xs
xsm
sm
md
lg

เผย “4 ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” จากทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เผยผลการคัดเลือกยอดครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครูทั่วประเทศ 76 จังหวัด เหลือเพียง 4 คน ได้แก่ นางสุลีลา จันทนู ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสำนัก อ.กะเปอร์ จ.ระนอง จ่าสิบตำรวจโสภณ ฤทธิสาร โรงเรียนวัดช่องลาภ จ.ราชบุรี นายบรรจง สมบัติ โรงเรียนหนองเรือวิทยา จ.ขอนแก่น และ นายสมประสงค์ มั่งอะนะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จ.ตาก

สุลีลา จันทนู ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสำนัก อ.กะเปอร์ จ.ระนอง กล่าวว่า กล่า 19 ปีที่รับราชการครู ได้ถือคติพจน์ในการทำงานมาตลอดชีวิต “ทำความดี ช่วยเหลือสังคม อุทิศตนเพื่อเด็ก” โดยงานที่ทำจะเป็นการช่วยเหลือเด็กผู้หญิงและครอบครัวที่ประสบปัญหาถูกละเมิด ถูกข่มขืน ถูกทำร้าย เป็นต้น ซึ่งจะดูแลทั้งหมดไม่ว่าเด็กของเราจะเป็นผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย หากเขาร้องขอมาจะยื่นมือเข้าไปช่วยโดยไม่มีการเกี่ยงว่าจะอยู่ห่างไกล ทุรกันดารเพียงใด

ส่วนวิธีการทำงานนั้น ทำลักษณะระบบเครือข่ายสหวิชาชีพของจังหวัด มีโรงพยาบาล อสม. รวมถึงหน่วยงานในจังหวัดใต้ และประเทศไทย “ใครโทร.เข้ามาแจ้ง เราจะประสานเครือข่ายให้เข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งเครือข่ายของเรามีเป้าหมายเด็กอยู่รอดปลอดภัยและไม่มีการทอดทิ้งถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายปี ทั้งนี้ เคยมีเด็กถูกข่มขืนแล้วเกิดท้อง คลอดลูกเราก็ติดตามชีวิตความเป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง กระทั่งวันหนึ่งด็กโทรมาขอความช่วยเหลือโดยบอกว่าลูกหนูถึงวัยเข้าโรงเรียน เราก็ประสานไปยังโรงเรียนที่เด็กคนนั้นอาศัยอยู่และเข้าโรงเรียนใกล้บ้าน หรือบางทีเราเจอเด็กเดินอยู่ข้างถนน จึงไปถามเด็กว่าทำไมไม่ไปโรงเรียน เมื่อซักถามรายละเอียดก็ปัญหา เราจึงส่งไปที่ราชประชานุเคราะห์ นอกจากนี้ยังมีโครงการครอบครัวอบอุ่นเสนอให้แก่ยูนิเซฟ 4 โครงการ และทางยูนิเซฟจ้างคนทำงานไว้ 4 อบต.”

สุลีลา ให้เหตุผลในการทุ่มเทแรงใจแรงกายและเงินว่า ฐานะที่เป็นข้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเห็นพระองค์เป็นแบบอย่างในการเสียสละ อดทนและทรงงานโดยไม่ย่อท้อและเหน็ดเหนื่อย จึงตั้งปณิธานว่าจะทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือเด็ก ผสมผสานกับถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ทุกคน

จ่าสิบตำรวจโสภณ ฤทธิสาร  เมื่อปี 2518 เป็นครู ร.ร.ตำรวจชายแดนบ้านหนองจอก อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งขณะนั้นเป็นเขตอิทธิพลของผู้ก่อการร้าย ตอนนั้นนอกจากทำหน้าที่พ่อพิมพ์ให้แก่นักเรียนแล้ว ยังช่วยรักษาพยาบาลชาวบ้านที่เจ็บป่วยจากไข้มาเลเรีย ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล และครั้งหนึ่งได้มีโอกาสสนองงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการทดลองการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เป็นครั้งแรก เพื่อช่วยเหลือนักเรียนและชาวบ้านที่ขาดสารอาหาร ให้ได้มีรับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ จากนั้น ได้มีการขยายโครงการดังกล่าวไปยังโรงเรียน ตชด.ทั่วประเทศ

กระทั่งเมื่อปี 2532 ได้โอนมาเป็นครูสังกัด ศธ.และได้ย้ายไปสอนโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่ง ล่าสุดสอนอยู่ที่โรงเรียนวัดช่องลาภ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และกำลังจะถูกยุบเพราะมีนักเรียนไม่ถึง 50 คน จึงร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนพัฒนาการเรียนการสอนและปรับสภาพภูมิทัศน์ของโรงเรียน โดยนำชาวบ้าเข้ามามีส่วนร่วมในโรงเรียนช่วยกันทำอาหารกลางวัน เป็นเวรยามรักษาความปลอดภัยในเวลากลางคืน เป็นวิทยากรท้องถิ่น ส่งผลให้โรงเรียนมีสภาพดีขึ้น ชาวบ้านส่งบุตรหลานมาเรียนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีนักเรียน 114 คน

พร้อมกันนี้ยังได้สร้างโอกาสให้ทางการศึกษาแก่เด็กๆ เพราะเด็กที่นี่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ จึงได้จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร เช่น การสวดมนต์หมู่ทำนองสรภัญญะ การเล่นดนตรีไทยและวงดุริยางค์ การแสดงละครภาษาอังกฤษ และกิจกรรมอื่นๆ ทำให้ผลการเรียนของทุกคนดีขึ้น สามารถพัฒนาตนเองจนได้รับรางวัลพระราชทานหลายคน แล้วเด็กมีโอกาสได้เรียนในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง

“โรงเรียนวัดช่องลาภ น่าจะเป็นตัวอย่างโรงเรียนพัฒนา จากโรงเรียนที่กำลังจะถูกยุบกลายเป็นโรงเรียนต้นแบบของ สพฐ. ให้หน่วยงานต่างๆ เข้าไปศึกษาดูงาน” จ่าสิบตำรวจโสภณ ฝันว่าจะพัฒนาโรงเรียนต่อไปเพื่อไม่ให้เด็กไหลไปเรียนในเมือง เพราะโรงเรียนในเมืองล้นเนื่องจากเด็กตามป่าเขาไปเรียน มีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กอยู่ในป่าและไม่ต้องมาเรียนในเมือง แต่มีคุณภาพไม่ด้อยกว่านักเรียนในเมือง

บรรจง สมบัติ โรงเรียนหนองเรือวิทยา จ.ขอนแก่น เล่าว่า เดิมทีเป็นครูสอนพุทธศาสนา แล้วมีความถนัดในการเล่นฟุตบอล แต่โรงเรียนขาดครูสอนวอลเลย์บอล พูดง่ายๆ ว่าเล่นไม่เป็นเลยไม่รู้แม้กระทั่งกฎกติกาต่างๆ จึงให้เพื่อนที่มีความเชี่ยวชาญวอลเลย์บอลมาสอนให้ ตนก็จดทุกขั้นตอนและหัดเล่นจนเป็น จากนั้นจึงนำความรู้มาสอนนักเรียน ช่วง 2 ปีแรกที่ทำทีมพานักเรียนไปแข่งที่ไหนแพ้ตลอด ซึ่งมีเด็กนักเรียนคนหนึ่งถามว่าทำไมเราไม่เคยชนะโรงเรียนไหนเลย ตนก็บอกว่าขยันซ้อมวันหนึ่งเราต้องชนะ

“ผมหาเด็กสูงๆ มาทำทีม และขออนุญาตทางโรงเรียนให้เด็กพักอาศัยอยู่ที่โรงเรียน อย่างไรก็ตาม การที่ให้เด็กมาพักนั้นไม่ใช่จะให้เด็กซ้อมวอลเลย์บอลเพียงอย่างเดียว เราจะจัดตารางให้เด็กมีระเบียบวินัย ให้เด็กอ่านหนังสือทุกวัน ผลปรากฏว่าผลการเรียนดี กีฬาเด่น พาทีมไปแข่งทีไหนก็ชนะเลิศ

ปัจจุบันจากทีมวอลเลย์บอลโรงเรียน กลายเป็นหมู่บ้านวอลเลย์บอล โดยมีระบบการดูแลนักเรียนแบบครอบครัว พ่อดูแลลูก พี่ดูแลน้อง เราจะดูทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน การใช้เงิน คบเพื่อน จนกระทั่งจบปริญญาตรี วันนี้ลูกศิษย์ของเราหลายคนติดทีมชาติ และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ”

สมประสงค์ มั่งอะนะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จ.ตาก เล่าว่า ครั้งแรกที่เห็นสภาพนักเรียน ครู รู้สึกสังเวชใจ ในสถานะของความเป็นมนุษย์ที่เกิดในผืนแผ่นดินไทย แต่ไม่ได้รับโอกาสเช่นผู้คนในพื้นที่อื่นๆ เพราะความเป็นชนบท ห่างไกล กันดาร ติดชายแดนพม่า

ความสังเวชนี่เองที่จุดประกายให้เร่งเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจครู ด้วยการให้สัญญาว่า “จะอยู่ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ที่นี่ไม่น้อยกว่า 4 ปี” จึงได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่อุ้มผาง จากนั้นประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กเพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาตามวัย แม้ว่าจะไร้สัญชาติ หรือมีฐานะยากจน

สมประสงค์ บอกว่า ตนต้องบุกป่าไปตามบ้านเรือนเพื่อทำความเข้าใจแก่ชาวบ้าน เพื่อให้ส่งเด็กมาเรียนหนังสือ โดยบอกว่ามาเรียนหนังสือกับครูนะลูก ไม่ต้องเสียเงินสักบาท แต่เมื่อกลับบ้านแล้วจะมีเงินมาฝากพ่อแม่อีกด้วย

“ผมอธิบายจนกระทั่งผู้ปกครองเข้าใจ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาคิดว่าการเรียนระดับมัธยมจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่าหนังสือ แต่ผมบอกว่าไม่ต้องเสียเลยแม้แต่สตางค์แดงเดียว โดยผมและครูเสียสละเงิน พร้อมกับบากหน้าไปขอสปอนเซอร์จากบริษัท องค์กรต่างๆ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างที่เด็กเรียนกับเรา และเงินทุกบาทที่ได้จะให้เด็กทำบัญชีว่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และทุกครั้งที่เด็กกลับบ้านจะมีเงินติดมือไปฝากพ่อแม่ โดยเราจะให้เด็กขายผ้าผืนเมือง กำไรให้เด็กนำไปให้ครอบครัว”




กำลังโหลดความคิดเห็น