“เรามาช่วยแข่งกันทำความดี จะส่งผลดีต่อประเทศชาติ” นี่คือ ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ “สตรีหมายเลขหนึ่งแห่งอาณาจักรปูนอินทรี-จันทนา สุขุมานนท์ หรือ “พี่แมว” รองประธานบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ของพลพรรคพนักงาน “ปูนกลาง” ทุกคน โดยเจ้าตัวอธิบายถึงแนวคิดการแข่งกันทำความดีนี้ ว่า ได้มาจาก “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” เลขามูลนิธิชัยพัฒนา
พี่แมวเท้าความไปถึงแรกเริ่มผุดความคิดในการทำความดีถวายในหลวง ว่า ขณะนั้นเป็นช่วงใกล้ปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (พ.ศ.2549) และในปีรุ่งขึ้น คือ พ.ศ.2550 จะเป็นปีที่ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในฐานะองค์กรเอกชน บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จึงต้องการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“ตอนแรกก็มองว่าจะทำฝนเทียมถวาย คิดถึงขั้นจะซื้อเครื่องบินทำฝนเทียม แต่พอเข้าไปปรึกษา ดร.สุเมธ ท่านก็กรุณาให้ชี้แนะแนวทางและบอกเล่าถึงข้อดีของการทำฝายชะลอน้ำว่า ทำให้เราเห็นว่าการทำฝายเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนกว่า ที่เราตั้งใจจะทำ 880 ฝาย เพราะอยากได้เลข 80 อันเป็นพระชนมายุในหลวง จึงตั้งเป้าว่า เราจะทำฝายปีละ 880 ฝาย โดยเราตั้งงบไว้ที่ 9 ล้านต่อปี เพราะเราอยากได้เลข 9 ด้วย” พี่แมว เริ่มเล่า
“ประดับ เข็มเพชร” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ในฐานะที่ปรึกษาด้านการทำฝาย เปิดเผยว่า ฝายชะลอน้ำ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก เพราะฝายชะลอน้ำจะทำหน้าที่โดยตรงในการลดแรงปะทะของน้ำป่าให้เบาลงแล้ว ยังเป็นเหมือนตัวเก็บกักความชุ่มชื้นจากน้ำไว้ในบริเวณรอบๆ ให้นานขึ้นอีกด้วย ซึ่งถ้าจะพูดไปแล้ว การปลูกป่านั้นถ้าไม่มีการกลับไปดูแล รดน้ำพรวนดิน ต้นกล้าต้นนั้นก็ยากที่จะโตมาเป็นไม้ใหญ่ แต่ถ้าเรามีฝายในพื้นที่นั้นๆ ต้นไม้จะได้ความชุ่มชื้นจากฝาย สามารถพูดได้ว่าฝายแห่งหนึ่ง สามารถให้ความชุ่มชื้นแก่ต้นไม้ และเกิดต้นไม้ได้เป็นร้อยต้นทีเดียวครับ” ผอ.ประดับ อธิบาย
เมื่อถามถึงผลงานการสร้างฝายปีที่ผ่านมา พี่แมว กล่าวว่า พอใจมาก ถือว่าประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เฉพาะตัวเลขที่สามารถสร้างฝายได้เกินกว่าที่ตั้งไว้ แต่ที่มากกว่านั้นคือ ได้การร่วมแรงร่วม ได้แรงจากพนักงานของปูนนครหลวงเอง แรงจากเหล่านิสิต-นักศึกษาจากชมรมอาสาพัฒนาชนบททุกสถาบัน
รองประธานบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงปีที่สองของโครงการ ว่า ที่ต้องมีปีที่สอง ก็เพราะเชื่อว่า การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมนั้นไม่สามารถจะทำแบบปีเดียวจบได้ ต้องมีการติดตามและต่อยอดไปพร้อมๆ กัน
“โครงการนี้จะเป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี คือ โดยจะทำทั้งกลับไปดูฝายเก่าที่ทำไว้ว่ามีประโยชน์ต่อชุมชนนั้นๆ มากน้อยเพียงใด และมีความเปลี่ยนแปลงจากเดิมก่อนมีฝายอย่างไรบ้าง ควบคู่ไปกับการสร้างฝายเพิ่มทุกปี เราทำทั้งทีก็อยากทำให้ยั่งยืน ให้ได้ประโยชน์จริงๆ ก็ตั้งใจจะทำ 3 ปี ปีละ 880 ฝาย ปีแรกก็ได้เกินเป้า คาดว่า ใน 3 ปี เราจะสร้างฝายชะลอน้ำได้ราวๆ 3,000 ฝาย” พี่แมวทิ้งท้าย