xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยพบ “ยุงลาย” ดื้อดีดีที 100% หวั่นไข้เลือดออกระบาดหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัย มช.พบ ยุงลาย ดื้อดีดีที 100% ขณะที่สารเคมีอีก 2 กลุ่ม ก็เริ่มมีอัตราการดื้อยาสูงขึ้นประมาณ 20-30% ห่วงไทยเป็นเหมือนแอฟริกา ไข้เลือดออกระบาดหนัก เหตุยุงสามารถแพร่เชื้อได้ยาวนานขึ้น แนะใช้วิธีกำจัดลูกน้ำดีกว่า

น.ส.ละเอียด ประพันธดารา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) นักวิจัยโครงการ “การดื้อต่อสารเคมีฆ่าแมลงในยุงก้นปล่องและยุงลายพาหะนำเชื้อโรคมาลาเรียและไข้เลือดออก” กล่าวว่า จากการวิจัย โดยการลงพื้นที่ในแถบภาคเหนือ เพื่อวิจัยการดื้อยาฆ่าแมลงในยุง โดยการศึกษากลไกการดื้อต่อสารเคมี ดีดีที และกลุ่มไพรีทรอยด์ และสารเคมีที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันเช่น เพอร์เมธริน เดลต้าเมธริน ซึ่งเป็นสารเคมีกลุ่มที่ใช้มากในประเทศไทย ทั้งแบบพ่นของสาธารณสุขต่างๆ และยาฆ่าแมลงในบ้านเรือน พบว่า ขณะนี้ ยุงลายส่วนใหญ่ดื้อต่อ ดีดีที 100% ส่วนสารเคมีอีก 2 กลุ่ม เริ่มมีอัตราการดื้อยาสูงขึ้นประมาณ 20-30% ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะยุงสามารถแพร่เชื้อได้ยาวนานขึ้น โดยเฉพาะยุงที่มีเชื้อไข้เลือดออก

“การดื้อยาในแมลงต่างๆ เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หากแมลงโดนยาฆ่าแมลงเพียงเล็กน้อยในครั้งแรก จะไม่ตาย และสร้างภูมิต้านทาน จนกลายเป็นการดื้อยาฆ่าแมลงชนิดนั้น และสามารถถ่ายทอดการดื้อยานี้ ให้ลูกหลานที่แพร่พันธุ์ออกไปด้วย ซึ่งการที่คนใช้ยาฆ่าแมลงชนิดแรงขึ้นเรื่อยๆ นั้น จะทำให้ยุง แมลง เกิดการดื้อยามากขึ้นด้วย” น.ส.ละเอียด กล่าว

น.ส.ละเอียด กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดการดื้อยาฆ่าแมลง เพราะการใช้ยาฆ่าแมลงในประเทศไทย ไม่มีการควบคุมและใช้ตามใจชอบ โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะมีการจัดซื้อยาฆ่าแมลง ที่จะนำไปฉีดพ่นเอง โดยไม่มีการตรวจสอบมาก่อนว่ายุงจะดื้อยาฆ่าแมลงชนิดดังกล่าวหรือไม่ ทำให้ขณะนี้ เมื่อตรวจสอบในหลายพื้นที่จึงพบการดื้อยาฆ่าแมลงแล้ว นอกจากนี้ ยังพบว่ายาฆ่าแมลงในบ้านเรือนก็เป็นชนิดเดียวกัน ที่พบการดื้อยา จึงควรใช้วิธีการกำจัดลูกน้ำ ก่อนที่จะเป็นตัวด้วยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ เพื่อลดการใช้ยาฆ่าแมลงลง

“หากยังมีการใช้ยาฆ่าแมลงชนิดที่มีฤทธิ์แรงขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดการดื้อยา จนไม่สามารถควบคุมการแพร่พันธ์ยุงได้ และน่าเป็นห่วงหากมีการระบาดเกิดขึ้น ยาฆ่าแมลงที่ใช้อยู่ก็จะไม่สามารถทำลายยุงได้ อาจทำให้สถานการณ์การระบาดของไทย เหมือนกับประเทศแอฟริกา หรือ ศรีลังกา ได้ เพราะพบว่าหน่วยงานต่างชาติที่เข้าไปไม่มีการควบคุมยาฆ่าแมลงที่ใช้เช่นกัน ทำให้เกิดการดื้อยาในที่สุด” น.ส.ละเอียด กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น