xs
xsm
sm
md
lg

“ภาษาเพศ” การจองจำใต้วาทกรรมดิ้นได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันแม้จะมีการออกปาก ว่า สังคมเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับกลุ่มคนเพศที่สาม กระนั้นการกล่าวถึงเรื่องเพศ หรือรูปแบบการมีเพศสัมพันธ์ก็ยังเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องสกปรก และไม่สมควรพูดถึง จึงทำให้มีการถกเถียงในเวทีต่างๆ อย่างกว้างขวาง

เมื่อเร็วๆ นี้ ในเวทีเสวนาเรื่อง “มิติของภาษาเพศ : นัยต่อการป้องกัน การดูแล และการจัดบริการด้านสุขภาวะทางเพศ” ได้มีการกล่าวถึงกลุ่มคำซึ่งเป็นตัวแทนของเพศที่สาม มีความหมายในเชิงดูถูกและไม่ดี ทำให้สะท้อนคำถามที่ว่า แท้จริงแล้วความเท่าเทียมในการแสดงออกทางเพศเกิดขึ้นจริง แล้วหรือ?

*** ภาษาจองจำความคิด
พญ.เพชรศรี ศิรินิรันดร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิชาการสนับสนุนการป้องกันแก้ไขปัญหาเอดส์ กรมควบคุมโรค แสดงความคิดเห็นเรื่องการกำหนดกลุ่มคำ หรือสร้างคำซึ่งเป็นตัวแทนในเรื่องเพศ และรูปแบบการมีเพศสัมพันธ์ทั้งในกลุ่มหญิงรักชาย ชายรักชาย และหญิงรักหญิง ว่า ภาษาเปรียบเสมือนคุกอันยิ่งใหญ่ที่จองจำมนุษย์ไว้ไม่มีทางหนีได้ ภาษาจะมาพร้อมกับความคิด พร้อมทำหน้าที่สะท้อนความคิดนั้น และสำเนียงก็เป็นการแสดงออกทางอารมณ์ของภาษาอีกทอดหนึ่ง

“แม้จะเปรียบภาษาเป็นคุก หากแต่คุกนั้นไม่เคยหยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่มีคำใหม่ๆ ออกมา และหลุดจากกรอบภาษาเดิม ซึ่งกลุ่มคำใหม่ก็สะท้อนความเป็นไปในสังคมใหม่เช่นกัน สำหรับเรื่องเพศก็เช่นเดียวกัน ในสภาวะต่างๆ ที่มีกลุ่มคำออกมา ในแต่ละช่วงเวลาทำให้ได้รู้ว่าคนในสมัยนั้นคิดอย่างไร และเมื่อมีการบอกเล่าเรื่อยไป ก็จะถูกฝังเข้าไปในความคิด แต่การนำคำของคนในสังคมมาใช้ เช่น คำว่า กะเทย ถ้าพูดในสำเนียงธรรมดา คนฟังอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าพูดในสำเนียงดูหมิ่น ซึ่งคนฟังสัมผัสได้มันก็ทำให้คำนั้นกลายเป็นความหมายที่ไม่ดีไป ” พญ.เพชรศรี กล่าว

*** “กะเทย” นิยามบนความดูถูก
สุไลพร ชลวิไล นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า ธรรมชาติในทางสรีระได้กำหนดเพศ ผู้ชาย และ ผู้หญิง แต่อย่างที่ทราบว่า ปัจจุบันได้มีการพูดถึงกลุ่มคนที่เป็นเพศที่สามมากขึ้น สิ่งที่กำหนดกลุ่มคำเรียกคนเหล่านี้ก็คือ พฤติกรรมการแสดงออก การแต่งกายที่ใช้ของเพศตรงข้ามมาสวมใส่ และเชิงกายภาพที่มีอวัยวะเพศไม่ชัดเจน
คนที่เป็นกะเทยก็ไม่อยากให้ใครเรียกเขาว่ากะเทยอยู่ดี ซึ่งคำพูดในเชิงดูถูก ก็เช่น ตุ๊ด แต๋ว ประเทือง ส่วนในกลุ่มนักวิชาการจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า รักร่วมเพศ ลักเพศ รักวิปริต และมีคำทับศัพท์ที่นำมาเรียกคนรักเพศเดียวกัน เช่น เลสเบี้ยน เกย์ โฮโมเซ็กชวล ไบเซ็กชวล หรือนำคำฝรั่งมาใช้ เช่น ทอม (มาจากทอมบอย) ดี้ (มาจากเลดี้)

“การเข้ามาของกลุ่มคำเหล่านี้ มาพร้อมกับปัญหาสังคมที่มีคนรักเพศเดียวกัน โดยอาจจะมีเหตุที่เกิดขึ้นกับคนในกลุ่มนี้ในเชิงที่ไม่ดี หรือมีผู้ก่อเหตุเป็นเพศที่สาม ก่อให้สื่อออกมาอธิบาย และกำหนดวาทกรรมทางเพศ พร้อมตอกย้ำอย่างสม่ำเสมอ เป็นผลให้คนทั่วไปเข้าใจกลุ่มคำที่เรียกขานเพศที่สามในเชิงดูแคลน หรือไม่ไว้วางใจ ไม่แปลกที่จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เครียด กดดัน เก็บกด อับอาย จากการถูกตำหนิ ล้อเลียน ไม่ได้รับการยอมรับ จนเกิดการเก็บกดและจบปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย และสำหรับปัญหาสุขภาพกาย ทำให้ถูกทำร้ายจากผู้รังแก ความเสียหายหรือผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมน” สุไลพร กล่าวสรุป

*** “ใช้ปาก” ความหลากหลายทางภาษา-ชนชั้น-และพฤติกรรม
รณภูมิ สามัคคีคารมย์
นักวิจัยสำนักงานการศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการสังคม คณะสังคมและมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงรูปแบบพฤติกรรมและวัฒนธรรมทางเพศว่า การแบ่งชนชั้นในปัจจุบันเป็นตัวกำหนดภาษาเพศ กลุ่มคำเช่น การใช้ปาก ออรัลเซ็กซ์ กินไอติม เป่าปี่ ร้องคาราโอเกะ โม้ก ถวายบัว ดูดงู สอยมะม่วง บ๊วบ ล้วนแต่เป็นภาษาที่แสดงกิริยาการร่วมรักแบบใช้ปาก ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละคำจะถูกใช้ในสถานที่ กลุ่มคน ชนชั้น แตกต่างกันไป อีกทั้งเมื่อคนทั่วไปฟังแล้วรู้สึกว่า การใช้คำบางคำนั้นสะท้อนรูปแบบการใช้พฤติกรรมทางเพศที่มิใช่ปกติธรรมดาของคนในสังคม

“พฤติกรรมการแสดงออกทางเพศที่เรียกว่าการทำรักด้วยปากนั้น ความจริงมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาฮิตในปัจจุบันกันว่า ออรัลเซ็กซ์ ซึ่งให้ความหมายว่า เป็นเพียงวิธีการเล้าโลมก่อนจะมีเพศสัมพันธ์ มากกว่าที่จะมองว่าเป็นการมีเพศสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่ง หากใช้คำว่า ใช้ปาก เลีย ลงลิ้น หรือใช้ลิ้นในเพศหญิงจะยิ่งทำให้การร่วมรักในลักษณะนี้กลายเป็นเรื่องสกปรก ขัดต่อค่านิยมที่ถูกปลูกฝังกันมา ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่ควรจะยอมรับว่านี่คือ การแสดงความรักรูปแบบหนึ่ง”

*** “ตุ๋ย” สื่อสร้างความหมายเชิงลบ
“ตุ๋ย” เป็นคำที่ใช้เรียกพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ชายทางทวารหนัก และการประกอบสร้างชุดคำนี้ขึ้นมา เกิดจากการพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ที่มีข้าราชการคนหนึ่งซึ่งกระทำการบังคับขืนใจเด็กชาย โดยสื่อใช้ชื่อเล่นของผู้กระทำว่า “ตุ๋ย” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดังนั้น คำนี้จึงมีการใช้อย่างแพร่หลายในนัยของเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักในเชิงใช้อำนาจบังคับ ไม่ยินยอม

การกระทำความรุนแรง หรืออาชญากรรมทางเพศ ดังนั้น คำว่า “ตุ๋ย” จึงกลายเป็นภาพตัวแทนของพฤติกรรมการแสดงออกทางเพศแบบชายรักชายที่รุนแรงรูปแบบหนึ่ง ทั้งที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็สามารถกระทำความรุนแรงกับอีกเพศหนึ่งได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคำอื่นอีกที่แสดงรูปแบบเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เช่น ถั่วดำ อัดถั่วดำ เข้าประตูหลัง ข้างหลัง สอดใส่ทางทวารหนัก ฟันดาบ เก็บสบู่ ที่เป็นคำมาจากหนังฝรั่งเกี่ยวกับนักโทษชายที่ทำสบู่ตกแล้วก้มเก็บ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงท่าทางที่พร้อมจะมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ชุดภาษาดังกล่าว ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า วิถีของการรักเพศเดียวกันในสังคมไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นเรื่องวิปริต

*** “สวิงกิ้ง” การทะลักเล็ดของวัฒนธรรมตะวันตก
สวิงกิ้ง (Swinging) เป็นคำภาษาอังกฤษที่มีความหมายว่า รื่นเริง มีชีวิตชีวา แต่ในทางรูปแบบพฤติกรรมทางเพศบอกได้ว่าเป็นพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์แบบเปลี่ยนคู่นอน ไม่มีความสัมพันธ์ในระยะยาว และไม่ยุ่งเกี่ยวกับความรัก ในบริบทของสังคมไทย คำนี้รู้จักกันกว่า 10 ปีแล้ว และเกิดขึ้นในชนชั้นกลาง ที่มีการศึกษา และสภาพเศรษฐกิจดี โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เคยเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ แล้วนำวัฒนธรรมนี้มาเผยแพร่จำกัดในกลุ่มคนที่มีฐานะจนขยายมาสู่คนทำงานที่เป็นโสด ต่อมาคำนี้ถูกนำมาใช้ในคนทั่วไป จึงมีคำเรียกอื่นๆ ติดปากต่อไปว่า การแลกคู่ การเปลี่ยนคู่นอน สลับคู่นอน เซ็กซ์เอื้ออาทร เพื่อเปรียบเปรยถึงการเอื้อเฟื้อ การแบ่งปันความสุขทางเพศแก่กันและกัน

*** “เพศ” จะงดงามต้องอยู่บนความเข้าใจ
ท้ายที่สุดแล้ว พญ.เพชรศรี สรุปว่า อคติเป็นตัวอุปสรรคสำคัญในการปิดโอกาสในการทำความเข้าใจเรื่องการศึกษาเรื่องเพศและโรคทางเพศสัมพันธ์ สิ่งที่ผู้ให้บริการทางสาธารณสุขจะต้องให้ความสำคัญ ก็คือ การปรับทัศนคติคนทำงานให้ปราศจากอคติ ทลายกรอบความคิด ความเชื่อแบบเดิมๆ เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมทางเพศ ที่ไม่ใช่แค่การสืบพันธุ์เท่านั้น แต่ยังมีความหมายกว้าง และละเอียดอ่อนกว่านั้น ไม่ควรมองว่ามันเป็นสิ่งที่สกปรก เกิดขึ้นกับเฉพาะกลุ่มคนเท่านั้น แต่ควรมองว่ารูปแบบของพฤติกรรมทางเพศต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ, ทุกวัย และในทุกๆ สังคม เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลที่พึงมี แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการยินยอมพร้อมใจ ความปลอดภัย และการเคารพซึ่งกันและกัน

“เราในฐานะพ่อ แม่ พี่ หรือครูอาจารย์ ควรจะเชื่อว่าเด็กเยาวชนมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย และจิตใจที่แตกต่างที่หลากหลาย ควรเคารพในความคิดเห็น และการแสดงออกของเขา และควรยอมรับว่า เด็กและเยาวชนต่างมีความต้องการทางเพศ มิใช่พยายามกีดกันเด็กและเยาวชนออกจากเรื่องเพศ ทำให้ละเลยสิทธิของปัจเจก ทำให้ขาดความรู้ในการดูแลเนื้อตัวร่างกาย และการปฏิบัติกิจกรรมทางเพศที่ปลอดภัย คำว่า รักนวลสงวนตัว ไม่ได้ช่วยให้เด็ก และเยาวชนในการเอาตัวรอดปลอดภัยได้ ในสถานการณ์ล่อแหลมต่อการมีเพศสัมพันธ์ ทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนสามารถต่อรองกับคู่ความสัมพันธ์ได้ บนพื้นฐานสิทธิทางเพศ ทำให้เด็กและเยาวชนเห็นถึงศักยภาพในตนเอง เรียนรู้การวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องตัดสินใจเลือกการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย” ผอ.สำนักงานฯ การป้องกันแก้ไขปัญหาเอดส์กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น