วุฒิสภารับทราบรายงานผลการศึกษาร่างเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ กมธ.เห็นค้านเปิดกาสิโน หวั่นขัด รธน. ชี้ศก.ไม่ได้ประโยชน์ พนันไม่ใช่เครื่องมือพัฒนา เตือนเสี่ยงอาชญากรรม-ทุจริต ซ้ำซ้อนปัญหาสังคม แนะเปิดประชามติให้ ปชช.ตัดสินใจร่วมกัน
วันนี้ (7 ก.ค.) เวลา 15.25 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มี นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม รับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ วุฒิสภา โดยมี นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สว. เป็นประธาน กมธ.
นพ.วีระพันธ์ รายงานข้อสังเกตและความเห็นเบื้องต้น ว่า กมธ.ได้ศึกษาตามกรอบอำนาจหน้าที่อย่างรอบด้าน โดยได้พิจารณาข้อมูลจากเอกสารวิชาการงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลที่สืบค้นได้จากสื่อมวลชนต่างๆ และยังได้เชิญบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ อดีตนายกรัฐมนตรี นักวิชาการ ภาคประชาชน เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลให้ทันต่อสถานการณ์
นพ.วีระพันธ์ กล่าวว่า กมธ.มีข้อสังเกตและความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ในเบื้องต้น แบ่งเป็น 3 ด้านสำคัญ แต่ละด้านมีข้อย่อย ที่สะท้อนถึงข้อพิรุธหรือความไม่ชัดเจน และควรติดตามตรวจสอบพิจารณาอย่างต่อเนื่องต่อไป คือ 1. ด้านเศรษฐกิจ พบว่า กิจกรรมการพนันไม่ใช่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเป็นการโอนเงิน อุตสาหกรรมกาสิโนมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะขาลง และถูกแทนที่ด้วยการพนันออนไลน์ ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลการพนันออนไลน์จึงเป็นสิ่งที่ควรทำในสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่รัฐบาลจีนมีจุดยืนเห็นว่าการพนันขัดต่อจริยธรรม หากประเทศไทยยืนยันจะมีกาสิโน ก็อาจถูกรัฐบาลจีนกีดกันไม่ให้พลเมืองเดินทางมาท่องเที่ยว
นพ.วีระพันธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง ไม่จำเป็นต้องใช้กาสิโน ประเทศไทยมีศักยภาพหลายด้านที่ส่งเสริม เช่น อุตสาหกรรมการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม หรือ Wellness Industry รวมถึงคาดการณ์รายได้จากผู้เล่นคนไทยสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท นั้นเกินจริง เพราะต้องมีผู้เล่นเป็นจำนวนมาก ขัดกับเงื่อนไขที่คนไทยต้องมีเงินฝากในบัญชี 50 ล้านบาท ติดต่อกัน 6 เดือน
นพ.วีระพันธ์ กล่าวอีกว่า 2. ด้านสังคม และด้านอื่นๆ พบว่า การติดการพนันเป็นโรคชนิดหนึ่ง ที่มีผลกระทบอย่างรุนแรง กาสิโนยังเป็นแหล่งบ่มเพาะอาชญากรรมที่ซับซ้อนขึ้น มีการจ้างงานที่ไร้ทักษะอาชีพ ควรทำประชาพิจารณ์และถามประชามติให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจสุดท้าย ว่า ควรมีการเปิดกาสิโนในประเทศไทยหรือไม่ และ 3. ด้านกฎหมาย พบว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีแนวโน้มขัดต่อหลักนิติธรรม หน้าที่ของรัฐ และแนวนโยบายแห่งรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 5 และ 6
ด้าน นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะ กมธ. อภิปรายในประเด็นผลกระทบด้านกฎหมาย ว่า ไม่มีข้อกังวลเรื่องสถานบันเทิง แต่เมื่อมีการให้เปิดบ่อนกาสิโนที่ชอบด้วยกฎหมาย เปิดกว้างให้ทั้งผู้เล่นชาวไทยและต่างชาติ จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ระบุไว้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติกฎหมายหรือการกระทำใดๆ จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ถือเป็นหลักพื้นฐานของประเทศไทยที่สอดคล้องกับหลักสากล
นายจรัญ กล่าวว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิง ที่กำหนดให้การเปิดกาสิโนชอบด้วยกฎหมาย จะเกิดปัญหา เนื่องจากมาตรา 3 วรรค 2 ระบุว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐทั้งหมด ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรม คือ ธรรมะของกฎหมาย เป็นการเชิดชูหลักสุจริต เป็นปฏิปักษ์ต่อพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบ รวมถึงมาตรฐานทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งระบบ และหลักนิติธรรมยังได้คำนึงเข้าไปคุ้มครองถึงศีลธรรมอันดีของพี่น้องประชาชน
นายจรัญ กล่าวต่อว่า ในหมวดที่ 5 ของรัฐธรรมนูญ ยังได้บัญญัติว่า รัฐต้องมีหน้าที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน มาตรา 58 ระบุว่า รัฐจะกระทำกิจการใด หรืออนุญาตให้บุคคล คณะบุคคลใด ดำเนินการที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม จะต้องมีการทำประเมินเรื่องผลกระทบทางสุขภาพ ก่อนจะดำเนินการได้ เช่นเดียวกับมาตรา 63 บัญญัติว่า รัฐมีหน้าที่ต้องสร้างกลไก มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเชื่อมโยงกับช่องโหว่ว่า หากมีสถานบันเทิงที่มีกาสิโนขึ้น จะเปิดช่องให้มีการทุจริตประพฤติมิชอบมากกว่าสถานประกอบธุรกิจอื่นๆ จึงควรต้องมีมาตรการหรือกลไกเพื่อป้องกันปราบปรามการทุจริตให้เข้มข้นกว่าการประกอบธุรกิจปกติทั่วไป แต่ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ หาได้มีมาตรการเหล่านั้นให้เราเห็นเลย
นายจรัญ กล่าวว่า มาตรา 65 ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ บัญญัติไว้ว่า รัฐพึงจะให้มียุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปได้อย่างยั่งยืน โดยใช้กระบวนวิธีการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล และในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า การพัฒนาประเทศจะยั่งยืนต้องเชื่อมโยงกับมาตรฐานทางจริยธรรม สำนึกในจริยธรรมอันดี และไม่ปรากฏในประเทศอื่น คือ หลักเศรษฐกิจพอเพียง
“กาสิโนเป็นแหล่งหาเงิน หาทรัพย์สมบัติ ที่ไม่พอเพียง เต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยงนานัปประการ ด้วยเหตุของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญไทย 4 มาตราดังกล่าว ผมจึงเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน” นายจรัญ กล่าว
ขณะที่ นพ.วีระพันธุ์ กล่าวสรุปการเสนอรายงานว่า การศึกษาของ กมธ. ยังไม่จบ แค่ศึกษามาถึงตรงนี้ก็พบแล้วว่า ยังมีข้อพิรุธและความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง กมธ. ยังมีระยะเวลาเหลือ ต้องการทำให้ครบ แม้จะได้ยินว่ารัฐบาลเตรียมจะถอนร่างนี้ออกไป แต่ต้องรอดู ครม.วันที่ 8 ก.ค.ก่อน เพราะเอาอะไรแน่นอนไม่ได้ เรายืนยันว่าจะศึกษาต่อไปให้ครบรอบด้าน เพราะในอนาคต แม้จะมีรัฐบาลใดที่นำร่าง พ.ร.บ. ในลักษณะนี้กลับมาอีก คิดว่า การศึกษาของ กมธ. จะเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานของไทยในอนาคต