กม.เครื่องดื่มน้ำเมาผ่านสภา ปลดล็อกโฆษณาเหล้า-เบียร์ ได้ ปชน.ห่วงปม ให้ จนท.ใช้ดุลพินิจตักเตือน-ปิดสถานที่ อาจเปิดช่องให้คอร์รัปชัน
วันนี้ (19 มี.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่ ... พ.ศ. ... ที่ทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน 38 มาตรา ในวาระ 2 และวาระ 3 หลังจากเปิดให้สมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกได้อภิปรายและลงความเห็นเรียงตามรายมาตรา ส่วนใหญ่เห็นตามที่ กมธ. แก้ไข โดยช่วงหนึ่งนายจุลพงษ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ได้อภิปรายเป็นห่วงในประเด็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่พนักงานในการใช้ดุลพินิจในมาตรา 34 ที่ กมธ.ได้เพิ่มเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในการตักเตือนผู้กระทำความผิดและสั่งปิดสถานที่ โดยมองว่าจะทำให้เป็นการเปิดช่องโหว่ให้มีการคอร์รัปชัน โดยให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจตักเตือนแทนที่จะสั่งปิด เป็นการให้ดุลพินิจมากเกินไป ก่อนตั้งคำถามว่าหากมีเจ้าหน้าที่ที่มีจิตใจต้องการโกงก็จะขอตักเตือนแลกกับเงินหนึ่งหมื่นบาทแทนการสั่งปิด เชื่อว่า ผู้ประกอบการต้องยอมจ่าย เพราะหากโดนปิดจะรุนแรงกว่านี้ เขียนมาแบบนี้เพื่ออะไร เข้าใจว่า ต้องการผ่อนสั้นผ่อนยาว แต่การเขียนเช่นนี้ เปิดช่องว่างใหญ่มาก ตนเสนอให้ตัดออกไป เพราะตอนนี้คอร์รัปชันของประเทศไทยตกลำดับลงไปทุกที
ด้านตัวแทน กมธ. ชี้แจงว่า เป็นการวางอำนาจทั่วไปให้เจ้าหน้าที่ว่าทำอะไรได้บ้าง แต่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขยังมีกำหนดไว้ ส่วนการให้ตักเตือนแทนการปิดสถานที่ เป็นเพราะเรายกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ให้ปิดสถานที่ได้และหลายหน่วยงานมีความเห็นตรงกันให้นำมาใส่ในกฎหมายฉบับนี้ ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำได้ลอยๆ โดยไม่มีกฎเกณฑ์ แต่ต้องอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายพิจารณาความกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.วิธีบริหารราชการทางปกครองอย่างเคร่งครัด ซึ่งอำนาจในการตักเตือนนั้นต้องอยู่ในขอบเขตการทำงานของเจ้าหน้าที่ตามคณะกรรมการควบคุมฯ เป็นผู้กำหนด ยืนยันว่า เราพยายามไม่ให้มีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นแน่นอน
จากนั้นประธานในที่ประชุมได้ให้สมาชิกลงมติว่าจะเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ โดยที่ประชุมลงมติเห็นด้วย 365 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง รวมถึงได้ลงมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตของ กมธ. โดยที่ประชุมลงมติเห็นด้วย 356 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 5 เสียง
ทั้งนี้ เนื้อหาสำคัญคือ มาตรา 32 ที่ห้ามผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งที่ประชุมสภาได้ลงมติไม่เห็นด้วย 371 เสียง เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง ทำให้เป็นการปลดล็อกและสามารถประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้