“นฤมล” นำข้าราชการ ศธ.ร่วมงานสถาปนา สพฐ.ครบ 22 ปี เชื่อ การศึกษาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก พร้อมจับมือ สพฐ.ลดภาระงานครู เพิ่มสวัสดิการครูไทย
วันนี้ (7 ก.ค.) เวลา 10.00 น.ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นพื้นฐานครบรอบ 22 ปี พร้อมด้วย นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) และ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาจาก สพฐ. ในส่วนกลาง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วม ณ ลานจอดรถอาคารสามัญ 99 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting และ OBEC Channel
ศ.ดร.นฤมล กล่าวตอนหนึ่งว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถือเป็นภารกิจหลักของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเป็นส่วนส่วนสำคัญสำคัญช่วยส่งเสริม พัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย ให้มีพื้นฐานการศึกษาที่ดีมีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ มีสติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การศึกษาของไทยจำเป็นต้องก้าวต่อไป พร้อมเผชิญกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับระบบการศึกษาไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างคนไทยให้มีความรู้และมีคุณภาพจึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน ให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน เพราะการศึกษาถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ
“ดิฉันเองถือว่าเป็นผลผลิตของ สพฐ. จบจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เมื่อมีคนพูดถึงการศึกษาจึงไม่เชื่อ เพราะได้พิสูจน์ด้วยการเรียนของตนเอง ที่สามารถเรียนจนสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั้งในประเทศ และสอบชิงทุนไปเรียนต่อ มหาวิททยาลัยในต่างประเทศ ด้วยคะแนนที่สูงกว่านักเรียนนานาชาติ จึงเชื่อเสมอว่า “การศึกษาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” แต่หากถามถึงจุดที่ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ก็ต้องยอมรับว่ายังมีอยู่ ซึ่งตนเองขอฝากไปยังผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหาร สพฐ. ครู และบุคลากร ให้ช่วยกันคิดเพื่อพัฒนางานด้านการศึกษา อันดับแรก คือ การลดภาระงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ครูในประเทศไทยกว่า 500,000 คนได้มีเวลาพัฒนางานของตนเอง และมุ่งสอนลูกศิษย์ให้มากยิ่งขึ้น สองคือเรื่องของสวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อไม่ให้ครูต้องห่วงหน้าพะวงหลัง และทำหน้าที่หลักของครูให้ดีที่สุด สามคือเรื่องของวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย และหน้าที่ความเป็นพลเมือง เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ที่มาที่ไปของระบอบการปกครองของประเทศ ที่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเรื่องทีสี่ เรื่องของการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ และเรื่องของการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หากสามารถดำเนินการปรับปรุงได้ทันในห้วงต่อไป ขอให้ สพฐ. ช่วยในเรื่องของการปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ สำหรับการทำงาน ขอให้เป็นในลักษณะของครอบครัวเดียวกัน มีอะไรปรึกษาหารือกันด้วยความเข้าอกเข้าใจ เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาการศึกษาของประเทศ”
ศ.ดร.นฤมล ได้กล่าวชื่นชมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ รวมไปถึงอดีตรัฐมนตรีที่ผ่านๆ มา ทุกท่าน นโยบายใดที่เป็นเรื่องดีอยู่แล้ว ก็จะดำเนินการสานต่อนโยบายเหล่านั้นต่อไป ทั้งนี้ ไม่ต้องการทำงานแบบ Top-Down แต่ต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ขอฝากให้กระทรวงศึกษาธิการรับฟังความคิดเห็นของครู ผู้บริหาร และองค์กรต่างๆ เช่น คณะกรรมาธิการการศึกษา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น เพื่อนำมาปรับปรุงนโยบายขับเคลื่อนงานการศึกษาในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป