การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริจาคเงินจำนวน 179 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลยะลา ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยขนาด 6 ชั้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ขยายบริการประชาชนในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะได้รับบริการเพิ่มขึ้น ทั้งการฟอกด้วยเครื่องไตเทียมและการล้างไตทางช่องท้อง
นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงมีคุณูปการต่อประชาชนที่เจ็บป่วย และกระทรวงสาธารณสุขอย่างหาที่สุดมิได้ กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการสานต่อพระปณิธานต่อไปอย่างต่อเนื่อง ในการนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วย ขนาด 6 ชั้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและให้บริการประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบด้วย จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และจังหวัดใกล้เคียง ได้รับการสนับสนุนจากพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้บริจาคงบก่อสร้างทั้งหมดจำนวน 179 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างขอพระบรมราชานุญาต อัญเชิญพระนามสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ประจำอาคารผู้ป่วย
ด้านนพ.วัฒนา วัฒนายากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา กล่าวว่า อาคารผู้ป่วยที่จะก่อสร้างครั้งนี้ โรงพยาบาลยะลาได้วางแผนใช้ทำการขยายบริการล้างไตผู้ป่วยที่มีปัญหาไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งมีประมาณ 36 ราย และพบรายใหม่เพิ่มปีละประมาณ 75 ราย โดยเปิดให้บริการล้างไต 2 ระบบคือล้างด้วยเครื่องไตเทียมซึ่งมีเครื่องล้างทั้งหมด 10 เครื่อง และการล้างไตทางช่องท้อง ผู้ป่วยจะได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้จะสามารถลดความแออัดของผู้ป่วยนอก ซึ่งต่อวันมีมากถึง 1,500 ราย และผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษา ในโรงพยาบาล มีอัตราการครองเตียงมากกว่าร้อยละ 100 เนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ผู้บาดเจ็บนอนรักษาตัวนานกว่าผู้ป่วยปกติ 5-10 เท่าตัว ขณะที่โรงพยาบาลมีเตียงรองรับได้ 500 เตียง
ทั้งนี้ อาคารชั้นที่ 1 จะเป็นแผนกผู้ป่วยนอก ชั้นที่ 2 เป็นหน่วยไตเทียมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และใช้บางส่วนเป็นหอผู้ป่วยหนัก ชั้นที่ 3 และ 4 เป็นหอผู้ป่วยสามัญ ส่วนชั้นที่ 5 และ 6 เป็นหอผู้ป่วยพิเศษ พร้อมลงมือก่อสร้างประมาณเดือนกรกฎาคม 2551 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี