“อดีตเลขาฯ ประชามติ” มองทางแก้ รธน.2560 ไม่ทันรัฐสภาชุดปัจจุบันแน่ เหตุมีปัจจัย “ภท.-สว.” ไม่ยอมรับให้แก้ หมวด 1 หมวด 2 ประเมินไม่มีเส้นทางบายพาสไปถึง ย้ำ โมเดลรัฐบาลชั่วคราว ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (3 ก.ค.) ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะอดีตเลขานุการคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่มีข้อเสนอทางการเมืองถึงการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้นภายในรัฐบาลปัจจุบัน ว่า ในประเด็นดังกล่าวต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาเสนอให้วินิจฉัยต่อจำนวนครั้งของการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ เบื้องต้นคาดว่าจะรู้ผลในสัปดาห์หน้า และคาดว่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนออกมา ทั้งให้ทำประชามติ 2 ครั้ง และทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งไม่ว่าคำวินิจฉัยจะกำหนดให้ทำประชามติกี่ครั้ง จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่บรรจุไว้ในระเบียบวาระของรัฐสภา
นายนิกร กล่าวด้วยว่า หากคำวินิจฉัยชี้ว่าต้องทำประชามติ 2 ครั้ง จะทำให้รัฐสภาเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญตามที่บรรจุไว้ในระเบียบวาระได้ แต่เชื่อว่า จะถูกโหวตตกในวาระแรก เพราะพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เว้นวรรคหมวด1 และหมวด2 ซึ่งเชื่อว่าในขั้นการโหวต สว. จะไม่เห็นชอบด้วยคะแนนถึง 1 ใน 3 แน่นอน และหากคำวินิจฉัยระบุว่าทำ 3 ครั้ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 นั้นจะถือว่าตกไป เพราะถือว่าไม่ผ่านกระบวนการทำประชามติครั้งแรกที่ต้องถามความเห็นของประชาชนก่อน
“หากรัฐบาลต้องทำประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผมเชื่อว่าจะทำได้ เพราะมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ฐานะรักษาการนายกฯ ทำหน้าที่ และผลของการทำประชามติจะผ่าน แต่จะไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภาได้ทันก่อนหมดวาระ ดังนั้นทำประชามติได้เพื่อตั้งต้นให้รัฐสภาชุดใหม่ดำเนินการ” นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่พรรคประชาชนเสนอแนวคิดให้มีรัฐบาลชั่วคราวและแลกกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ แม้เสนอได้แต่ทำไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งใครจะเป็นนายกฯหรือใครจะเป็นรัฐบาลให้ เป็นเรื่องทำไม่ได้ แม้เสนอได้ แต่ทำไม่ได้จริง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ คิดไม่ถูกและเกิดไม่ได้ และเป็นไปไม่ได้ตามสมการที่คิดว่าให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว เพื่อให้มีการเลือกนายกฯ คนใหม่ ในขณะนี้ อย่างไรก็ต้องรอคดีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ที่ถูกคำสั่งศาลหยุดปฏิบัติหน้าที่ให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งการเสนอทางที่เป็นทางบายพาสนั้นไม่เกิดขึ้นแน่นอน