xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโลก “กะเทย” ในรั้วมหาวิทยาลัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่ทราบกันดีว่า “มหาวิทยาลัย” เป็นพื้นที่ในการใฝ่หา วิชา ความรู้ แต่ที่นี้เองยังเป็นที่บรรจุรวมของกลุ่มคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักศึกษาร้อยพ่อพันแม่ ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา และกลุ่มคนเพศที่ 3 อย่างกะเทย ที่ตอนนี้พื้นที่ยืนในสังคมของพวกเขาได้เปิดกว้างมากกว่าอดีตที่ไม่มีการยอมรับกลุ่มคนเหล่านี้
“กะเทยในมหาวิทยาลัย” จึงเป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก ในเรื่องของการที่พวกเขาถูกยกให้เป็นจุดสนใจ ไม่ว่าจะทำอะไร กิจกรรมเกือบทุกกิจกรรมที่ทำต่างไม่เคยห่างจากเงาของกะเทย ตอนนี้เรียกได้ว่าพวกเขาเข้ามามีบทบาทอย่างมาก

** “ก้มหน้ายอมรับ” กับอคติส่วนบุคคล
จากประเด็นดังกล่าวทำให้มีการศึกษาทำเป็นบทความเชิงวิจัยในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดย ผศ.มนตรา พงษ์นิล จากสาขาพัฒนาสังคม สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พะเยา ที่ใช้ชื่อการศึกษาครั้งนี้ว่า “กะเทยในมหาวิทยาลัย ความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศ”

ผศ.มนตรา อธิบายถึงผลการศึกษา ว่า กะเทยจะมีความโดดเด่นในแต่ละมหาวิทยาลัย แต่จากการพูดคุยและหาข้อมูล กลับพบว่า ภายใต้บทบาทดังกล่าวพวกเขาต้องเจอกับสภาวะที่บีบคั้น เช่น บางรายจะเจอปัญหาในเรื่องของการแต่งกาย ที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีระเบียบที่ไม่เหมือนกัน บางแห่งกะเทยสามารถแต่งชุดนักศึกษาหญิงได้ บางแห่งห้ามแต่งในการเข้าสอบ ในส่วนของการแสดงออกผ่านกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยนั้น พวกเขาจะแสดงออกถึงความสามารถในด้านต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ แต่ในทางกลับกัน หากงานดังกล่าวมีผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยเข้ามาเกี่ยวข้อง พวกเขาก็จะต้องยอมลดบทบาทของตัวเองลง เพราะในมหาวิทยาลับผู้บริหาร อาจารย์ หรือแม้กระทั่งนักศึกษาบางคนยังไม่สามารถที่จะรับพฤติกรรมของพวกเขาได้

“ในส่วนของการแสดงออกในมหาวิทยาลัยนั้น เห็นได้ว่า พวกเขามีความสุขในการใช้ชีวิต แต่การแสดงออกทางเพศ ก็ต้องอยู่ในกรอบนโยบายของมหาวิทยาลัยเช่นกันว่า ข้อห้ามต่างๆ อย่างเรื่องการแต่งกายห้าม แต่งเป็นผู้หญิง ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดปัญหา เพราะจิตใจของพวกเขาบางคนอยากแต่งเป็นผู้หญิงทุกวันไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ น่าจะมีการผลักดันในเชิงนโยบายให้เกิดขึ้น อนุญาตให้นักศึกษากลุ่มนี้แต่งกายได้ตามที่เขาต้องการ หรือออกเครื่องแบบสำหรับบุคคลกลุ่มนี้ เพราะพวกเขาควรจะได้รับอิสระในการคิด โดยอยู่ในระเบียบ แต่ระเบียบตัวนี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ผู้ชายและผู้หญิงเท่านั้น น่าจะมีระเบียบสำหรับกะเทยขึ้น” ผศ.มนตรา เสนอแนะ

** “ห้าม” ไม่ใช่ทางออกเสมอไป
ด้าน รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นในเรื่องเดียวกันนี้ ว่า มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ที่ต้องพูดกันด้วยปัญญาความรู้ เพราะฉะนั้นในมหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่ที่ต้องให้ความเคารพทางเลือก ในสิ่งที่แตกต่างและหลากหลาย ซึ่งข้อเท็จจริงในประเทศไทยเองนั้นก็ต้องชื่นชมมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่มีความเคารพในเรื่องนี้ มีความเข้าใจในสภาวการณ์ปัจจุบัน เช่น ไม่ห้ามนักศึกษาซึ่งเป็นผู้ชายแต่มีความรู้สึกเป็นผู้หญิงอย่างสาวประเภทสอง แต่งตัวเป็นผู้หญิง

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้การแต่งกายของนักศึกษา ก็เป็นเรื่องที่ทุกมหาวิทยาลัยต่างครุ่นคิดเหมือนกันหมด เช่น การแต่งชุดเสื้อที่คับ รัดติ้ว ของนักศึกษาหญิง แต่ความเป็นจริงแล้วก็บังคับเขาไม่ได้ วัยรุ่น หรือเยาวชนเป็นวัยที่มีหนทางของตัวเอง มีความเป็นตัวของตัวเองอยู่มาก ถ้าใช้วิถีทางของการบังคับจึงไม่ใช่เป็นทางออกที่ดี ต้องเปลี่ยนเป็นการสร้างความเข้าใจ

“ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับมุมมองที่อะไรก็ตามที่เยาวชน วัยรุ่นทำจะเป็นปัญหาไปทุกเรื่อง นั่นแสดงว่าสังคมไทยไม่มีวุฒิภาวะ คือ พยายามที่จะดันคน แยกคนเป็นกลุ่มๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมนี้เราต้องช่วยกันให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ที่ต้องคุยกันในเรื่องพวกนี้ ควรหยิบยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาหารือ หาทางออกสำหรับปัญหา แต่ละมหาวิทยาลัย ต้องมีทางเลือกของตัวเอง แต่ทุกวันนี้สิ่งที่เราพบมาก คือ มีผู้ชายที่อยากจะเป็นผู้หญิง แต่ไปเรียนหมอแล้วแต่งผู้หญิงมีหรือไม่ คำตอบคือ...มี และมหาวิทยาลัยก็ยอมรับได้” รศ.ดร.กฤตยา เสนอความเห็น

กับคำถามที่ว่าทำไมปัจจุบันกลุ่มกะเทยทั้งจากภายนอก และภายในมหาวิทยาลัย จึงเยอะขึ้น รศ.ดร.กฤตยา กล่าวเสริมว่า จริงๆ แล้ว ไม่ได้เป็นการเพิ่มจำนวนเยอะขึ้น แต่ปัจจุบันนี้มีพื้นที่เปิดมากขึ้น ผู้คนให้ความสำคัญมากขึ้น กลุ่มเหล่านี้จึงเริ่มเปิดตัวกับสังคม มีการรวมกลุ่ม กันมากขึ้น ทำให้มีการเข้าใจกัน อย่างน้อยเรื่องนี้ก็มีการพูดคุยกันในระดับวิชาการ ระดับชาติ ระดับประเทศ ความเข้าใจในเรื่องนี้จึงมีมากขึ้นมีเรื่อยๆ

** ใช้ชีวิตใน ม.อย่างมีสติ เพื่ออนาคตที่ดี
สิ่งหนึ่งที่ยังมีการพูดถึงกันมาก คือ การแสดงออกของกะเทยทั้งจากการสร้างสีสันในมหาวิทยาลัย และในที่สาธารณะ จนดูเกินเลยไปบ้างนั้น

ในเรื่องนี้ ดนัย ลินจงรัตน์ ผู้อำนวยการสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย บอกว่า กะเทยมีอยู่ทุกที่ของสังคมไทย แต่จุดที่น่าสนใจ คือ การที่กะเทยจากต่างที่ต่างถิ่นมากระจุกอยู่ในมหาวิทยาลัย เนื่องจากการเรียนในมหาวิทยาลัยนั้น จะเป็นข้ออ้างที่ดีในการเข้ามารวมตัวกัน เพราะหลายคนเมื่ออยู่ที่บ้านจะไม่ได้แสดงออกถึงพฤติกรรมของตนเองมากนัก แต่เมื่อต้องห่างไกลบ้านมา แล้วมาพบกับอีกสังคมที่มีการใช้ชีวิตอย่างอิสระ และพบกับกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเหมือนกัน ทำให้สังคมของกะเทยในมหาวิทยาลัยเป็นสังคมที่ทำให้พวกเขาได้ปลดปล่อยพฤติกรรมได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ คนในสังคมส่วนใหญ่คงคิดเหมือนกัน ว่า หากมีกิจกรรมที่ต้องแสดงออก คนแรกที่นึกถึงคือกะเทย เนื่องจากความกล้าแสดงออกของพวกเขาจึงทำให้ กลุ่มคนเหล่านี้ถูกจัดการให้แสดง ร้อง เล่น เต้น ต่างๆนาๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ดี โดยอยากให้วางตัวอย่างมีสติ เพราะชีวิตกะเทยในมหาวิทยาลัยนั้น ส่วนใหญ่จะดึงหรือรับทุกสิ่งทุกอย่างทั้งดีไม่ดีเข้ามา ทำให้สามารถศึกษาความเป็นตัวของตัวเองได้เยอะขึ้น และศึกษาการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมให้มากที่สุด ต้องเรียนรู้ให้ได้ว่ามหาวิทยาลัย เป็นเพียงแค่เมืองสมมุติเท่านั้น เพราะเมื่อจบออกมาทำงานเมืองจำลองนั้นจะไม่เหมือนโลกแห่งความจริงที่จะได้เจอ

มาถึงตรงนี้ ผศ.มนตรา ได้สรุปไว้ว่า ปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แนวคิดเสรี การแสดงออกด้านความคิดความเห็นต่างๆ หรือกระแสต่างๆ มีความเป็นพลวัตรทางสังคมค่อนข้างสูง ทำให้บทบาททางเพศของกะเทยเป็นไปอย่างซับซ้อน จึงอยากจะนำเสนอในเชิงนโยบายในสิ่งที่ได้ค้นคว้าทำการศึกษาวิจัย เพื่อเป็นการผลักดันให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะอยากเห็นนักศึกษากะเทย ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในรั้วมหาวิทยาลัย
กำลังโหลดความคิดเห็น