ฮูบุกไทยถอดบทเรียนซีแอลทำรายงานเสนอรัฐบาลใหม่ ภายใน 7-10 วัน ขณะที่ เอ็นจีโอ-สปสช.เสนอให้ฮูสนับสนุนไทยว่าทำซีแอลถูกต้อง อย่างเป็นรูปธรรม
วันนี้ (4 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เดินทางเข้าพบคณะทำงานดำเนินการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เครือข่ายภาคประชาชน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมควบคุมโรค เพื่อหารือและขอข้อมูลเกี่ยวกับการที่ประเทศไทยทำซีแอลยาเพื่อถอดเป็นบทเรียนที่สำคัญ
นายวิรัตน์ ภู่ระหงษ์ ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในการหารือร่วมกันระหว่างทีมผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก กับเครือข่ายภาคประชาชน อาทิ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ฯ เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง องค์การหมอไร้พรมแดน ฯลฯ ซึ่งร่วมกันขับเคลื่อนผลักดันให้รัฐบาลทำซีแอลเพื่อให้ผู้ป่วยที่ยากจนสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น โดยเสนอให้ทางองค์การอนามัยโลก ประกาศอย่างเป็นทางการในการสนับสนุนประเทศไทยในการทำซีแอลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน และให้ข้อแนะนำในการที่ประเทศไทยจะทำซีแอล เพื่อลดผลกระทบและความกดดัน โดยเฉพาะทางด้านการค้าจากต่างประเทศทั้ง สหภาพยุโรป (อียู) ประเทศสหรัฐอเมริกา
“ทีมผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถที่จะรับปากประกาศจุดยืนได้ว่า สิ่งที่ไทยทำถูกต้อง โดยไม่ต้องวิตกกังวลอะไร หรือจะบอกสื่อสารกับคนเหล่านี้อย่างไรให้เข้าใจ หรือสนับสนุนให้ไทยหรือประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายสามารถทำซีแอลได้โดยองค์การอนามัยโลก หรือ องค์การการค้าโลกให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่” นายวิรัตน์ กล่าว
นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในการประชุมส่วนใหญ่ทางฝ่ายทีมงานจากองค์การอนามัยโลก จะเป็นผู้ซักถามถึงสาเหตุที่ไทยต้องทำซีแอล และขอข้อมูลการการเข้าถึงยาทั้งก่อนและหลังที่เราจะทำซีแอล ซึ่งเขาต้องการได้ข้อมูลเป็นตัวเลขที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์มากกว่า เพื่อดูว่าการทำซีแอลได้ประโยชน์จริงหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ ทางเครือข่ายจะประสานกับสปสช.พยายามนำข้อมูลการใช้ยาต่างๆ มามอบให้ประกอบการทำรายงาน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รายงานที่ออกมาฉบับนี้จะส่งผลช่วยให้นานาประเทศเข้าใจการทำซีแอลในประเทศไทยมากขึ้น
“ถ้าถามว่า พอใจในการหารือครั้งนี้หรือไม่ คงยังไม่พอใจ โดยเห็นว่า การเดินทางมาครั้งนี้ของทีมองค์การอนามัยโลกอาจไม่ช่วยอะไรได้มากนัก แต่ก็น่าจะมีประโยชน์กับรัฐบาลชุใหม่ หากมีการนำเสนอผลรายงานกับรมว.สธ.และช่วยผลักดันให้ รมว.สธ.คนใหม่ ตัดสินใจทำซีแอล” นายวิรัตน์ กล่าว
ด้านนพ.พอล คอร์ธอร์น หัวหน้าโครงการองค์กรหมอไร้พรมแดน กล่าวว่า บรรยากาศที่ได้ร่วมหารือกับตัวแทนองค์การอนามัยโลกกว่า 2 ชั่วโมงครึ่งเป็นไปด้วยดีมาก โดยได้สอบถามถึงความคิดเห็นของภาคสังคมต่อการทำซีแอล ซึ่งหลังจากนี้ทางทีมงานขององค์การอนามัยโลกจะไปพบกับอุตสาหกรรมยา กระทรวงการต่างประเทศ ฯลฯ จะเสร็จสิ้นในวันที่ 6 ก.พ.นี้ ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกแจ้งว่า จะสรุปเรื่องภายใน 7-10 วัน เพื่อเป็นบทเรียนให้กับรัฐบาลใหม่และประชาสังคมในการเป็นแบบแผนในการทำซีแอลต่อไป
“นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข ได้เชิญองค์การอนามัยโลกมาประเมินการทำซีแอลของไทย ดังนั้น เมื่อพวกเขาสรุปรายงานเสร็จก็จะส่งรายงานดังกล่าวให้กับรัฐบาลชุดที่กำลังจะมาปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพื่อสามารถเป็นแบบแผนในการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงยาได้ และเป็นเรื่องที่ดีที่ภาคสังคมได้เรียนรู้ร่วมกัน”นพ.พอล กล่าว
ด้านนพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเจรจาต่อรองราคายา กล่าวว่า ภายหลังจากองค์การอนามัยโลกได้ขอข้อมูลจากอย.เป็นเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งได้สอบถามถึงเรื่องกระบวนการเจรจากับบริษัทยาของไทย การพิจารณาทำซีแอล ขั้นตอนการทำซีแอล การเปิดกว้างรับข้อเสนอหรือไม่ รวมถึงบทเรียนที่ไทยได้รับจากการทำซีแอล
“ทั้งหมดที่ถามมา เราได้ตอบกลับไปว่า สธ.พยายามเปิดกว้างและพิจารณารอบคอบมากที่สุด เพราะข้อเสนอของแต่ละบริษัทไม่ได้ลดราคายาเลย แต่จะมาในรูปแบบของการแถมและงานวิชาการ ซึ่งไม่ไม่มีความแน่นอนและยั่งยืน อีกทั้งไทยยังโดนการตอบโต้จากบริษัทยาด้วยการถอนการขึ้นทะเบียนยาใหม่จากอย.ภายหลังจากประกาศซีแอลด้วย” นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจาก สปสช.ที่ได้ร่วมการหารือครั้งนี้ กล่าวว่า สปสช.ได้เสนอข้อเรียกร้องต่อองค์การอนามัยโลก 4 ข้อ คือ 1.องค์การอนามัยโลกควรจะสนับสนุนการทำซีแอลอย่างเป็นทางการ ว่า ไทยทำถูกต้องถูกกฎหมาย 2.องค์การอนามัยโลกจะต้องสนับสนุนให้ประเทศที่ต้องการทำซีแอลได้เข้าถึงข้อมูลยาสามัญที่ครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับข้อมูลยาสามัญของประเทศอินเดียเท่านั้น 3.อยากให้องค์การอนามัยโลกรับรองคุณภาพมาตรฐานยาสามัญ ที่มีอยู่ ไม่เฉพาะยาต้านไวรัสเท่านั้น แต่รวมถึงยามะเร็งและยาที่จำเป็นชนิดอื่นๆ ด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วย 4.ควรให้ความรู้และให้คำแนะนำในการรับมือบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตร และสหรัฐอเมริกา เพื่อลดผลกระทบ