xs
xsm
sm
md
lg

“พยาบาล” โวยถูกจิกหัวใช้เยี่ยงทาส ประกาศเลิกฉีดสี-ยาชา-คีโมคนไข้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พยาบาล” ฉุนโดนหมอจิกหัวใช้เยี่ยงทาส เลี่ยงถูกฟ้องให้ทำหน้าที่ฉีดเคโม-ฉีดสี-ยาชา แก่คนไข้ ทั้งที่เป็นหน้าที่หมอ หนีปัญหาถูกร้องเรียนหากเกิดความผิดพลาด ทั้งที่การฉีดทั้ง 3 ประเภทเป็นหน้าที่หมอโดยตรง โดยนางฟ้าชุดขาวประกาศสไตรก์แขวนเข็มฉีดยา เลิกฉีดยาหรือสารละลายทางหลอดเลือดดำ

ศ.พรจันทร์ สุวรรณชาต อุปนายกสภาการพยาบาล คนที่ 2 กล่าวว่า สภาการพยาบาลได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา เรื่องห้ามผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลเป็นผู้ให้ยาหรือสารละลายทางหลอดเลือดดำ 3 ประเภท ได้แก่ 1.กลุ่มสารละลายทึบรังสีทุกชนิด 2.กลุ่มยาระงับความรู้สึกที่ให้ทางหลอดเลือดดำ และ 3.กลุ่มยาเคมีบำบัด เว้นแต่พยาบาลวิชาชีพที่ได้ผ่านการอบรมวิสัญญีพยาบาลเฉพาะทาง เนื่องจากงานเหล่านี้เป็นงานของแพทย์ แต่แพทย์ไม่ยอมปฏิบัติ จึงโยนมาเป็นภาระหน้าที่ของพยาบาลที่ต้องดำเนินการ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด พยาบาลทำหน้าที่หลายๆ อย่างแทนแพทย์เยอะมาก เพราะคนไข้มากแต่แพทย์พยาบาลมีน้อย

“ที่ผ่านมามีคดีการฟ้องร้อง เนื่องจากการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำจนทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อกจนเสียชีวิต แพทย์จึงไม่อยากทำ โอนภาระหน้าที่มาให้พยาบาลเป็นผู้เสี่ยงแทน การออกประกาศฉบับนื้ทำให้หมอเดือดร้อน เพราะต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานเอง อยากถามว่าใครตกเป็นเหยื่อ พยาบาลเป็นหนังหน้าไฟ ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะแพทย์เป็นผู้บังคับบัญชา ทั้งที่ความเป็นจริง พยาบาลไม่มีสิทธิ์ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติได้ อีกทั้งแพทย์ก็ไม่รับฟัง ซึ่งขอบอกไว้ก่อนว่า พยาบาลไม่ใช่ผู้ช่วยแพทย์ แต่ที่ทำงานไปเพราะถือว่าช่วยๆ กัน” ศ.พรจันทร์ กล่าว

ศ.พรจันทร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ตัวแทนแพทย์จากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ได้เดินมาเยี่ยมคาราวะนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สธ. และได้ร้องเรียนต่อ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ. เนื่องจากประกาศดังกล่าวทำให้แพทย์ต้องปฏิบัติเองและเกิดความลำบากในการทำงาน ดังนั้น คงต้องติดตามดูกันต่อไป เพราะหากปลัดกระทรวงสาธารณสุขออกคำสั่งให้พยาบาลปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ก็ลองดูว่าถ้าศึกษามาโดยตรงแล้วไม่ปฏิบัติ แต่โยนมาให้ผู้อื่นต้องทำแทนจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

“ตัวอย่างกรณีของผู้ป่วยรายหนึ่ง เกิดแผลลึกจากการผ่าตัดคลอดบุตร จึงต้องมีการเย็บแผล แต่กรณีดังกล่าวแผลลึกมากจนเกินความสามารถ และต้องให้แพทย์เป็นผู้ดำเนินการให้ได้ แต่กรณีดังกล่าวพยาบาลเป็นผู้ดำเนินการเอง ทำให้แผลกว่าที่จะหายดี ผู้ป่วยต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลนานถึง 56 วัน แต่ถ้าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจใช้ระยะเวลาเพียง 6-7 วันเท่านั้น” ศ.พรจันทร์ กล่าว

ศ.พรจันทร์ กล่าวว่า ข้อจำกัดทางวิชาชีพการพยาบาลนั้น หากการฉีดยาปกติ ทำแผลเป็นเรื่องที่พยาบาลสามารถดำเนินการได้ แต่กับยา 3 กลุ่มดังกล่าวถือว่าเป็นยาอันตราย การให้พยาบาลมาฉีดยาเหล่านี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ซึ่งการออกประกาศดังกล่าวถือว่าเป็นการคุ้มครองประชาชนที่ต้องเสี่ยงกับความไม่ชำนาญจากการใช้ยาดังกล่าว รวมถึงพยาบาลก็จะปลอดภัยด้วยเช่นกัน

“ที่ประชุมเห็นด้วยและดีใจที่ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว ทำให้พยาบาลสามารถปฏิเสธคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ได้ หากเห็นว่าการดำเนินการฉีดยาหรือสารละลายในกลุ่มดังกล่าวแล้วจะทำเป็นอันตรายกับคนไข้ เพราะแพทย์ไม่สามารถพูดได้ว่า ไม่เป็นไร ผมรับผิดชอบเอง แต่ในทางกฎหมายแล้ว หากพยาบาลดำเนินการจนเกิดความผิดพลาด พยาบาลเป็นผู้กระทำผิด ไม่มีใครรับผิดแทนได้” ศ.พรจันทร์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น