ผลวิจัยเผยชีวิตสาวพิการสุดรันทด ถูกจับทำหมันไม่รู้ตัว เพราะกลัวมีลูกเป็นภาระสังคม แถมโดนปิดกั้นเรื่องเซ็กซ์ อยากเสพสุขได้แค่เพียงสัมผัส แต่ก็ถูกตั้งข้อรังเกียจ เหตุคนไม่เข้าใจ อาจารย์ มธ.ชี้ พิการก็คนอยากมีชีวิตเหมือนผู้หญิงคนอื่น เครือข่ายผู้หญิง-คนพิการ-สสส.เร่งหาทางแก้ ป้องกันเยาวชนพิการถูกละเมิดสิทธิ์
ดร.เพ็ญจันทร์ ประดับมุข-เชอร์เรอร์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการศึกษาชีวิตด้านเพศของผู้หญิงพิการ พบผู้หญิงพิการเป็นกลุ่มที่ถูกควบคุมเรื่องเพศเกือบทุกด้าน ตั้งแต่ห้ามไม่ให้มีความรัก ไม่ให้มีความรู้สึก และความต้องการทางเพศยิ่งกว่านั้นส่วนใหญ่จะถูกบังคับ หรือพูดจาหว่านล้อมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ทำหมันโดยที่เจ้าตัวไม่เต็มใจ หรือบางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าถูกทำหมันไปแล้ว ส่วนคนที่ตั้งท้องจะถูกตำหนิจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่าไม่มีความรับผิดชอบ มีลูกให้เป็นภาระของสังคม ส่วนการมีเพศสัมพันธ์ของหญิงพิการที่ใช้เพียงการสัมผัสก็ยังถูกสังคมมองว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด
“ผู้หญิงพิการคนหนึ่ง บอกว่า เกิดเป็นผู้หญิงการพูดเรื่องเพศก็ยากแล้ว แต่ยิ่งเป็นหญิงพิการการจะพูดเรื่องเพศก็ยากมากขึ้นไปอีก สังคมจะประณามว่าไม่เจียมตัว เพราะหญิงพิการถูกมองว่าไม่มีเพศ สังคมกลัวว่าเราจะถูกข่มขืนแล้วท้อง ก็เลยจับเราไปทำหมัน แต่อยากจะถามว่าทำหมันแล้วป้องกันไม่ให้ถูกข่มขืนได้ไหม อยากบอกว่า คนพิการไม่ได้ต้องการข้าวสารอาหารแห้ง การสงเคราะห์แบบเมตตาสงสาร แต่ต้องการการปกป้องสิทธิ ไม่ได้ต้องการอยู่แต่ในบ้านหรือสถานสงเคราะห์” ดร. เพ็ญจันทร์ กล่าว
รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าหากสังคมไทยไม่เลิกคาดหวัง ว่า ผู้หญิงต้องเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบ คอยดูแลอาบน้ำ ให้นมลูก ผู้หญิงที่พร้อมมีลูกได้ ต้องมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์เท่านั้น ความคิดเช่นนี้จะปิดโอกาสของหญิงพิการที่จะมีชีวิตเหมือนกับมนุษย์คนอื่นๆ อีกทั้งสังคมไทยยังมองการมีเพศสัมพันธ์แบบแคบๆ ว่า ต้องปฏิบัติเพื่อให้มีลูกเท่านั้น แต่เพศสัมพันธ์ของหญิงพิการเป็นการสัมผัส เพื่อให้เกิดความสุขทางเพศที่สังคมไทยมักจะรังเกียจความสุขประเภทนี้
“สังคมไทยมีความแปลกประหลาดสูง เพราะคาดหวังกับเด็กไว้มาก มองว่า เป็นอนาคตของชาติ แต่รัฐกลับลงทุนกับเด็กน้อยมาก และผลักภาระมาให้แม่เป็นคนดูแลทุกเรื่องเพียงคนเดียว จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ของหญิงพิการได้ สังคมต้องปรับความคิดหลายเรื่อง ทั้งความคิดเกี่ยวกับการเป็นแม่ รูปแบบของเพศสัมพันธ์เพื่อความสุขทางเพศ และการลงทุนจัดสวัสดิการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ชีวิตของผู้หญิงพิการประเภทต่างๆ” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าว
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผจก.แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลเรื่องนี้เปิดเผยในงานประชุมเพศวิถีศึกษาในสังคมไทย ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย เพื่อสร้างความเข้าใจและขยายมุมมองเรื่องเพศให้สังคมรับรู้ จากการลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับหญิงพิการหลายกลุ่ม เจอปัญหาถูกทำหมันเช่นเดียวกัน อย่างสมาคมคนหูหนวก หญิงพิการหูหนวกจะมีอัตราการแต่งงานมากกว่าหญิงพิการประเภทอื่น เพราะภาวะภายนอกปกติเหมือนผู้หญิงทั่วไป และมีความฝันจะมีลูก ได้เป็นแม่เหมือนผู้หญิงปกติ
“แต่หลายคนที่แต่งงานแล้วก็ไม่ท้องเสียที จึงไปปรึกษาแพทย์ แล้วถึงได้รู้ความจริงที่โหดร้ายว่าตนเองทำหมันไปแล้ว ชีวิตนี้พวกเธอจะมีลูกไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้ตัวเลยด้วยซ้ำ ว่าโดนทำหมันไปตั้งแต่เมื่อไร หญิงพิการหลายกลุ่มกำลังรวมตัวกัน เพื่อหาทางแก้ปัญหานี้ ไม่ให้เยาวชนพิการที่รุ่นต่อๆ ไป ต้องถูกละเมิดสิทธิ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องหาทางออกร่วมกัน” น.ส.ณัฐยา กล่าว