ได้ฤกษ์แล้ว! จ่อเปิดประมูล "ศูนย์ราชการ มท. เฟส 2" ในวันที่ไม่มี "ภูมิใจไทย" ตั้งงบกว่า 3.1 พันล้าน เล็งสร้างให้แล้วเสร็จพร้อมระยะที่ 1 ที่เสร็จกว่า 33% ในปี 2570 ผุดที่จอดรถสูง 8 ชั้น มูลค่า 42 ล้าน ภูมิสถาปัตย์ 128 ล้าน งานระบบไฟฟ้าและสื่อสาร 202 ล้าน งานเบ็ตเตล็ด 168 ล้าน ครุภัณฑ์จัดซื้อ 876 ล้าน เผยจ่อติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คู่ขนาน 77 จังหวัด มหาศาลกว่า 1.37 พันล้าน งานปรับปรุงคุณภาพอากาศ 204 ล้าน พ่วงสร้างท่าเทียบเรือสาธารณะ ,โรงจอดเรือ ปภ. ,ทางเชื่อมตึกจอดรถกับตัวอาคาร รวมถึง "หอพระประธานประจำกระทรวงฯ"
วันนี้ (1 ก.ค. 2568) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ตามราคากลางของงานก่อสร้างในการประกวดราคาครั้งนี้ เป็นเงินทั้งสิ้น 6,002,390,000 บาท ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา
ตั้งอยู่บนถนนเจริญนคร แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร บนพื้นที่ราชพัสดุขนาดประมาณ 18 ไร่ ของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง มีทั้งสิ้น 6 ตึก ที่มีความสูงตั้งแต่ 16 - 21 ชั้น พร้อมชั้นใต้ดิน 3 ชั้น
เป็นอาคารบนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน กท 1989 (บางส่วน) โฉนดเลขที่ 869, 870 และ 3400 แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ประมาณ 18-0-17 ไร่ (บริเวณย่านเจริญนคร ใกล้กับศูนย์การค้าไอคอนสยาม เดิมเป็นพื้นที่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ปัจจุบันไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว)
สำหรับการวางผังและออกแบบอาคารศูนย์ราชการฯ ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในรูปแบบอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษตามมาตรฐานสากล มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น 213,532 ตารางเมตร
มี บมจ.สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ (STI) ควบคุมงานโครงการ หลังจากเสนอราคา 142 ล้านบาท จากราคากลางที่กำหนดไว้ 142,196,316 บาท
มี บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง (PLE) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ชนะเสนอราคา เนื่องจากเสนอราคาต่ำสุดที่ 5,574.50 ล้านบาท จากราคากลาง 6,002.39 ล้านบาท
ล่าสุดพบว่า สํานักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) เจ้าของโครงการ เตรียมเปิดประกวดราคา โครงการก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ระยะที่ 2 วงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร เป็นเงิน 3,215,744,000 บาท
ลักษณะงานโดยสังเขป ซึ่งจะต้องดําเนินการก่อสร้าง ควบคู่กับการก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ระยะที่ 1 ซึ่งอยู่ระหว่างดําเนินการก่อสร้าง เพื่อให้ การก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ทั้ง 2 ระยะ แล้วเสร็จพร้อมกัน
ประกอบด้วย งานก่อสร้างอาคาร จอดรถ สูง 8 ชั้น วงเงิน 42 ล้านบาท งานก่อสร้างท่าเทียบเรือสาธารณะ 3.6 ล้านบาท งานก่อสร้างโรงจอดเรือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 10 ล้านบาท งานก่อสร้างทางเชื่อมอาคารจอดรถกับอาคารศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย 12.7 ล้านบาท
งานภูมิสถาปัตยกรรมศูนย์ราชการ กระทรวงมหาดไทย 128 ล้านบาท งานก่อสร้างหอพระ 2.5 ล้านบาท งานป้าย 9.4 ล้านบาท งานระบบไฟฟ้าและสื่อสาร 202 ล้านบาท งานตกแต่งภายใน และงานเบ็ตเตล็ด 168 ล้านบาท งานครุภัณฑ์จัดซื้อ 876 ล้านบาท งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 1.37 พันล้านบาท และงานปรับปรุงคุณภาพอากาศ 204 ล้านบาท
โดยราคากลาง สป.มท.ได้ คํานวณ ณ วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2568 เป็นเงิน 3,154,048,000 บาท
"เดิมโครงการนี้ จะมีวงเงินภาระผูกพัน 3,376.5 ล้านบาท (เงินงบประมาณปี 2567-70 วงเงิน 3,215.7 ล้านบาท และเงินค่าสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 160.8 ล้านบาท)"
ยังพบว่า โครงการในระยะที่ 2 มีการลงนามข้อตกลงคุณธรรม เมื่อ 12 ก.ค. 2567 มีนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ลงนาม
ขณะที่ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง ยกคณะไปดูงานโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการมหาดไทย ซึ่ง ผู้บริหาร มท. รายงานว่า โครงการระยะที่ 1 เสร็จแล้ว 33.04% มีกำหนดแล้วเสร็จตามแผนภายในปี พ.ศ. 2570
มีรายงานว่า โครงการก่อสร้างศูนย์ราชการมหาดไทย เดิมมี นายพรพจน์ เพ็ญพาส อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการกำหนดราคากลาง รวมกับกรรมการอีก 17 คน ก่อนที่ย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน จนถึงปัจจุบัน
รวมถึง นายสมคิด จันทมฤก อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบโครงการ ก่อนที่ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนถึงปัจจุบัน
"ปัจจุบัน มีนายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง รับผิดชอบโครงการ"
สำหรับสังเขปของโครงการฯ เป็นอาคารหลังเดียวมีพื้นที่อาคารรวมประมาณ 215,000 ตารางเมตร เป็นที่ตั้งของส่วนราชการ 6 หน่วยงาน ได้แก่ สป.มท. กรมการปกครอง กรมที่ดิน กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
“ลักษณะอาคาร เป็นอาคารสูง 21 ชั้น มีชั้นใต้ดิน เป็นที่จอดรถยนต์ 3 ชั้น ชั้น 1 เป็นลานอเนกประสงค์ และเป็นโถงทางเข้าส่วนราชการ ทั้ง 6 หน่วยงาน แยกเป็น 6 โถง ชั้น 2 ถึงชั้น 5 อาคารจะเชื่อมถึงกันเป็นหลังเดียว ชั้น 6 ขึ้นไปแยกอาคารออกเป็น 2 หลัง ตามส่วนราชการทั้ง 6 หน่วยงาน ความสูงแต่ละหลังจะแตกต่างกัน
โดยมีความสูงจากระดับพื้นดินตั้งแต่ ชั้น 14 จนถึงชั้น 21 เช่น ที่จอดรถ (ชั้น บี1-ชั้น บี3) เป็นเงินประมาณ 1,732,404,000 บาท พื้นที่ส่วนกลาง (ชั้น 1- ชั้น 5 ) และ เฉพาะ “สวนหลังคา” (Roof Garden) บริวณดาดฟ้าชั้น 6 วงเงินประมาณ 1,423,599,000 บาท เป็นต้น.