xs
xsm
sm
md
lg

อนุมัติตั้งโรงขยายแบบพระเมรุ 3 โรง ที่ท้องสนามหลวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธานวิศวกรรมโครงสร้างพระเมรุ ประชุมแบ่งงาน ระบุแบบพิมพ์เขียวโครงสร้างรูปตัดพระเมรุแล้วเสร็จแล้ว 50% วางแผนพิมพ์เขียวเสร็จต้นมีนาคมนี้ เผยติดตั้งลิฟต์ 3 จุด โดยลงนามอนุมัติแบบโรงขยายแบบให้สำนักสถาปัตกรรมลงมือสร้างโรงขยายแบบ 3 โรงในท้องสนามหลวงได้ทันที

วันนี้ (30 ม.ค.) ที่สำนักสถาปัตยกรรม เทเวศน์ นายอารักษ์ สังหิตกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะประธานวิศวกรรมโครงสร้างพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับคณะวิศวกร กรมศิลปากร ว่า ตนได้กำหนดแนวทางการออกแบบโครงสร้าง และอาคารประกอบให้แก่วิศวกร 4 ข้อ ได้แก่ 1.การก่อสร้างครั้งนี้เป็นอาคารแบบชั่วคราวทั้งหมด 2.อาคารที่ก่อสร้างเมื่อเลิกใช้แล้ว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้ 3.โครงสร้างวัสดุที่ใช้ต้องมีความแข็งแรง ปลอดภัยในการใช้งาน และ 4.โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้เนื้อแข็ง อาทิ ไม้ยาง ไม้เต็ง เป็นต้น รวมทั้งเหล็กรูปพรรณประกอบกัน

นายอารักษ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับลิฟต์ทางเสด็จฯ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ รวมทั้งระบบการเคลื่อนตัวของลิฟต์ ว่า จะใช้แรงคนหรือแรงเครื่องจักร โดยจะมีการติดตั้งลิฟต์ 3 จุด ได้แก่ พระที่นั่งทรงธรรม 2 จุด และบริเวณพระเมรุ 1 จุด ซึ่งในส่วนของพระเมรุจะติดตั้งลิฟต์ทางทิศตะวันตกของพระเมรุ ฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ ตนยังได้เน้นย้ำเรื่องความแข็งแรงของโครงสร้างโดยรอบของพระเมรุจะต้องสามารถรับน้ำหนักของคนจำนวนมากได้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่คณะทำงานจะต้องดูแลอย่างละเอียดรอบคอบ

“ขณะนี้ผมได้ลงนามอนุมัติแบบร่างโรงขยายแบบเพื่อให้สำนักสถาปัตยกรรม ลงมือปลูกสร้างโรงขยายแบบขนาด กว้าง 9.50 เมตร ยาว 25 เมตร ภายในท้องสนามหลวง จำนวน 3 โรง ประกอบด้วย โรงขยายแบบ โรงสร้างพระโกศจันทน์ และโรงปั้นหล่อ ได้ทันที โดยไม่ต้องรอพิธีบวงสรวง เนื่องจากพิธีบวงสรวงจะเกี่ยวข้องเฉพาะการก่อสร้างพระเมรุ และการบูรณะราชรถเท่านั้น เพราะการก่อสร้างสถาปัตยกรรมไทย ต้องขยายรูปแบบลวดลายเท่ากับขนาดจริงในการก่อสร้าง หากไม่ขยายลายให้ถูกต้อง สิ่งก่อสร้างก็จะออกมาไม่สมส่วนและไม่สวยงาม อย่างไรก็ตาม การลงฐานรากของพระเมรุจะต้องทำในช่วงหน้าแล้งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคม เพราะหากทำในช่วงหน้าฝนอาจจะทำให้เกิดปัญหาการวางฐานรากได้”

ด้านนายไพบูลย์ ผลมาก ผอ.สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กล่าวว่า ขณะนี้แบบพิมพ์เขียว โครงสร้างรูปตัดพระเมรุ ได้ดำเนินการเสร็จแล้วประมาณ 50 % จากนั้นตนจะมอบให้คณะวิศวกรรมพิจารณาเรื่องโครงสร้างความแข็งแรง ซึ่งมีนายอารักษ์ เป็นประธาน เพื่อคำนวณโครงสร้างความคงทนแข็งแรง ให้มีความสอดคล้องกับสถาปัตยกรรมที่ออกแบบไว้ ซึ่งหากแบบพิมพ์เขียวไม่ติดขัดหรือมีปัญหาใดๆ เมื่อโครงสร้างทางวิศวกรรมพระเมรุเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะสามารถใส่ลวดลายทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมได้ทันที
 
ทั้งนี้ การทำงานด้านวิศวกรรมถือว่าเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ ที่คาดว่าจะใช้เวลาในการออกแบบโครงสร้าง ประมาณ 1 เดือน โดยจะแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนมีนาคม
กำลังโหลดความคิดเห็น