหม่เฉียดแสน ฮูจัดอันดับไทยรั้งท้าย ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคสูงอันดับที่ 17 ของโลก จาก 22 ประเทศ

วันนี้ (19 มี.ค.) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมชัย ภิญโญพรพาญิชย์ รองอธิบดีกรมความคุมโรค ศ.นพ.ประพาฬ ยงใจยุทธ นายกกรรมการบริหารสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นพ.วินัย สวัสดิวร รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าวเนื่องในวันวัณโรคโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี โดยในปีนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ประเทศสมาชิก เร่งรวมพลังหยุดยั้งวัณโรค โดยใช้คำขวัญ “รวมพลัง หยุดยั้ง วัณโรค” (I am stopping TB) โดยมี โบ ชญาดา ลิ่วเฉลิมวงศ์ เป็นฟรีเซ็นเตอร์ ร่วมรณรงค์

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานว่าในปี 2550 ทั่วโลกพบผู้ป่วย วัณโรครายใหม่ปีละ 9 ล้านกว่าราย ใน202 ประเทศ เสียชีวิตปีละ 1.5 ล้านราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ติดเชื้อวัณโรค 2 แสนราย สำหรับประเทศไทยได้ประสบปัญหาวัณโรคกลับมาแพร่ระบาดอีก เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ และมีแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้ คาดว่า มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละ 91,000 ราย และมีรายวานผู้เสียชีวิต 5,000-7,000 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในแรงงานที่มีฐานะยากจน โดยเฉพาะในชุมชนแอดอัดใน กทม.และในเขตเมืองใหญ่ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของไทยในอนาคต ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกจัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดในโลก อยู่ในอันดับที่ 17 จากทั้งหมด 22 ประเทศ

“วัณโรคถือเป็นโรคอุบัติการณ์ซ้ำ ที่ดูเหมือนสงบไปแล้วแต่กลับมารุนแรงขึ้นอีก ซึ่งนอกจากจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นด้วย ดังนั้น เมื่อองค์การอนามัยโลกจัดอันดับให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 17 เราก็ควรที่จะกลับมาทบทวน และต้องยอมรับว่า มีผู้ป่วยมากขึ้นจริง และต้องร่วมกันหาวิธีที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยมีผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจากโรควัณโรคลดลง”นพ.ไพจิตร์ กล่าว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า ปัญหาหลักของไทยขณะนี้ พบว่า ผู้ป่วยโรควัณโรค เพียงร้อยละ 60 ที่เข้ารักษาตัว และแนวโน้มการเข้ารักษาตัวน้อยลง จากปี 2548 จำนวน 58,433 ราย เหลือเพียง 50,000 รายต่อปีในปี 2550 ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยวัณโรคซ้ำ 1,458 ราย โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยร้อยละ 7 หรือประมาณ 3,646 ราย จึงทำให้มีแหล่งแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้มาก โดยผู้ป่วยวัณโรค 1 ราย สามารถแพร่เชื้อให้บุคคลอื่นได้มากกว่า 10 คน และจากการประเมินผลการรักษา มีอัตราการหายขาดประมาณร้อยละ 76 ต่ำกว่าเป้าหมายที่องค์กรอนามัยโลกกำหนดไว้คือร้อยละ 85 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อวัณโรคที่ยังไม่มีอาการป่วยอีกจำนวนมาก ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาวัณโรคทวีความรุนแรงขึ้นในปีนี้

ศ.นพ.ประพาฬ กล่าวว่า ขณะนี้มีการติดตามสถานการณ์ความชุกของโรควัณโรคอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันความชุกของโรคเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่ใช่ตัวเลขที่น่าตกใจ เพียงแต่ต้องจับตาเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีการศึกษาการแพร่กระจายของโรควัณโรคในรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งหากเป็นกรณีรถร้อนจะไม่มีปัญหาในการแพร่เชื้อของโรคเนื่องจากภายอากาศภายในรถมีการถ่ายเทที่ดี อย่างไรก็ตามสมาคมฯ ได้ทำการศึกษาในกลุ่มผู้ขับแท็กซี่ ในโครงการตรวจสุขภาพแท็กซี่ โดยเป็นโครงการต่อเนื่อง 5 ปี มีการตรวจดูอาการว่ามีไอเรื้อรังหรือไม่ พร้อมทั้งตรวจเสมหะ เพื่อหาเชื้อวัณโรค ทั้งนี้ หากแท็กซี่ผ่านการตรวจโรคแล้วจะได้รับสติกเกอร์ยืนยันปราศจากโรคด้วย

“การที่สมาคมทำการศึกษาในกลุ่มผู้ขับแท็กซี่ เนื่องจากภายในรถแท็กซี่มีพื้นที่คับแคบ อากาศไม่ถ่ายเท และปฏิบัติงานด้านบริการ เป็นการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในกลุ่มที่คาดว่าจะเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรค แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ขับรถแท็กซี่จะเป็นโรควัณโรคมากหรือชุกกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ปริมาณการป่วยที่พบไม่ต่างจากคนธรรมทั่วไป นอกจากนี้ยังศึกษาในกลุ่มอาชีพพี่เลี้ยงเด็กและผู้ประกอบอาหารด้วย ทั้งนี้ ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ว่า ผู้ที่เป็นวัณโรคส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาชีพใด อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่วัณโรคพบในผู้ที่ใช้แรงงานรับจ้างและมีฐานะยากจน อีกทั้งยังสามารถพบเชื้อวัณโรคได้ในสถานที่หลายแห่ง ทั้งชุมชนแออัดโรงภาพยนตร์ โรงพยาบาล เครื่องบินโดยสารที่ใช้เวลาบินติดต่อนานเกิน 8 ชั่วโมง” ศ.นพ.ประพาฬ กล่าว

ศ.นพ.ประพาฬ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม การรักษาวัณโรคให้ประสบผลสำเร็จ หลักอยู่ที่การวินิจฉัยให้เร็วที่สุด และได้รับยาอย่างต่อเนื่อง 180 วัน หรือ 6 เดือน ซึ่งมีโอกาสในการหายขาด 90-95% แต่เนื่องจากคนไข้ส่วนหนึ่งยังไม่รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง เมื่อรับประทานยาระยะเวลาหนึ่ง อาการดีขึ้น ก็ไม่มารับยาไปรับประทานอีก ทำให้เชื้อวัณโรคยังคงอยู่ไม่หายขาด นอกจากนี้ยังมีผู้ติดเชื้อวัณโรคถึง 30-40% ที่ไม่แสดงอาการ สำหรับวิธีป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย ควรสวมหน้ากาก ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วจะเน้นตรงจุดนี้

นพ.สมชัย กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรควัณโรค ที่กรมควบคุมโรคดำเนินการอยู่ขณะนี้คือการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในหมู่บ้าน ชุมชนทั่วประเทศ โดยการประสานงานในพื้นที่ สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) จากนั้น ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ติดต่อกัน 6 เดือน โดยมี อสม.และญาติร่วมกันดูแลเพื่อไม่ให้ขาดยา ซึ่งสามารถช่วยให้หายขาดจากวัณโรคได้ ขณะเดียวกัน มีการประมาณการผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน 1,500 ราย และกลุ่มที่ดื้อยารุนแรง (XDR-TB) อย่างน้อย 13 ราย ซึ่งสามารถติดตามผู้ป่วยได้ 9 ราย เสียชีวิตแล้ว 4 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 4 ราย และหายเป็นปกติ 1 ราย ส่วนเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค ก็อาจทำให้เป็นวัณโรคเยื้อหุ้มสมอง พิการและเสียชีวิตได้

ด้าน นพ.วินัย กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช.สนับสนุนงบประมาณในการดูแลเกี่ยวกับโรควัณโรค 2 ด้าน คือ 1.ระบบการดูแลผู้จิดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเมื่อผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับยาต้านไวรัส จะช่วยให้ในระยะยาวการติดเชื้อวัณโรคลดลง และ 2.การจัดงบประมาณโดยตรงดูแลผู้ป่วยวัณโรคซึ่งอยู่ในสิทธิประโยชน์ ซึ่งก่อนหน้านี้งบประมาณที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วยอยู่รวมในค่าเหมาจ่ายรายหัว อาจทำให้การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ มีมาตรฐานไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งใน จะเริ่มใช้งบประมาณปี 2551 โดยสนับสนุนงบประมาณ295 ล้านบาท ส่วนปี 2552 เตรียมงบประมาณไว้ 230 ล้านบาท

สพ.ญ.มัวรีน เบอมิ่งแฮม ตัวแทนองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อวัณโรค 9.2 ล้านคน ในปี 2549 ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อเอดส์ 7 แสนคน และติดเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนาน 5 แสนคน แต่ละปีมีผู้เสียชีวิต 1.5 ล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้ 2 แสนคนตายจากเชื้อเอดส์ที่โรควัณโรคเป็นโรคแทรกซ้อนจนเสียชีวิต ทำห้องปฏิบัติการร่วมกับกรมควบคุมโรคในการตรวจวิเคราะห์เชื้อวัณโรค ซึ่งนับว่าเป็นห้องปฏิบัติการแห่งที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น