“ศาล รธน.” พบสื่อ “นักวิชาการ-สื่อ” มองศาลยุคปัจจุบันปรับตัว รับคำวิจารณ์ เป็นหลักประชาธิปไตย ชี้ หากแก้ไขที่มาให้เลือกตั้งหวั่นทำระบบยุติธรรมถูกปู้ยี้ปู้ยำ เหตุตุลาการวิ่งหานักการเมือง-ฐานเสียง ขอให้ปรับการสื่อสาร เร็ว-เข้าใจง่าย
วันนี้ (14 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโครงการศาลรัฐธรรมนูญพบสื่อมวลชน ประจำปี 2568 ได้มีการ8หัวข้อ “การสร้างระบบถ่วงดุลและบทบาทหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต” โดย ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มีการตั้งคำถามว่ามีสิทธิอะไรที่ คนแค่ 9 คน มาตัดสินอนาคต หรือคนที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนโดยตรง ซึ่งปัญหาการสื่อสาร รับข้อความบ้านเรา ชอบมองที่ปลายน้ำไม่มองต้นน้ำว่าที่ถูกร้องเรียนนั้น เพราะอะไร แต่เอาปลายน้ำมาตั้งคำถาม และถามการได้มาของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าต้องการประชาธิปไตยจ๋า แบบเม็กซิโก ประชาชนเลือกตั้งศาลทุกระดับ พบว่าประชาชนใช้สิทธิแค่ 13% หรือแค่ล้านกว่าคนจากจำนวนคนของทั้งประเทศ ทำให้มีการวิจารณ์ระบบยุติธรรมของชาติตามมา ฝ่ายการเมืองก็คิดวางอำนาจของตน กลายเป็นว่าศาลต้องวิ่งหานักการเมือง วิ่งหาฐานเสียง ทำให้คนมองว่ากระบวนการยุติธรรมถูกปู้ยี่ปู้ยำ แต่ฝ่ายการเมืองบอกว่านี่คือประชาธิปไตย ดังนั้นหากเรื่องนี้เกิดขึ้นในไทย คิดว่าคนค่อนประเทศ หรือส่วนใหญ่จะสวดชยันโต ย้อนไปร้อยกว่าปี อำนาจศาล พระเดชพระคุณอยู่ที่คนคนเดียว แล้วจะเอาอย่างนั้นหรือ
“ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.นี้ มีการน้อมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการตั้งคำถามของสื่อ นักวิชาการ นักวิเคราะห์ ซึ่งนี่คือโลกของประชาธิปไตยที่ยอมรับการแสดงความเห็นหลายด้าน ผมไม่ได้มาชม แต่เห็นว่าพัฒนาการของศาลดีขึ้นตามลำดับ” นายวันวิชิต กล่าวและว่า กรณีให้มีศาลจริยธรรมตรวจสอบดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญอีกเหมือนบางประเทศ จะกลายเป็นการฟอก หรือดึงเช็ง และเป็นประเด็นถกเถียงกันอีก ทั้งนี้ผลการตัดสินย่อมมีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีการเปิดเผยมติและความเห็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นถือเป็นความโปร่งใสแล้ว อย่างมติ 7 ต่อ 2 เสียง ที่ให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ กับไม่หยุด มีคนระดับนายพลมาถามว่า ทำไมเป็นแบบนี้ นี่ แสดงว่าเขาไม่อ่านเนื้อหาข้างใน ซึ่งบรรยายเหตุผลไว้อยู่แล้วว่า เพราะอะไร และเห็นด้วยว่าควรมีโฆษกศาลฯ เพื่อตอบคำถามมากกว่าเอกสารข่าว หรือแถลงการณ์ เพื่อลดความฟุ้งซ่านของสังคม และทันต่อสถานการณ์
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า คนมองศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลการเมือง ต่างจากหลายประเทศ โดยเฉพาะปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญมา ตามรัฐธรมนูญปี 2560 มีอำนาจเพิ่มขึ้นในการตัดสินจริยธรรมนักการเมืองที่เป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะการเมืองมีหลายฝ่าย แต่ประเด็นการสื่อสารของสื่อที่มีหลายช่องทางและใช้ความเร็วในการชิงพื้นที่จึงสื่อสารสั้นๆ เช่น มติ 7:2 สั้นๆ จึงต้องมีคำอธิบายออกมาเร็ว ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีเอกสารเผยแพร่ออกมาเร็ว แต่ใช้ภาษาอ่านยาก จึงต้องพัฒนา ควรสรุปย่อคำวินิจฉัย คำสั่งของศาลฯ ที่อ่านเข้าใจง่าย ไม่ใช้ภาษากฎหมาย ภาษาศาล ส่วนกรณีที่มีการบิดถ้อยคำ หรือมีนักแบกต่างๆ นั้นเห็นว่าควรมีโฆษกศาล ที่สามารถอธิบายคำวินิจฉัยข้อสงสัย และให้ความเห็นได้
นายมนตรี จอมพันธ์ สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวว่า การได้มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการสรรหา และผ่านการเห็นชอบของวุฒิสภา เป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถาม และมีการยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในจุดนี้ เช่น ต้องให้เป็นความเห็นร่วมระหว่างรัฐสภา และวุฒิสภา ซึ่งต้องจับตาว่าจะผ่านหรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ กรณีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญล่าสุด คนที่ได้รับการสรรหาแทบได้เสียงเอกฉันท์จากกรรมการสรรหา แต่พอเสนอเข้าวุฒิสภากลับไม่ผ่าน และให้กลับไปสรรหาใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่ไม่ได้รับการสรรหาในรอบแรก รอบนี้กลับได้ และเข้าสู่รอบสุดท้ายแล้ว เรื่องนี้เราทำอะไรไม่ได้เพราะเป็นไปตามกติกาเมื่อเขียนที่มาให้เป็นแบบนี้ แต่สิ่งที่สื่อมวลชน และนักวิชาการต้องทำคือการจับตาและร่วมการกันตรวจสอบ
นายมนตรี กล่าวต่อถึงการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายต่างๆ ขณะนี้ว่าคิดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ นาทีนี้คงลำบาก ที่ผ่านมามักเอารัฐธรรมนูญมาเป็นปัญหา บอกว่าเป็นต้นไม้พิษ แต่จริงๆ คนกลับเลือกกินบางผลที่เป็นประโยชน์กับตนเอง เช่นเดียวกับเรื่องรัฐประหารที่เลือกบางอย่างมาใช้ แล้ววันนี้ก็มามองว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม คิดว่า การแก้ไขเพื่อเป็นหลักประกันทุกฝ่าย ปัญหาหนึ่งที่ผ่านมา ที่เราไม่เคยแก้เลยคือนักการเมือง หรือคน ไม่เคยมองว่าตนเองเป็นปัญหาและไม่เคยแก้ไข ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทบทวนคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เดิมที่ผ่านมาไม่มีภาระหน้าที่มากนัก แต่วันนี้ทุกอย่างมาที่ศาลรัฐธรรมนูญหมด พอเรื่องที่ไม่เป็นคุณ ก็มองว่าคน 9 คน ตัดสินไม่ถูกต้อง หรือบางครั้งคนพูดเรื่องนี้แล้วเห็นว่าเรื่องไหนที่รอก่อน ก็มาถามศาล เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติกี่ครั้ง ซึ่งย้ำว่าถ้าจะแก้จริงๆ ไม่ต้องนับหนึ่งตั้งกรรมการคณะแรกด้วยซ้ำ แถมยังแวะกลางทางเรื่อยๆ สุดท้ายต้องมาถามศาล ดังนั้นต้องทบทวนการได้มาของศาลรัฐธรรมนูญ และทบทวนบทบาทหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะเอาทุกเรื่องตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบไปให้ท่านหรือไม่ อย่างที่นักการเมืองบอกว่าเรื่องจริยธรรมให้องค์กรดูได้หรือไม่ ศาลจะได้ไม่พลอยเป็นจำเลย คำว่านิติสงครามจะได้ไม่ถูกนำมาพูดถึง ทั้งที่ศาลท่านให้ความเป็นธรรมกับผู้คนทั้งหลายที่ทำอย่างตรงไปตรงมา
“คำว่า นิติสงครามจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเกิดว่าไม่มีคนไปท้าทาย ฉวัดเฉวียน โฉบอยู่เรื่อย เส้นทุกเส้นมันเลยไปหมดแล้ว แม้กระทั่งที่เป็นข่าวอยู่วันสองวัน ถ้ามีคนไปร้องก็หาว่ากลายเป็นลูกอีช่างฟ้อง แต่ถ้าไม่ทำ เขาจะไปฟ้องไหม ก็เพราะว่าไปโฉบๆ เฉี่ยวๆ จนกระทั่งเป็นปัญหา แต่พอไม่พอใจก็บอกว่านี่เป็นนิติสงคราม”