“เท้ง” ติงรัฐบาลเจรจาสหรัฐฯ ช้า หวั่นเวียดนามได้ดีลดีกว่า ทำไทยเจรจายาก แนะ แนวทางวิน-วิน เปิดเสรีธนาคาร-โทรคมนาคม
วันนี้ (9 ก.ค.) นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเจรจาภาษีสหรัฐอเมริกา ที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ว่า เป็นสิ่งที่พรรค ปชน.สื่อสารมาตลอดว่ารัฐบาลดำเนินการเจรจาช้าไป ซึ่งประเทศเวียดนามสามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อน เปิดการเข้าถึงอย่างเต็มรูปแบบและสามารถลดภาษี 0% ให้กับสหรัฐอเมริกาได้ จึงทำให้ทางประเทศเวียดนามได้ดีลที่ดีกว่า ซึ่งอยู่ที่อัตราภาษี 20 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ไทยเจรจาภาษีกับรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น เพราะไม่ว่าจะเสนออะไรไปสหรัฐฯ ก็อาจอ้างได้ว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยให้ข้อเสนอที่ดีกว่า
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า สิ่งหนึ่งที่อยากเห็นเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยควรเสนอไปด้วยซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทั้งสหรัฐฯ และไทยวิน-วิน ทั้งคู่และได้ประโยชน์ทั้งคู่ ก็คือ การเปิดเสรีภาคบริการ เช่น ธนาคาร ธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งทั้ง 2 ภาคธุรกิจนี้ในประเทศไทยยังมีการผูกขาดและกระจุกตัวค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในรายงานของ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative หรือ USTR) ที่ระบุค่อนข้างชัดเจนว่า สหรัฐฯ ยังมีการดำเนินธุรกิจต่างๆ เหล่านี้ค่อนข้างยากในประเทศไทยอยู่ ดังนั้น หากมีการเปิดเสรีในภาคธนาคารหรือภาคโทรคมนาคม สหรัฐฯ ก็ได้ประโยชน์ในเรื่องของตลาดที่มีการแข่งขันมากขึ้น
เมื่อถามว่า ช่วงเวลาที่ค่อนข้างบีบเค้นจะเจรจาอย่างไรให้เสียเปรียบน้อยที่สุด นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า จดหมายที่ทรัมป์ส่งกลับมาให้ไทย ระบุไว้ว่า อัตราภาษีจะมีการบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม และช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่ไทยยังมีหน้าต่างหรือช่องทางในการเจรจาเพื่อลดอัตราภาษีจาก 36 เปอร์เซ็นต์ ให้ลงยังคงมีอยู่ ดังนั้น ข้อเสนอที่ไทยจะเสนอให้กับสหรัฐฯ ต้องเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจจริงๆ และเป็นข้อเสนอที่สหรัฐฯ แสดงออกว่ามีความสนใจในประเทศไทยหากดีพอก็เชื่อว่าผลการเจรจาคงไม่ได้แตกต่างออกไป
เมื่อถามว่า มองว่าตัวเลขใดที่จะสามารถปิดดีลกับสหรัฐฯ ได้ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้อาจจะไม่สามารถให้ตัวเลขเฉพาะเจาะจงได้ เพราะต้องลงไปดูในรายละเอียดสินค้าในสินค้าหนึ่งว่าไทยมีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบกับประเทศคู่แข่งการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หรือประเทศนั้นๆ กับสหรัฐอเมริกา ถ้าจะให้ตอบในหลักการก็คืออัตราภาษีที่มีการเหลื่อมล้ำกัน ย่อมส่งผลในเรื่องของความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น เมื่อดูในรายละเอียดก่อนที่รัฐบาลจะยื่นข้อเสนออะไรไปยังสหรัฐฯ การกลับมาพูดคุยกับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจต่างๆ ก่อนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด