xs
xsm
sm
md
lg

“วัยใส” กับ สำนึกรักษ์พลังงาน ที่ “ร.ร.เทศบาลคุ้มหนองคู”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากดูเพียงผิวเผินแล้ว โรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู ก็คงมิได้มีรายละเอียดอันแตกต่างไปจากโรงเรียนประถมศึกษาอื่นๆ ในจังหวัดขอนแก่น หรือโรงเรียนประถมศึกษาในต่างจังหวัดทั่วๆ ไป กับขนาดพื้นที่เพียง 3 ไร่ และนักเรียนเพียงแค่ 540 คน แต่หากเมื่อลงลึกถึงรายละเอียด สิ่งที่ก่อให้เกิดความแตกต่างในโรงเรียนดังกล่าว อยู่ที่การฝึกและปลูกฝังจิตสำนึกแก่เด็กและเยาวชนให้รู้รักษ์พลังงานโดยเฉพาะการให้ความสำคัญแก่พลังงานทดแทน

ด้วยเหตุนี้ทำให้โรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม ประเภทพลังงาน จาก โครงการสำนึกรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม “ตามรอยพ่อ”

** “พลังงานทดแทน” เพื่ออนาคต
การให้ความสำคัญต่อพลังงานทดแทนถือเป็นจุดเด่นของโรงเรียนนี้ โดยเฉพาะเรื่องของการนำน้ำมันพืชใช้แล้วมาผลิตเป็น “น้ำมันไบโอดีเซล” จากการเห็นถึงปัญหาของชุมชนโดยรอบโรงเรียนที่แต่ละครอบครัว มักจะมีการใช้น้ำมันพืชแบบซ้ำกันหลายครั้ง นี่เองจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดมะเร็ง อีกทั้งบางรายไม่รู้จักการทำลายที่ดี เมื่อไม่ใช้แล้วก็ทิ้งลงสู่พื้นที่สาธารณะ หากทิ้งลงในท่อระบายน้ำจะทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน ด้วยเหตุนี้ทางโรงเรียนจึงรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วจากคนในชุมชน เพื่อนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล

ผู้เชี่ยวชาญรุ่นเยาว์อย่าง “น้องเฟิร์น” - พรสินี กิมปิ ชั้น ป.6 ให้ข้อมูลถึงขั้นตอนการผลิต ว่า ให้นำน้ำมันพืชใช้แล้วประมาณ 1 ลิตร มาอุ่นที่อุณหภูมิ 54 องศาเซลเซียส ระหว่างนั้นก็เตรียมสารเคมีโดยเติมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ 1 ช้อนชา หรือประมาณ 8-9 กรัม แล้วคนให้เข้ากันกับแอลกอฮอล์ 250 ซีซี เมื่อคนจนเข้ากันแล้วให้เทสารทั้งสองลงไปในน้ำมันที่อุ่นได้ที่

จากนั้นคนให้เข้ากันอีกครั้งประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้สารทำปฏิกิริยากับน้ำมันพืช ขั้นตอนต่อไปเรียกว่าการล้างน้ำ โดยให้เติมน้ำลงไป 10% ของน้ำมันคนให้เข้ากันประมาณ 10-15 นาที เพื่อที่น้ำจะนำอากาศเข้าไปผสม เสร็จแล้วทิ้งไว้ประมาณ 8 ชั่วโมง น้ำมันจะแยกตัวเป็น 3 ชั้น ชั้นล่างสุด คือ กลีเซอรอล ซึ่งสามารถนำไปทำปุ๋ยได้ ชั้นกลางเป็นน้ำ ส่วนชั้นบนสุดเป็นน้ำมันไบโอดีเซลนั่นเอง แต่ถึงอย่างไรสัดส่วนการผลิตนี้เป็นเพียงแค่การทดลองแต่หากกระบวนการจริงจะใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพมากกว่านี้ ซึ่งภายในโรงเรียนเองก็มีอยู่ 1 เครื่อง โดยจะให้ปริมาณน้ำมันเยอะกว่า สามารถผลิตน้ำมันไบโอดีเซลได้ถึงวันละ 40 ลิตร

“น้ำมันที่เราผลิตได้จะนำมาใช้เติมรถตู้ของโรงเรียน ซึ่งการใช้งานก็เป็นไปอย่างปกติโดยไม่มีปัญหาด้านเครื่องยนต์แต่อย่างใด และน้ำมันอีกส่วนหนึ่งก็จะเติมให้กับรถเก็บขยะของเทศบาล อีกทั้งยังนำไปสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนในชุมชน โดยเติมให้แก่รถไถนา หรือเครื่องปั้มน้ำต่างๆ เพื่อให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญในการตระหนักถึงการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการจัดการกับน้ำมันพืชที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธีอีกด้วย” น้องเฟิร์น อธิบายเสริม

อีกหนึ่งโครงการด้านพลังงานทดแทน คือ การนำ “พลังงานจากแสงอาทิตย์” มาใช้ภายในโรงเรียนโดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคาของอาคาร ซึ่งขั้นตอนการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้นั้น แผงโซลาร์เซลล์ จะเป็นตัวรวบรวมพลังงานที่อยู่ในรูปของไฟฟ้ากระแสตรง จากนั้นจะส่งพลังงานมาเก็บไว้ในแบตเตอรี
จากนั้นพลังงานก็จะถูกส่งต่อไปยังเครื่องแปลงพลังงานไฟฟ้า ที่เปลี่ยนรูปแบบของพลังงานจากไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระแสสลับ เพื่อนำไปใช้ภายในโรงเรียนต่อไป ซึ่งจะใช้กับไฟทางเดินภายในโรงเรียนที่เปิดไว้ตลอดคืน เป็นการลดค่าใช้จ่ายให้แก่โรงเรียนเป็นอย่างดี

** จัดการน้ำ โครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม
ในส่วนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมนั้น “น้องเจมส์” ศรัทธาชัย แก้วกงพาน ชั้น ป.6 อธิบายถึงโครงการด้านสิ่งแวดล้อมว่า การ “รีไซเคิลน้ำ” ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยการนำน้ำที่ใช้แล้ว เช่น น้ำจากการชำระล้างต่างๆ ภายในโรงเรียนทั้งหมด มาพักไว้ที่บ่อพักน้ำเสีย จากนั้นจะปล่อยให้น้ำล้นมายังบ่อที่ 2 ซึ่งเป็นบ่อกรองโดยจะมีชั้นของหิน ทราย และถ่าน เป็นตัวกรองให้น้ำใสและดูดกลิ่น น้ำที่ผ่านการกรองแล้วจะล้นไปยังบ่อที่ 3 เพื่อเตรียมใช้งาน
โดยน้ำที่ได้จากการรีไซเคิลนี้จะผ่านเครื่องปั๊มน้ำที่เติมด้วยน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งจะนำไปใช้ในการรดน้ำต้นไม้ภายในแปลงเกษตรของโรงเรียน และใช้ในการปลูกพืชไร้ดิน (Hydroponics) อีกทั้งไฟฟ้าที่ใช้ในแปลงปลูกผักนี้ก็มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ อีกเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า ทุกกิจกรรมของนักเรียนนั้นสามารถนำทั้งไบโอดีเซล และไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ได้ทั้งสิ้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามใช้พลังงานทุกชนิดให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด

** ต่อยอดความคิด สิ่งประดิษฐ์เพื่อการอนุรักษ์
ด้าน อ.กนกพร ศิริมาลา ครูชำนาญการพิเศษ คศ.3 เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เสริมว่า นักเรียนสามารถต่อยอดความรู้ในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน อย่างเช่น จักรยานสีข้าว, จักรยานซักผ้า และ จักรยานปั๊มน้ำ ที่เป็นการประยุกต์กลไกจักรยานที่ใช้คนปั่นแทนการใช้พลังงานจากไฟฟ้า นอกจากจะไม่ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานแล้วยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัว อีกทั้งยังมีตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ใช้ในการถนอมอาหารได้ดีไม่แพ้เตาอบไมโครเวฟ
 
อ.กนกพร ยังสรุปอีกว่า การที่เด็กสามารถนำความคิดในเรื่องราวของการอนุรักษ์พลังงานมาต่อยอด และประยุกต์เป็นสิ่งประดิษฐ์นั้นแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเกิดจิตสำนึกในการลดใช้พลังงาน เป็นการปลูกฝังการเอาใจใส่ต่อพลังงาน สิ่งแวดล้อมอย่างดีที่สุด

ทางฝั่งของเยาวชนคนเก่งอย่าง “น้องท๊อป” นัฐพงษ์ มูลละคร ชั้น ป.6 กล่าวถึงการร่วมอนุรักษ์พลังงานครั้งนี้ ว่า ตอนนี้ประชากรโลกเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้พลังงานก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ไม่นานพลังงานอาจจะหมดไป จึงอยากให้เพื่อนๆ เล็งเห็นถึงการประหยัดพลังงาน และให้กลับมาใส่ใจกับพลังงานทดแทน เพราะต่อไปคิดว่าจะเข้ามามีบทบาทค่อนข้างสูง เมื่อตอนนี้ทุกประเทศต่างก็คิดค้นหาวิธีการเพื่อจะรองรับกับการขาดหายไปของพลังงาน
 
ด้านน้ำมันก็ขึ้นราคาทุกวัน จึงอยากให้นำสิ่งที่คิดว่าหมดค่าอย่างน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาผลิตเป็นไบโอดีเซล หรือหากเราไม่สามารถทำเองได้ก็อยากให้เก็บไปให้ผู้ที่รับซื้อ ไม่ควรจะทิ้งตามแหล่งธรรมชาติ เพราะจะเกิดปัญหาตามมามากมาย

“สิ่งที่พวกเราทำเพียงต้องการจะสะท้อนให้คนในสังคมได้หันกลับมาให้ความสนใจในเรื่องของพลังงานสิ่งแวดล้อม ในเวลานี้พวกเราอาจจะบอกคนในครอบครัว คนในชุมชนเท่านั้น แต่ต่อไปอยากให้คนทั้งประเทศได้ตระหนักให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และการมีจิตใจอนุรักษ์นี้เองเป็นสิ่งที่พวกเราเยาวชนควรจะทำที่สุด เพราะการอนุรักษ์พลังงานในวันนี้จะทำให้เรามีพลังงานไว้ใช้ในอนาคต” น้องท๊อป ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น