xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานต่างด้าวได้เฮ! ก.แรงงานเปิดต่อทะเบียนต่างด้าวตั้งแต่ 21 ม.ค.-27 เม.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แรงงานต่างด้าวได้เฮ! ก.แรงงานเปิดจดทะเบียนต่างด้าวบัตรขาดอายุตั้งแต่ปี 47 ตั้งแต่21 ม.ค.-27 เม.ย. และเตรียมประกาศเก็บเงินค่าใช้แรงงานต่างด้าว-เก็บเงินแรงงานตั้งกองทุนส่งกลับ-ให้ทำงานระหว่างถูกเนรเทศได้

นายมนูญ ปุญญกริยากร อธิบดีกรมการจัดหางาน แถลงข่าวการจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2551 ว่า รัฐบาลได้มีมติในการจัดระเบียบแรงงานต่างที่อยู่ในประเทศ โดยนายจ้างที่มีลูกจ้าง เป็นแรงงานต่างด้าว ที่มีใบอนุญาต ท.ร.38/1 ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นไป ให้นำมาจดทะเบียน และขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวในปี 2551 ระหว่างวันที่ 21 ม.ค - 27 เม.ย. ทั้งนี้จะต้องนำตัวแรงงานต่างด้าวไปตรวจสุขภาพในระหว่างวันที่ 21 ม.ค - 5 มี.ค. อย่างไรก็ตาม ในการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนนั้นแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ที่หมดอายุในวันที่ 28 ก.พ. จำนวน 141,289 คน สามารถมาต่ออายุได้ตั้งแต่วันที่ 1-28 ก.พ. กลุ่มที่ 2 ผู้ที่หมดอายุในวันที่ 14 มี.ค. จำนวน 10,540 คน สามารถมาต่ออายุได้ตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. -14 มี.ค. และกลุ่มที่ 3 ผู้ที่หมดอายุในวันที่ 30 มิ.ย. จำนวน 394,443 คน สามารถมาต่ออายุได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย. รวมทั้งแรงงานต่างด้าวที่เคยมารายตัวและจดทะเบียนไว้กับกรมการปกครอง เฉพาะผู้ที่เคยมี ท.ร.38/1 อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและทำงานได้เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี สิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ. 2553 เท่ากันทุกกลุ่ม ซึ่งแรงงานต่างด้าวดังกล่าวนั้น จะต้องมาขอใบอนุญาตทำงานให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด

นายมนูญ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังเร่งผลักดัน พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ....โดยมีเนื้อหาสาระเปลี่ยนวิธีการกำหนดโควตาแรงงานต่างด้าวให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากในอดีตเคยใช้วิธีการกำหนดโควตาให้แต่ละจังหวัด ทำให้ผู้ประกอบการขอโควตาแรงงานต่างด้าวเกินความต้องการที่แท้จริง ส่งผลให้เกิดปัญหาไม่ทราบความต้องการแรงงานอย่างแท้จริงและปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนานโดยให้นายจ้างเสียค่าธรรมเนียมในการจ้างแรงงานเพื่อป้องกันไม่ให้นายจ้างแจ้งความต้องการจ้างเกินจำนวน ซึ่งค่าธรรมเนียมจะคิดเป็นรายหัว หากนายจ้างแจ้งจำนวนความต้องการเกินความต้องการก็จำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียมมากตามไปด้วย โดยอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวขณะนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ( TDRI) กำลังศึกษาความเหมาะสม

ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมโควตาที่จะเก็บกับผู้ประกอบการเป็นจำนวนเท่าไรนั้น นายมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่จะดำเนินการส่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณา และผ่านการพิจารณาโปรดเกล้าฯ แล้วถึงจะสามารถประกาศเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ได้ หลังจากนั้น จึงจะมาพิจารณากันต่อไปว่าจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราเท่าใดซึ่งจะดูจากอัตราการเรียกเก็บของประเทศเพื่อนบ้านเป็นองค์ประกอบด้วยแต่ต้องเป็นอย่างเหมาะสม

นายมนูญ กล่าวด้วยว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ถูกเนรเทศหนีเข้าเมือง และถูกเพิกถอนสัญชาติ และอยู่ในระหว่างรอส่งกลับประเทศ มีสิทธิ์ในการขอใบอนุญาตทำงานได้ชั่วคราว เนื่องจากในขณะนี้เรามีแรงงานทั้ง 3 กลุ่ม อยู่ในประเทศเป็นจำนวนมากทำให้เราต้องสูญเสียงบประมาณของรัฐในการดูแลแรงงานกลุ่มดังกล่าว ซึ่งหากทางการไทยให้แรงงานต่างด้าวสามารถประกอบอาชีพหรือทำงานในระหว่างที่รอการส่งกลับก็จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการดูแลแรงงานกลุ่มนี้ ทั้งนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับประเทศโดยให้นายจ้างหักเงินเดือนของลูกจ้างในแต่ละเดือนมาเข้ากองทุน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการคิดอัตราเก็บเงินเข้ากองทุน

นายมนูญ กล่าวต่อว่า กฎหมายฉบับนี้ยังให้อำนาจเจ้าหน้ากระทรวงแรงงานมีอำนาจในการจับกุมแรงงานต่างด้าวที่กระทำความผิดได้โดยไม่ต้องขอหมายศาลหรือตำรวจหากเจอด้วยตนเองโดยตนมองว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิใคร และเสรีภาพแต่อย่างใดเพราะว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกระทำก็ต่อเมื่อมีเหตุผลที่สมควร ทั้งนี้เพื่อเป็นการสะดวกต่อการควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ต่างจากเดิมที่ต้องรอหมายศาลหรือแจ้งตำรวจมาจับนั้นแรงงานพวกนี้ก็หนีไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น