วุฒิสภา ถกญัตติ แก้ปมภาษีทรัมป์ แนะ “รัฐบาล” พิจารณาให้รอบคอบ ปมตั้งฐานทัพต่างชาติในไทย พร้อมเสนอให้เร่งเจรจาจีนเพื่อเพิ่มสัดส่วนการค้า หนุนลดอัตราดอกเบี้ย MLR ผู้ส่งออกไปสหรัฐฯ 1%
วันนี้ (15 ก.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา โดย นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาญัตติให้วุฒิสภาพิจารณาแนวทางในการดำเนินการเพื่อรับมือผลกระทบจากภาษีตอบโต้ของสหรัฐอเมริกา เพื่อประโยชน์สูงสุดชาติ ซึ่งตั้งญัตติโดย นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล สว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพาณิชย์และการอุตสาหกรรรม วุฒิสภา และคณะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายดังกล่าว มี สว.ร่วมอภิปรายจำนวนหนึ่ง โดยได้ย้ำถึงข้อเสนอแนะต่อการเจรจาภาษีน้ำเข้าสหรัฐต่อรัฐบาล ว่า ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดกับคนไทย และไม่ใช้ทรัพยากรของประเทศแลกเปลี่ยน หรือต่อรองผลประโยชน์อื่นของต่างชาติที่อาจกระทบต่ออธิปไตยไทย
ทั้งนี้ นายวิวรรธน์ อภิปรายปิดท้ายญัตติต่อหนึ่งว่าข้อเสนอแนะที่ต้องการให้รัฐบาลรับมือกับผลกระทบการขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ โดยใช้ความเข้าใจในมิติเศรษฐกิจ มิติการเมืองระหว่างประเทศ และมิติความมั่นคงในภูมิภาค เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ และสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยยั่งยืน การบริหารจัดการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จัดการไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไป เหมาะสมกับบริบทภูมิภาค
นายวิวรรธน์ กล่าวต่อว่าสำหรับมาตรการระยะสั้น รัฐบาลควรพิจารณาให้รอบคอบ ต่อการขอตั้งฐานทัพของต่างประเทศในประเทศไทย รวมถึงเร่งรัดการเจรจากับจีนในการส่งเสริมสัดส่วน และวัตถุดิบของไทยเพื่อเป็นประโยชน์ในความร่วมมือและสนับสนุนสินค้าเกษตรและการท่องเที่ยวไทย นอกจากนั้นรัฐบาลควรพิจารณาชดเชยภาษี 10% และธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ย MLR จำนวน 1% สำหรับผู้ส่งออกไปสหรัฐฯ
“กรณีที่รัฐบาลจะเปิดเปิดซอทฟ์โลน เป็นสิ่งที่ดี แต่ขอให้ช่วยเหลือ เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าผู้ผลิตสามารถบริหารจัดการตามที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลได้ และส่วนต่างที่ได้รับการช่วยเหลือ จะสามารถนำไปบริหารส่วนต่างของภาษี ที่ไม่กระทบต่อการส่งออกไปยังสหรัฐได้” นายวิวรรธน์ กล่าว
นายวิวรรธน์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการระยะกลางควรเร่งรัดเจรจาตกลงทางการค้า เอฟทีเอ กับประเทศที่ยังไมมีข้อตกลงหรือในกลุ่มประเทศอื่นเพื่อกระจายตลาดไปยังอื่นๆ เช่น กลุ่มอียู เป็นต้น ส่วนมาตรการระยะยาว นั้นควรส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยใช้ข้อมูลด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นส่วนประกอบ นอกจากนั้น ต้องพัฒนาบุคลากร สร้างทักษะฝีมือแรงงาน รองรับอุตสาหกรรมใหม่ และระบบเอไอที่พัฒนาต่อเนื่อง และต้องส่งเสริมสร้างแบรนด์สินค้าไทย
ทั้งนี้ นายบุญส่ง กล่าวว่า ในข้อเสนอแนะในประเด็นดังกล่าวรวมถึงการอภิปรายของ สว. จะส่งไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอมอบหมายให้ กมธ.เศรษฐกิจ การเงิน และการคลังพิจารณาศึกษาเพิ่มเติม และเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาให้พิจารณาต่อไป