xs
xsm
sm
md
lg

“ทอสี” โรงเรียนวิถีพุทธ บ่มความรู้คู่วิชาชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในซอยปรีดีพนมยงค์ 41 เขตวัฒนา มีโรงเรียนตั้งอยู่หลายแห่ง โดยสัดส่วนของนานาชาติเบียดมาเป็นที่หนึ่ง แต่มีโรงเรียนน่ารักๆ แห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ 2 ไร่ ทว่าร่มเย็นและสงบ นั่นคือ โรงเรียนทอสี ซึ่งคนทั่วไปคงไม่ใคร่จะคุ้นหูนัก แต่หากพูดถึงโรงเรียนวิถีพุทธยุคแรกๆ ทอสีย่อมมีชื่อติดในอันดับต้นไล่เลี่ยกับโรงเรียนรุ่งอรุณซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี

บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ ครูใหญ่โรงเรียนทอสี ให้ข้อมูลว่า ทอสีเริ่มก่อตั้งในปี 2534 เปิดเป็นอนุบาลแนวเตรียมความพร้อม เน้นให้เด็กเรียนรู้มากกว่าสอนวิชาการ แต่ในปี 2544 ได้เปิดระดับประถมศึกษาและประกาศตัวเป็นโรงเรียนวิถีพุทธอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งได้รับคำปรึกษาจาก พระอาจารย์ชยสาโร อดีตเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ

“เป้าหมายของการศึกษาวิถีพุทธ ก็คือ พัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยเน้นการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ด้วยหลักไตรสิกขา (ศีล-สมาธิ-ปัญญา) ภาวนา 4 โยนิโสมนสิการคือการคิดให้ถูกวิธี 10 ประการ โดยประยุกต์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 ของกระทรวงศึกษาเป็นแกนกลาง บูรณาการวิชาความรู้ไม่ให้แยกจากชีวิต ไม่เพียงแต่เด็กจะได้ความรู้จากหนังสือเท่านั้นในหนึ่งวันของเขาอะไรที่ครูเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาก็จะสอดแทรกเข้ามา”

“เราจึงใช้วิชาชีวิตแทนวิชาการ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ครูมองเห็นภาพว่าวิชาการที่นักเรียนจะได้ เขาสามารถเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เรื่องขยะ ปกติวิชาการจะสอนว่าประเภทขยะมี เปียก แห้ง เศษอาหาร การรีไซเคิล เป็นต้น แต่วิถีพุทธจะสอนว่าขยะมี 3 ชนิด ได้แค่ ขยะนอกกาย ขยะในกาย และขยะในใจ ซึ่งนักเรียนจะสามารถจัดการขยะแต่ละประเภทได้ การตั้งคำถามจึงเป็นสิ่งสำคัญ”

ดังนั้น จุดเด่นของโรงเรียนทอสีจึงอยู่ที่บุคลากรผู้มีทักษะในการปลูกฝังธรรมะให้กับเด็กอย่างธรรมชาติ เป็นกัลยาณมิตร และมีเพียงพอสำหรับจำนวนเด็ก โดยเน้นที่อัตราส่วนที่ครู 1 คนต่อนักเรียน 15 คน และรับนักเรียนไม่เกิน 30 คนในแต่ละชั้นเรียน โดยปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 300 คนและครู 60 คน

นอกจากนี้ พัชนา มหพันธ์ หัวหน้าสำนักวิชาชีวิตฝ่ายประถม เสริมอีกว่า ไม่เพียงแต่จะพัฒนาเด็กนักเรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เท่านั้น โรงเรียนยังพัฒนาผู้ปกครองด้วย ซึ่งศีล 5 เป็นธรรมะขั้นแรกที่ทุกคนต้องมี เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยแปลงเป็นบทสวดให้เด็กอาราธนาทุกเช้า

“สำหรับนักเรียน ครูจะมีวิธีตั้งคำถามเพื่อที่จะให้เขาใช้ความคิด และหาเหตุรองรับผลด้วยตนเอง ซึ่งนี่คือหลักของอริยสัจ 4 แต่ก็ไม่ได้สุดโต่งขนาดที่ว่า เด็กที่เรียนหรือจบจากโรงเรียนนี้จะได้ธรรมะอย่างเดียวแต่ไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ ก็ไม่ใช่ เพราะจากนักเรียนที่จบจากทอสีสามารถอยู่ในโรงเรียนใหญ่ๆ ได้อย่างไม่อายใครทั้งทักษะความรู้ ความสามารถทางด้านกีฬา และศิลปะ ซึ่งข้อดีของการมีนักเรียนน้อย ทำให้เราได้พัฒนาศักยภาพของนักเรียนแต่ละคนได้ดี ผู้ปกครองพอใจ และเด็กก็มีความรักโรงเรียนแต่ที่สุดแล้ว เขาจะเป็นคนที่มีความภูมิใจ ศรัทธาในตัวเองและมีฉันทะสูง”

ทั้งนี้ ก่อนที่นักเรียนจะเริ่มเรียนในแต่ละปี จะมีพิธีการที่เรียกว่า “ปวารณาตัว” ซึ่งทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครองจะต้องเข้าร่วม เป็นการอนุญาตให้อีกฝ่ายสามารถตักเตือน ชื่นชม กันได้ และท้ายปีจะมีพิธีขอ “อโหสิกรรม” เพื่อขอโทษซึ่งกันและกัน ทำให้การอยู่ร่วมกันของครู นักเรียน โรงเรียนและบ้านเป็นไปอย่างเป็นมิตร

วิธีการคัดเลือกครอบครัวที่จะเข้ามาเป็นมิตรนั้น ผู้ปกครองจะต้องมาดูและรับฟังแนวคิดของโรงเรียนด้วยตนเอง ซึ่งหากตัดสินใจเลือกแล้วก็เขียนใบสมัคร และสัมภาษณ์ผู้ปกครองถึงความเข้าใจในหลักการของโรงเรียนเพียงใด เพื่อที่จะสำรวจว่าวิถีของเขาเข้ากับโรงเรียนได้หรือไม่ โดยค่าใช้จ่ายสำหรับบ่มเพาะชีวิตระดับอนุบาลจะอยู่ที่เทอมละ 20,000-30,000 บาท ประถมศึกษา 30,000-40,000 บาท ซึ่งหากคิดถึงจุดคุ้มทุนแล้ว คุณภาพที่ได้นับว่าไม่แพง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยล่วงหน้า 1 ปีเพื่อทำการบ้าน และตัดสินใจก่อนเขียนใบสมัคร เพราะหากช้ากว่านั้น ที่นั่งแสนน้อยในทอสีก็จะถูกจับจองเต็มเสียก่อนแล้ว

เพื่อขยายโรงเรียนวิถีพุทธให้กว้างมากขึ้น และเพื่อพัฒนานักเรียนในระดับประถมต่อเนื่องจนกว่าจะถึงระดับมหาวิทยาลัย จึงมีโครงการโรงเรียนปัญญาประทีป(มัธยมทอสี) เป็นโรงเรียนประจำอยู่ท่ามกลางขุนเขา อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยจะเปิดรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2552 จำนวน 25-50 คน เพื่อที่จะให้สร้างให้เป็นแหล่งบ่มเพาะปัญญา และพัฒนามนุษย์อย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น