นักวิชาการชี้ต้องมีมาตรการคุมโฆษณา "น้ำเมา" ลดผลกระทบประชาชน ระบุคนตำหนิและอ้างต่างประเทศเปิดกว้าง มักไม่พูดถึงผลกระทบจากการสูญเสีย ยันกฎหมายครอบคลุมทุกคน จะอ้างเมาไม่ขับโพสต์ภาพน้ำเมาได้คงไม่ได้ รับยังมีช่องว่างปมโฆษณาแบรนด์ดีเอ็นเอผ่านสินค้าอื่น ชงบรรจุในร่างกฎหมายใหม่แล้ว
เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ผศ.ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐอาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมการสื่อสาร มหาวิทยาลัยเกริก ในฐานะคณะอนุกรรมการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรืออนุบัญญัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 กล่าวถึงกรณีกระแสที่อยากให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้สามารถทำการโฆษณาและการตลาดได้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนสุราพื้นบ้าน ลดการเอื้อทุนใหญ่ เหมือนอย่างเกาหลีที่มีการโฆษณาโซจูหรือมักกอลลีได้ ทำให้เกิดการเติบโตของผลิตภัณฑ์พื้นบ้านในประเทศ ว่า การทำการตลาดก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การควบคุมการเข้าถึงหรือควบคุมการโฆษณา ก็เป็นกฎหมายอีกตัว ซึ่งการผลิตและจำหน่ายอยู่ในส่วนของสรรพสามิต แต่กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรามีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน ต้องการให้ลดผลกระทบที่เกิดจากสุราให้แก่เยาวชนและประชาชน เลยต้องมีการควบคุมให้เข้าถึงยาก ควบคุมการโฆษณาให้อยู่ในร่องในรอย
ผศ.ดร.บุญอยู่กล่าวว่า จริงๆ เรื่องโฆษณาเราไม่ได้ห้ามโดยเด็ดขาด แต่สามารถโฆษณาได้ตามเงื่อนไข มีกฎกระทรวงให้โฆษณาได้ ไม่ใช่โฆษณาแบบเสรี ซึ่งที่ผ่านมาเราดูแม้กระทั่งยาและอาหารเสริม ก็มีข้อกำหนดในการห้ามโฆษณาเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าไม่ควบคุม เพราะหากไม่ควบคุมเลย ผู้เสียเปรียบคือผู้บริโภค เพราะผู้ขายก็อยากโฆษณาเต็มที่ แต่สำคัญคือต้องคำนึงถึงผู้รับผลกระทบด้วย ส่วนใหญ่คนที่ตำหนิเรื่องการควบคุมและเทียบกับต่างประทศ จะมี 2 ข้อที่ไม่พูดถึง คือ 1.ผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง และ 2.เน้นเรื่องธุรกิจการตลาดเป็นหลัก โดยการเทียบกับประเทศที่โฆษณา แต่ก็ไม่ได้ไปดูเรื่องการห้ามโฆษณาของเขา บางประเทศห้ามโฆษณาทางสื่ออินเทอร์เน็ต เช่น นิวซีแลนด์ แต่ของเราการโพสต์สิ่งเหล่านี้มากมาย ซึ่งการโพสต์ก็เป็นเสรีภาพแต่ก็กระทบสิทธิผู้อื่นด้วย คนที่พูดเรื่องธุรกิจการตลาดก็จะไม่ได้มองมุมพวกนี้
"อาจจะต้องดูในมิติเชิงสังคมด้วย บุคคลเหล่านี้ไม่เคยเป็นเหยื่อ ไม่เข้าใจเหยื่อหรือญาติที่ได้รับผลกระทบและการสูญเสียจากการดื่มสุรา การที่บอกว่าตนเองดื่มไม่ขับทำไมถึงโพสต์ไม่ได้นั้น ต้องบอกว่ากฎหมายไม่สามารถเลือกได้ว่า คนนี้จะเมาหรือไม่เมา จะให้เลือกว่าเมาแล้วไม่ขับถึงโพสต์ได้ก็คงไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่มีทางรู้ว่าคนไหนเป็นอย่างไร กฎหมายจึงครอบคลุมทุกคนเพื่อป้องกันปัญหา" ผศ.ดร.บุญอยู่กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีช่องว่างกฎหมายเรื่องโฆษณา ที่มีการทำแบรนด์ดีเอ็นเอ ใช้สัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอลืไปใช้โฆษณาสินค้าประเภทอื่น เช่น น้ำ โซดา จะต้องมีการแก้ไขเรื่องนี้ในร่างกฎหมายด้วยหรือไม่ ผศ.ดร.บุญอยู๋กล่าวว่า เรื่องพวกนี้เราต่อสู้มานาน ตนมองว่าเป็นความผิดที่จะเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งจริงๆ แบรนด์ดีเอ็นเอแบบนี้มีความผิดด้วย แต่ขึ้นศาลส่วนใหญ่แพ้ เพราะมองว่าเป็นน้ำหรือโซดา แต่พวกเราก็พยายามเสนอแนวคิดแบรนด์ดีเอ็นเอ ก็ต้องทำให้ผู้ที่ไม่ได้จบด้านนิเทศศาสตร์เข้าใจในสิ่งเหล่านี้ เพราะหากไม่เข้าใจเขาก็จะตีความตามตัวอักษร ซึ่งการแก้กฎหมายในประเด็นนี้ได้มีการเสนอเข้าไปแล้ว ทั้งร่างของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับร่างของภาคประชาสังคม แต่ทางกลุ่มของผู้สนับสนุนก็เสนอกฎหมายที่พยายามยกเลิกการห้ามต่างๆ แบบปลดล็อกไปเลยไม่ให้มีการควบคุมการโฆษณา
"ตอนนี้มี 3 ร่าง ก็ขึ้นรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะเอาร่างไหน แต่ 2 ร่างของ สธ.และภาคประชาสังคมจะคล้ายกัน แต่ของภาคประชาสังคมจะเข้มข้นกว่า ขอย้ำว่าธุรกิจมุ่งแก้ไขมาตรา 32 เพราะว่าทำให้เขาสามารถขายได้เยอะขึ้น ผลที่ตามมาก็คือมีคนดื่มเยอะขึ้น ถามว่าเป็นใคร ก็คือนักดื่มหน้าใหม่กับเยาวชน จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ออกมา ไม่ว่าจะเบียร์รุ่นใหม่ ก็มักเจาะไปที่กลุ่มวัยรุ่น หรือจะเห็นว่าโฆษณาแบรนด์ดีเอ็นเอของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็เน้นไปที่ความสนุก เน้นไปในผับ โดยนัยก็คือสื่อไปถึงเรื่องของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั่นเอง" ผศ.ดร.บุญอยู่กล่าว