xs
xsm
sm
md
lg

“สว.นรเศรษฐ์” ตั้งกระทู้ซัด รบ.ทำเศรษฐกิจตกต่ำทุกด้าน ปล่อยเพื่อนบ้านแซงหน้า “เผ่าภูมิ” แบก “อิ๊งค์” ทำจีดีพีโตเกิน 3% ทุกไตรมาส เชื่อ สศช.จะปรับตัวเลขในไม่ช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สว.นรเศรษฐ์” ยก “ทฤษฎีกบต้ม” เปรียบสภาพประเทศไทย หลัง รบ.อุ๊งอิ๊ง ทำเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่มีการเติบโตทุกด้าน ปล่อยเพื่อนบ้านแซงหน้า จี้ทวงถามหาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ด้าน “เผ่าถูมิ” แบก “แพทองธาร” ทำจีดีพีโตเกิน 3% ทุกไตรมาส เชื่อ สศช. จะปรับจีพีดีขึ้นในไม่ช้า ย้ำ รัฐบาลหาเครื่องยนต์ใหม่ เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ไทยยืนแถวหน้าเวทีโลก

วันนี้ (7 ก.ค.) ในการประชุมวุฒิสภา นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว. ตั้งกระสู้สดถามประเด็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยกล่าวว่า ประเทศไทยในวันนี้เหมือนกบที่ถูกต้ม คือ เริ่มต้มด้วยน้ำอุ่นแบบไม่รู้ตัว จนกระทั่งน้ำเดือดก็ตาย เศรษฐกิจไทยตอนนี้ก็เช่นกัน เพราะเรากำลังเคยชินกับการรู้สึกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างช้าๆ จีดีพีเติบโตเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยโต 5-7 เปอร์เซ็นต์ คนไทยรู้สึกว่าเป็นสภาพปกติใหม่ทั้งที่เป็นสัญญาณวิกฤต เรากำลังเคยชินกับการไม่มีเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ ขาดนวัตกรรม ขาดการลงทุนขั้นพื้นฐาน อุตสาหกรรมใหม่ๆ นโยบายออกมามีแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่มีการสร้างอนาคต เรากำลังเคยชินกับรัฐบาลที่ไม่คิดเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ปล่อยให้ล้าหลัง

“ตัวเลขทางเศรษฐกิจปัจจุบันดูเหมือนจะฟื้น แต่จริงๆ แล้วตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เปราะบาง กระจุกตัวและไร้ทิศทางอย่างมาก ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจเครื่องยนต์เก่าเติมน้ำมันด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบชั่วคราว เปรียบเสมือนเรือที่เครื่องยนต์ค่อยๆดับลง ขณะที่ภูมิภาคอาเซียนกำลังก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในพาวเว่อร์ เฮาส์ ทางเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ เพราะมีการคาดการณ์ว่าอาเซี่ยนจะเป็นภูมิภาคเศรษฐกิจเติบโตสูงที่สุดในปี 2025 โดยมีการวิจัยว่ากลุ่มอาเซี่ยนไฟส์ คือ ไทย สังคโปร อินโด ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย จะเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4.6 เปอร์เซนต์ในปีนี้ ซึ่งนับว่าสูงมาก แต่ไทยกลับโตรั้งท้ายในภูมิภาค และคาดว่า จะโตเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศอาเซี่ยนอย่างมีนัยสำคัญด้วย

โดยข้อมูลล่าสุดจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ มีการปรับลดจีพีเหลือเพียง 1.8 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมคาดไว้ 2.8 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนให้เห็นว่า เรากำลังเจอแรงเสียดทานทั้งภายในและภายนอก ทั้งการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ภาษีนำเข้า ภาคท่องเที่ยว ก็ยังไม่ฟื้นตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ ส่วนภายในเช่นเสถียรถาพทางการเมือง ปัญหาโครงสร้างต่างๆ ที่เรื้อรัง
หากดูอัตราเติบโตเทียบกับเพื่อนบ้าน ไทยเราอยู่รั้งท้าย ขณะที่ปัญหาหนี้สินครัวเรือนก็สูง ตัวเลขผู้สูงอายุจำนวนสูงจำต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ต้องพยายามเพิ่มจีดีพีการทำงานให้สูงขึ้น เราไม่สามารถหวังพึ่งอุตสาหกรรมค่าแรงต่ำได้อีกต่อไป ทางออกมีเพียงอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเข้ามาสร้างรายได้ให้สูงขึ้น

แต่เมื่อมองดูแต่ละประเทศแล้ว ตนก็กังวลใจแทนประเทศไทย เพราะเขามีเป้าหมายที่แนวทางชัดเจนในการดันเศรษฐกิจใหม่ และเริ่มเห็นผลมีการดึงทุนต่างชาติเข้ามาได้สำเร็จ แต่ถามว่าประเทศไทยเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วหรือยัง จะจับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจอะไรในอนาคต ตนคิดว่าเรายังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนในเชิงยุทธศาสตร์ การส่งเสริมการลงทุนยังเน้นแต่ปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพ

“ไทยไม่ได้ขาดแคลนงบประมาณ แต่ขาดวิสัยทัศน์อย่างรุนแรง รัฐบาลใช้เวลา และทรัพยากรที่มีค่าไปกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจ”

ดังนั้น จากที่รัฐบาลเคยประกาศเจตนารมณ์มุ่งเสริมสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต แต่ประชาชนก็ยังไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปเป็นร่าง ตนขอถามว่า รัฐบาลยังตั้งใจจะผลักกันเรื่องนี้อยู่หรือไม่ และมีแนวทางในการหาเจ้าภาพที่จะขับเคลื่อนแนวทางนี้อย่างไร

ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เข้าชี้แจงว่า การบริหารประเทศของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ นั้น ทำจีพีดีเกิน 3 เปอร์เซ็นต์ ทุกไตรมาส และที่ไตรมาสสองของปี 2568 ทำได้ดีกว่าที่คาด ดังนั้น เห็นได้ว่า ตลอดการบริหาร ทำให้เศรษฐกิจโตสูงกว่าที่เคยเป็นกว่า 7-8 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การประมาณการตัวเลขจากสถาบันทางเศรษฐกิจ เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เชื่อว่า จะปรับขึ้นอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในไม่ช้า เพราะไตรมาสสอง เป็นตัวเลขดีอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการผลิต การบริโภค

“ยืนยันว่า รัฐบาลที่มองไปข้างหน้าและกล้าคิดที่แต่ก่อนไม่เคยเกิดขึ้น และไม่ใช่คิดแค่โครงการระยะสั้นเท่านั้น แต่มองไปข้างหน้าเพื่อให้ประเทศเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้ นอกจากนั้นแล้ว ยังดูแลเรื่องกฎหมายให้เอกชนง่ายต่อการประกอบธุรกิจ รวมถึงสร้างเครื่องยนต์ใหม่ทางเศรษฐกิจ”

รมช.คลัง ชี้แจงด้วยว่า นอกจากนี้ ในส่วนเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือน มิ.ย. เติบโตขึ้น หลังจากติดลบมา 2 เดือน ซึ่งรัฐบาลมีมาตรกากระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น ฟอร์มูลาวัน แมนเมด เป็นต้น รวมถึงได้พัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศรองรับเศรษฐกิจประเทศได้ เช่น การพัฒนาท่าเรือภูเก็ต เพื่อเทียบเรือสำราญได้ ท่าเรือสงขลา รองรับการขนส่งสินค้ามากขึ้น ด้วยเพิ่มเครนหน้าท่า รวมท่าเรือบีหนึ่งกับบีสอง ที่แหลมฉบัง เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าได้มากขึ้น

“รัฐบาลพยายามจะสร้างเพื่อให้เกิดเงินใหม่ รายได้ใหม่กับประเทศ ไม่ได้หมกหมุ่นกับเงินงบประมาณ แต่มองเงินที่ลอยในอากาศ และชิงจังหวะดูดเงินจากต่างชาติเพื่อให้ได้เงินพัฒนาประเทศ ขอให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้ประเทศไทยยืนอยู่แนวหน้าของเวทีโลก” นายเผ่าภูมิ ชี้แจง


กำลังโหลดความคิดเห็น