xs
xsm
sm
md
lg

“ทูตรัศม์” อ้าง MOU44 ทำตามพระบรมราชโองการ ซัดคนคัดค้านเท่ากับขัดขวางความเจริญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รัศม์ ชาลีจันทร์” อ้าง MOU 2544 ทำตามพระบรมราชโองการปี 2516 รัฐบาลประยุทธ์ ก็เคยใช้เจรจา ให้  พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน JTC ซัดคนขัดขวางการเจรจากัมพูชา เพื่อนำก๊าซในทะเลมาใช้ เท่ากับขัดขวางความเจริญ ทำลายโอกาสประเทศชาติหรือไม่

นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns” ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิก MOU44 ในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเขตไหล่ทวีประหว่างไทยและกัมพูชา โดยได้ตั้งข้อสังเกตถึงการประท้วงดังกล่าว ว่า หากวันนี้จะประท้วง MOU44 คุณไปอยู่ที่ไหนมาถึงไม่ประท้วงก่อนหน้า? โดยเฉพาะ 10 ปีที่ผ่านมา ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่แต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานคณะกรรมการเทคนิคร่วมฯ หรือประธานคณะเจรจา JTC และหากไม่ประท้วงก่อนหน้า ย่อมแสดงว่า ในอดีตเคยยอมรับ แต่มาทำตอนนี้ก็ต้องถามว่า หลักการ ความน่าเชื่อถือ หรือเจตนาบริสุทธิ์อยู่ที่ใด? หรือหากใครบอกว่าไม่มีพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศอยู่จริง มีแต่เพียงเส้นอ้างสิทธิของฝ่ายไทยเท่านั้น เหตุใดในยุครัฐบาล  พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะอดีตหัวหน้า คสช.ที่มีอำนาจมหาศาล มีรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ในมือ สามารถสั่งได้ทุกอย่าง จึงไม่รีบไปขุดก๊าซขึ้นมาสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ? ซึ่งนั่นก็เพราะว่า มันทำไม่ได้จริงหากไม่มีการเจรจาตกลงกับอีกประเทศก่อนนั่นเอง

นายรัศม์ ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า หากการแบ่งผลประโยชน์ในไหล่ทวีป เพื่อนำก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลมาใช้ สามารถสร้างความเจริญกินดีอยู่ดีให้ประชาชน ดังเช่นที่ไทยเคยทำกับมาเลเซีย การขัดขวางการเจรจากับกัมพูชา เพื่อนำก๊าซในทะเลมาใช้ได้นั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขัดขวางการสร้างความเจริญ และทำลายโอกาสของประเทศชาติใช่หรือไม่? และในเมื่อในประกาศพระบรมราชโองการ 2516 ระบุไว้ชัดเจนว่า จะต้องเป็นไปตามที่จะได้ตกลงกัน ซึ่งย่อมหมายถึงจะต้องมีการเจรจา ดังนั้น ระหว่างผู้ที่ดำเนินการให้มีการเจรจา กับผู้ขัดขวางการเจรจา ใครกันแน่คือผู้ที่ไม่ทำตามเจตนารมณ์ของพระบรมราชโองการ และใครกันแน่ทำลายชาติ

นายรัศม์ ยังย้ำว่า MOU44 ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วัน แต่เป็นผลสืบเนื่องจากการเจรจาอย่างต่อเนื่องกับฝ่ายกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2513 หรือกว่า 50 ปี หรือครึ่งทศวรรษมาแล้ว แต่ที่ยืดเยื้อนานมากเพราะปัญหาความไม่สงบ และการเมืองภายในของทั้งสองประเทศ ซึ่งนับตั้งแต่การเจรจา จนมีการลงนามทำ MOU ฉบับนี้ในปี 2544 เป็นต้นมา ทุกรัฐบาลก็ถือตามบันทึกความเข้าใจนี้มาโดยตลอด ไม่เคยมีรัฐบาลใดขอเจรจาเพื่อยกเลิกอย่างเป็นทางการ รวมถึงในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ดำเนินการตามนี้ พร้อมยังแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร เป็นประธานคณะกรรมการเทคนิคร่วมฯ หรือ JTC ทำหน้าที่หัวหน้าการเจรจา ดังนั้นจึงยืนยันว่า การดำเนินการของรัฐบาลปัจจุบัน จึงไม่ได้แตกต่างไปจากทุกรัฐบาลในอดีตแต่อย่างใด โดยเห็นว่า แนวทางนี้ ที่ได้มีการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญโดยตรงมาแล้วอย่างละเอียดถี่ถ้วน เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการปกป้องและเสริมสร้างผลประโยชน์ของประเทศชาติ

นายรัศม์ ยังย้ำอีกว่า การดำเนินการตาม MOU44 ถือเป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของประกาศพระบรมราชโองการการประกาศเขตไหล่ทวีปของไทยในปี 2516 ทุกประการ เพราะในพระบรมราชโองการมีข้อความระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “…เส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปนั้นจะเป็นไปตามที่จะได้ตกลงกัน...” (ตามภาพประกอบ) ดังนั้น การเจรจาเพื่อนำไปสู่ความตกลงกัน จึงเป็นไปตามที่พระบรมราชโองการระบุไว้




ส่วนผลของการเจรจาตาม MOU44 นั้น นายรัศม์ ย้ำว่า จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยรัฐสภาก่อน จึงจะมีผลตามกฎหมายได้ โดยที่รัฐบาลหรือบุคคลใดก็ตาม ไม่สามารถไปเจรจาตกลงเองตามลำพังได้ เพราะท้ายที่สุด ประชาชนไทยต้องเป็นผู้ให้ความเห็นชอบผ่านตัวแทน และกลไกของรัฐสภาอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ตามระบอบประชาธิปไตยฯ และเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกับประเทศอื่นนั้น ไทยเราก็ได้เจรจาเช่นนี้สำเร็จมาแล้วกับมาเลเซีย รวมทั้งเจรจาเรื่องเขตทางทะเลกับเวียดนาม เรื่องเหล่านี้ จึงเคยมีการดำเนินการมาแล้วทั้งสิ้น และสามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติในการนำพลังงานก๊าซธรรมชาติมาใช้ ดังในยุคโชติช่วงชัชวาลที่ไทยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และคณะบุคคลได้ไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อยกเลิก MOU 2544 และแถลงการณ์ร่วมระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย กับ นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา (JC 2544) พร้อมชี้แจงความจริง 7 ข้อสรุปได้ว่า MOU2544 มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนต่อพระบรมราชโองการในการประกาศทะเลอาณาเขตและเขตทะเลต่อเนื่อง ตลอดจนประกาศเส้นเขตไหล่ทวีป ตามอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 และกฎหมายอื่น รวมทั้งยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และยังไม่มีพระบรมราชโองการประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จึงต้องถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560

ทั้งนี้ ราชอาณาจักรไทยได้ยึดถือและปกป้องอำนาจอธิปไตยน่านน้ำทะเลภายในและทะเลอาณาเขต ตลอดจนรักษาสิทธิอธิปไตยตามเส้นเขตไหล่ทวีปตามพระบรมราชโองการ 2516 โดยได้ยึดถือมูลฐานแห่งบทบัญญัติของอนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 มาโดยตลอด แต่ MOU 2544 ได้แนบแผนที่ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ “รับรู้” โดย “ไม่ปฏิเสธ” เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาตามพระราชกฤษฎีกาประกาศเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาเมื่อปี 2515 ก่อให้เกิดการอ้างสิทธิในพื้นที่ไหล่ทวีประหว่างไทยกับกัมพูชาที่มีขนาดใหญ่เกินจริง โดยไม่ยึดหลัก “เส้นมัธยะ” อันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อประเทศกัมพูชาเกินกว่าหลักมูลฐานตามบทบัญญัติของอนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958

เมื่อพิจารณาตาม MOU 2544 แล้ว จะพบว่า ประเทศไทยมีแต่จะเสียประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะไม่ว่าผลการเจรจาจะเป็นประการใด ประเทศไทยก็จะต้องสูญเสียสิทธิอธิปไตยในพื้นที่ในการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทยของราชอาณาจักรไทยฝ่ายเดียวให้กลายเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทยและกัมพูชาซึ่งมีพื้นที่อย่างน้อย 16,000 ตารางกิโลเมตรขึ้นไปใต้พื้นที่อ้างสิทธิไหล่ทวีประหว่างไทยกับกัมพูชาใต้ละติจูด 11 องศาเหนือ หรือถึงขั้นสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางทะเลไปมากกว่านี้ได้ด้วย
[อ่านรายละเอียดข่าว “สนธิ” ยื่นแล้ว 6 ข้อเรียกร้องถึงนายกฯ จี้ยกเลิก MOU2544 พร้อม JC2544]

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า กรณีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-มาเลเซีย ที่ นายรัศม์ อ้างถึงนั้น มีความแตกต่างจากการเจรจาตาม MOU 2544 โดยเป็นการเจราจาที่เกิดขึ้นจากทุกประเทศปฏิบัติตามอนุสัญญาเจนีวา 1958 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล 1982 เมื่อการเจรจาได้ข้อยุติจึงเกิดข้อตกลงพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ต่างจาก MOU 2544 ที่ทำขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่มีการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมไว้ล่วงหน้า โดยที่ยังไม่มีข้อยุติเรื่องเขตแดน

ทั้งนี้ ดร.ประจิตต์ โรจนพฤกษ์ อดีตหัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการเจรจาตกลงกับมาเลเซียก็เคยเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 2544 มาแล้ว ผ่านบทความที่เขียนเมื่อปี 2554
[อ่านรายละเอียดข่าว เผยบันทึกอดีตหัวหน้าคณะเจรจา JDA ไทย-มาเลเซีย แนะบอกเลิก MOU44 โดยเร็ว ไทยเสียเปรียบแน่หากเป็นคดีขึ้นศาลโลก]


กำลังโหลดความคิดเห็น