รมว.คลัง ยอมรับช็อก สหรัฐฯ ส่งจดหมายแจ้งอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากไทย 36% แต่ยังมั่นใจจะเจรจาให้ลดลงมาได้ ก่อนเส้นตาย 1 ส.ค.
วันนี้ (8 ก.ค.) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐฯ ส่งจดหมายเรียกเก็บภาษีจากไทย 36% เมื่อคืนวันที่ 7 ก.ค. 2568 ที่ผ่านมา ว่า เรื่องนี้ยอมรับว่า มีช็อกบ้าง ช็อกนิดหน่อย แต่เราเลยจุดนี้มาแล้ว และคาดว่า การยื่นจดหมายเก็บภาษี 36% นั้น เป็นเรื่องเวลาของทั้งฝั่งไทยและสหรัฐฯ เพราะใกล้จะถึงเดดไลน์ 9 ก.ค. 2568 ตามที่สหรัฐฯกำหนดจดหมายจึงออกมาก่อน ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่ได้พิจารณาข้อเสนอใหม่ที่ไทยส่งไปล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา
“สหรัฐฯ หวังให้การเจรจามีความเข้มข้นขึ้น สหรัฐฯจึงได้ส่งกฎหมายไปประเทศต่างๆ ตามที่เคยประกาศออกไป อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่า สหรัฐฯจะประกาศลดภาษีไทยลงมาต่ำกว่า 36% แน่นอน ซึ่งจะใช้ระยะเวลาที่เหลือจากนี้เจรจาให้ทันก่อนเดดไลน์ 1 ส.ค. 2568 ซึ่งเท่ากับว่า ยังมีเวลาในการเจรจาอีก 20 วัน โดยคาดว่า ข้อเสนอเก่าที่ไทยยื่นไป สหรัฐฯอาจจะสรุปยังไม่เสร็จ ดังนั้น คาดว่า สหรัฐฯอาจจะนำข้อเสนอเก่าของไทยรวมกับข้อเสนอใหม่ แล้วรวมพิจารณาทีเดียว ซึ่งอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของภาษีที่สหรัฐฯจะเรียกเก็บกับไทยให้น้อยลง”
ทั้งนี้ เมื่อคืน (7 ก.ค.) ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของไทยประจำสหรัฐฯ ไปติดตามความคืบหน้าของข้อเสนอใหม่ที่ไทยเสนอไป โดยทางสหรัฐฯ ระบุว่า กำลังเร่งดูข้อเสนอไทยอยู่ เพราะหลายประเทศก็อยู่ในขั้นตอนของการเจรจาการค้าอยู่
นายพิชัย กล่าวต่อว่า การปรับปรุงข้อเสนอล่าสุดนั้น เราได้ดำเนินการจากที่เราได้มีการเจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้ากับสหรัฐฯ (USTR) และได้นำข้อเสนอมาปรับปรุงใหม่ ดังนั้น สิ่งที่สหรัฐฯจะดู คือ ดูจากการเปลี่ยนแปลงที่เขาได้ให้ข้อสังเกต สำหรับข้อเสนอที่ไทยให้สหรัฐฯ ไปก็ไม่น้อย ซึ่งถือว่าสูงทีเดียว โดยเราลดภาษีนำเข้าให้กับสินค้าสหรัฐฯ 90% ของสินค้าที่นำเข้ามาที่ไทย และมีบางรายการที่ภาษีนั้นเป็นศูนย์ แต่ก็มีอยู่ประมาณ 10% ที่เราให้ไม้ได้เพราะต้องดูแลผู้ประกอบการในประเทศ และต้องพิจารณามาตรการภาษีไม่ให้กระทบกับสินค้าประเทศอื่นที่ไทยทำ FTA ไปแล้วที่เรามีตลาดอยู่เช่นกัน
นายพิชัย ยังกล่าวต่อด้วยว่า ในระยะต่อไปไทยต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกมากจะมีปัญหา ซึ่งไทยพึ่งพาการส่งออกมาก และพึ่งพาตลาดที่มีการกระจุกตัว ขณะเดียวกัน เราจะต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น สร้างความแข็งแกร่งให้เกษตรกรรม และที่สำคัญเครื่องจักรทางเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่งที่ไทยเหลืออยู่ คือ การท่องเที่ยวซึ่งจะต้องมีการปรับทัพใหม่ขนาดใหญ่ เช่น การสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวให้มากขึ้น