แม้จะเป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ที่ประชากรนับถือศาสนาแตกต่างหลากหลายกัน แต่ จ.สตูล เป็นพื้นที่ที่มีความสงบ ประกอบกับแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ยังคงความสดอยู่มาก ทำให้สตูลเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทั้งในเชิงท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม จ.สตูล เป็นจังหวัดที่ไม่มีสถาบันอุดมศึกษา ตั้งอยู่ในพื้นที่ ทำให้เด็กนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ต้องเดินทางไปศึกษาต่อในจังหวัดใกล้เคียง แต่สำหรับนักเรียนบางคน อาจจะเลือกศึกษาต่อในหลักสูตร “วิทยาลัยชุมชน” ซึ่งเปิดสอนในระดับอนุปริญญา หรือหลักสูตรระยะสั้น เพื่อสะสมหน่วยกิตสำหรับเรียนต่อในระดับปริญญาตรีเมื่อมีความพร้อม
หนึ่งในหลักสูตรที่ “วิทยาลัยชุมชนสตูล”เปิดสอนเป็นหลักสูตรระยะสั้น 30 ชั่วโมง และถือเป็นหลักสูตรเงินล้านที่สร้างมูลค่าให้กับผู้เรียนได้ในระยะยาว คือ หลักสูตรระยะสั้นการชักนำและกลั่นสารกฤษณา
“นำชัย กฤษณาสกุล” ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสตูล เปิดเผยว่า นอกจากชาวจังหวัดสตูลจะมีอาชีพประมงแล้ว ยังนิยมปลูกพืชผสมผสาน คือ ปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่เดียวกันด้วย ปัจจุบันชาวบ้านจำนวนมาก นิยมปลูกต้นกฤษณาแทรกไว้ในพื้นที่การเกษตร เพราะไม้กฤษณาเป็นไม้เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงมาก
“ชาวสตูลกว่าร้อยละ 70 นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งตามหลักศาสนาแล้ว เครื่องอุปโภคบริโภคจะต้องเป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม เช่น สบู่ น้ำหอม ยาสระผม จะต้องไม่ผลิตจากไขมันสัตว์ ขณะที่น้ำมันกฤษณาสามารถนำไปใช้ผลิตสบู่ เครื่องหอม หรือยาสระผมได้ ถือเป็นไขมันจากพืชที่ไม่ผิดหลักศาสนาอิสลาม ไม่เพียงแต่คนในพื้นที่เท่านั้นที่มีความต้องการสินค้าเหล่านี้ ขณะนี้ตลาดทางตะวันออกกลางมีความต้องการน้ำมันจากต้นกฤษณาอย่างมาก เราจึงเปิดหลักสูตรระยะสั้นการชักนำและกลั่นสารกฤษณาขึ้น”
อาจารย์ประสิทธิ์ เพชรกาฬ กรรมการสภาวิชาการ วิทยาลัยชุมชนสตูล ซึ่งได้ทดลองและทำการวิจัยในการสร้างสารชักนำน้ำมันกฤษณามากว่า 20 ปี กล่าวว่า กระแสการปลูกต้นกฤษณาเกิดจากความบังเอิญ เมื่อเกิดเหตุฟ้าผ่าใส่ต้นกฤษณาขนาดใหญ่จนเป็นข่าวดัง ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ได้มีพ่อค้าชาวตะวันออกกลางมาขอซื้อให้ราคานับล้านบาท ทำให้เราได้ทราบว่าไม้กฤษณาเป็นไม้เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงมาก
“สิ่งสำคัญที่จะทำให้ไม้กฤษณามีมูลค่า จะต้องทำให้ต้นกฤษณาหลั่งสารกฤษณา หากต้นกฤษณาไม่หลั่งสารกฤษณาก็ไม่สามารถนำไปกลั่นน้ำมันได้ วิธีการคือการใช้สารชักนำกฤษณา ซึ่งหลักสูตรระยะสั้นที่วิทยาลัยชุมชนเปิดสอนนั้น จะสอนวิธีการสร้างและใช้สารชักนำเพื่อให้ต้นกฤษณาหลั่งสาร ไปจนถึงการกลั่นน้ำมันกฤษณา”
อ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การทำให้ต้นกฤษณาหลั่งสารกฤษณา ต้องทำให้ต้นไม้เกิดแผล นั่นคือการเจาะรู จากนั้นใช้สารชักนำใส่ลงในแผลของต้นไม้ เมื่อทิ้งไว้ภายใน 2 วัน บริเวณบาดแผลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ และจะเป็นสีน้ำตาลเข้มใน 1 เดือน เมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือนบริเวณปากแผลจะกลายเป็นสีน้ำตาลไหม้ซึ่งหากเรานำเอาไม้กฤษณาไปเผาไฟจะได้กลิ่นแรง เพราะไม้กฤษณาสร้างสารกฤษณา หรือชันกฤษณาขึ้นมานั่นเอง
ต้นกฤษณาสามารถให้ชันกฤษณาได้ตั้งแต่ อายุ 2 ปี และเมื่อกฤษณาอายุได้ 5-6 ปี ก็ชักนำด้วยวิธีเจาะเร่งด้วยอาหารเสริม ทิ้งไว้อีก 3-4 ปี รวมระยะเวลา 9-10 ปี จะได้แก่นไม้กฤษณาราคาสูง ที่สามารถนำมาสับเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันได้
“สำหรับไม้กฤษณาอายุ 10 ปี นำมาสับเป็นท่อนๆ ราคาอยู่ที่ 30 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเนื้อไม้ประมาณ 15 กิโลกรัม เมื่อนำมาบดละเอียดแล้วนำไปกลั่นเป็นน้ำมันกฤษณาจะได้ประมาณ 3 โตล่า (หน่วยวัดของอิสลาม) หรือประมาณ 37.5 ซีซี ซึ่งราคาน้ำมันกฤษณาในประเทศปัจจุบันอยู่ที่โตล่าละ 4,500-5,000 บาท แต่หากจำหน่ายไปต่างประเทศ จะได้ราคาสูงขึ้นประมาณ 3 เท่า ดังนั้น ต้นกฤษณาเพียงหนึ่งต้นสามารถทำเงินได้หลายแสนหรืออาจจะถึงล้านบาท ซึ่งในกลุ่มผู้เรียนหลักสูตรระยะสั้นการชักนำ และกลั่นสารกฤษณามีต้นกฤษณาอยู่ถึง 3 แสนต้น”
อ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่มาลงเรียนหลักสูตรระยะสั้นที่วิทยาลัยชุมชนเปิดสอนอยู่ในขณะนี้นั้น เป็นเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย จำนวน 70 คน ซึ่งปลูกไม้กฤษณาไว้ในพื้นที่การเกษตรของตนเอง ในอนาคตเมื่อไม้กฤษณาสามารถใช้งานได้แล้ว จังหวัดสตูลจะกลายเป็นจังหวัดส่งออกไม้และน้ำมันกฤษณาขนาดใหญ่ โดยมีตลาดใหญ่อยู่ที่ตะวันออกซึ่งมีความต้องการซื้อขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงด้วย
“การเปิดหลักสูตรนี้ จะทำให้ชาวสตูลมีอาชีพ และรายได้ โดยระหว่างเรียนก็ไม่ต้องเดินทางออกไปต่างจังหวัด เมื่อเรียนจบก็สามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้”