xs
xsm
sm
md
lg

สภาพยาบาลออกกฎห้ามผู้ดูแลเด็ก-ผู้สูงอายุ ใส่ชุดขาวคล้ายพยาบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาการพยาบาลออกประกาศห้ามผู้ดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ห้ามสวมชุดขาวคล้ายพยาบาล หน้าที่แค่เดินเอกสาร-ดูแลสิ่งแวดล้อมเครื่องมือแพทย์ได้ ห้ามสถานพยาบาลเอกชนหัวใสรับนักศึกษาหลักสูตร 6 เดือน ฝึกงานในแผนกของรพ.แพทยสภาเตรียมนำประเด็นพยาบาลขัดขืนหมอไม่ฉีดยาเข้าที่ประชุมสภาวิชาชีพกลาง มี.ค.

นางพรจันทร์ สุวรรณชาต อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2 กล่าวว่า ในการประชุมหารือร่วมกับชมรมพยาบาล ทั้งภาครัฐและเอกชน 50 หน่วยงาน เรื่องการใช้บุคลากรทางการพยาบาลปฏิบัติงานของพยาบาลตามข้อจำกัด และเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพ การพยาบาล และผดุงครรภ์ โดยมติในที่ประชุมได้สรุป 2 ประเด็น คือ 1.ห้ามไม่ให้ผู้ดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุ สวมชุดสีขาวหรือมีเครื่องแต่งกายอื่นใด อันทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าเป็นพยาบาล ทั้งนี้ เพราะว่ามีภาวะขาดแคลนพยาบาล และผู้ช่วยพยาบาลหลักสูตรเพียง 1 ปี จึงต้องรับผู้ดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่จบหลักสูตร 6 เดือนมาแก้ปัญหาความขาดแคลน แต่กลับพบว่ามีโรงพยาบาลบางแห่งทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่าเป็นพยาบาลวิชาชีพ และทำเวชปฏิบัติเหมือนกับพยาบาลทุกอย่าง ดังนั้น จึงต้องมีบทบัญญัติบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจน โดยที่ไม่มีสิทธิ์กระทำต่อผู้ป่วยโดยตรงได้ เว้นแต่สามารถปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับพยาบาลวิชาชีพ

“ข้อเตือนว่า สถานพยาบาลเอกชนห้ามนักศึกษาที่อยู่ระหว่างการศึกษาจากหลักสูตรผู้ดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุ 6 เดือน มาฝึกงานตามแผนกต่างๆของสถานพยาบาล เนื่องจากว่าผู้จบหลักสูตรดังกล่าวไม่มีสิทธิ์ในการดำเนินการปฏิบัติกับผู้ป่วยโดยตรง ทั้งนี้หน้าที่ของผู้จบหลักสูตรนี้ทำได้เพียงการดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลเครื่องไม้เครื่องแพทย์ ประสานงานข้อมูลผู้ป่วยแต่ละแผนกเท่านั้น” นางพรจันทร์ กล่าว

นางพรจันทร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ที่ว่าจะพัฒนากลุ่มวิชาชีพผู้ดูแลเด็กเล็กอย่างไรให้สามารถมีประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งอาจส่งเรียนต่อตามหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 1 ปี ทั้งนี้ สภาการพยาบาลรับหน้าที่ประสานงานกับสถาบันการศึกษาให้การฝึกอบรมเพิ่มเติม และจากการสอบถามสถานพยาบาลแต่ละแห่งยินที่จะส่งพนักงานกลุ่มดังกล่าวไปเรียนต่อ อย่าง โรงพยาบาลศิริราชเปิดหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลทุกปี ปีละ 100-200 คน ค่าเล่าเรียนประมาณ 1-2 หมื่นบาท ขณะเดียวกัน สภาการพยาบาลจะจัดหลักสูตรอบรมผู้ช่วยพยาบาลสำหรับผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่มานานแล้ว และสภากาชาดไทยและมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เป็นแหล่งผลิตบุคลากรกลุ่มดังกล่าวด้วย

“ที่ผ่านมา สถานพยาบาลเอกชนต่างๆ ให้ผู้ดูแลแด็กเล็กและผู้สูงอายุมาแต่งกายเหมือนกับพยาบาลวิชาชีพ เนื่องจากความไม่รู้ แต่ขณะนี้คงต้องทราบและปฏิบัติตามแล้ว ทั้งนี้ คงไม่ต้องออกประกาศเพิ่มเติมอีก เพราะเป็นกฎระเบียบของพยาบาลวิชาชีพอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยมีสิทธิ์ซักถามและปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือในกรณีที่ไม่ใช่พยาบาลวิชาชีพได้” นางพรจันทร์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า จากการที่สภาการพยาบาลได้ออกประกาศที่ห้ามพยาบาลวิชาชีพเป็นผู้ให้ยา หรือสารละลายทางหลอดเลือดดำ 3 ประเภท เนื่องจากเป็นหน้าที่ของแพทย์นั้น ความจริงแล้ว เมื่อเกิดการฟ้องร้องขึ้น แต่ละฝ่ายก็พยายามปกป้องฝ่ายของตนเอง ซึ่งแพทยสภาในฐานะเพื่อนร่วมสภาวิชาชีพหลายฝ่ายที่ต้องทำงานช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาวิชาชีพประมาณกลางเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งจะหาทางออกร่วมกัน

“ทางออกร่วมกัน คือ ต้องพูดให้เข้าใจว่าขณะนี้แพทย์มีภาระงานมาก จึงต้องให้พยาบาลช่วยเหลือ ซึ่งในส่วนของแพทย์แต่ละสถานที่ใดที่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ก็จะต้องทำเอง แต่ถ้าแพทย์มีคนเดียว แต่พยาบาลมีมาก ภาระงานของแพทย์หนักคงต้องให้พยาบาลช่วยๆกัน หากพยาบาลไม่ช่วยแพทย์ก็ตาย ไม่มีเวลานอนกัน ฉีดยา เย็บแผลแพทยก็ต้องทำทั้งหมดก็ไม่ไหว เพราะสุดท้ายแต่ละฝ่ายกลัวการฟ้องร้อง แต่ผลเสียเกิดขึ้นกับประชาชน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการฟ้องร้องไม่เฉพาะฟ้องร้องหมอเท่านั้น แต่เป็นฟ้องร้องพยาบาลที่ทำคลอดแล้ว ทำให้พยาบาลกลัวไม่กล้าปฏิบัติการรักษาเช่นเดิมอย่างในอดีตที่ทำมา ซึ่งการฟ้องร้องในอดีตมีไม่มากนัก แต่เมื่อเป็นข่าวก็กระทบต่อขวัญกำลังใจของประชาชนด้วย

ทั้งนี้ เรื่องห้ามผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลเป็นผู้ให้ยาหรือสารละลายทางหลอดเลือดดำ 3 ประเภท ได้แก่ 1.ในกลุ่มสารละลายทึบรังสีทุกชนิด 2.กลุ่มยาระงับความรู้สึกที่ให้ทางหลอดเลือดดำ 3.กลุ่มยาเคมีบำบัด เว้นแต่พยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรมวิสัญญีพยาบาลมาเฉพาะทาง
กำลังโหลดความคิดเห็น