xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” เผยบันทึกอดีตหัวหน้าคณะเจรจา JDA ไทย-มาเลเซีย แนะบอกเลิก MOU44 โดยเร็ว ไทยเสียเปรียบแน่หากเป็นคดีขึ้นศาลโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปานเทพ” เผย บันทึกอดีตหัวหน้าคณะเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย แนะให้บอกเลิก MOU 2544 โดยเร็ว ถ้ากัมพูชาไม่ยอมปรับเส้นเขตทะเลตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ หวั่นหากเป็นคดีขึ้นสู่ศาลระหว่างประเทศ​ ไทยจะเสียเปรียบ ชี้ แตกต่างจากการทำข้อตกลง JDA กับมาเลซีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากล ย้ำ MOU44 มีสถานะเป็นสนธิสัญญา แต่เมื่อไม่ผ่านสภา และฝ่าฝืนพระบรมราชโองการ จึงถือว่าเป็นโมฆะ ใครเดินหน้าเจรจาต่อไป ส่อเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขายชาติขายแผ่นดิน

วันนี้ (28 พ.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” ในหัวข้อ “เปิดบันทึกอดีตหัวหน้าคณะเจรจา พื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย แนะให้ยกเลิก MOU 2544 โดยเร็ว มีรายละเอียดดังนี้

บันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิเส้นไหล่ทวีป ที่ได้ลงนามต่อกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 หรือที่เรียกว่า MOU 2544 นั้น กำลังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในสังคมว่า บันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีสถานภาพใดกันแน่ และควรจะดำเนินการอย่างไร

โดยรัฐบาลมักจะอ้างบ่อยครั้งว่าเหมือนกับการเจรจาระหว่างไทย-มาเลเซีย ที่สามารถกลายเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทย-มาเลเซียได้ โดยปกปิดข้อเท็จจริง ว่า การเจรจาระหว่างไทย-มาเลเซีย นั้น ได้อาศัยการเคารพและการอ้างสิทธิทับซ้อนระหว่างกันโดยอ้างอิงกฎหมายทะเลสากลด้วยกันทั้งคู่ ต่างจากไทย-กัมพูชา ที่เกิดพื้นที่อ้างสิทธิใหญ่เกินจริงไปมากด้วย เพราะกัมพูชาไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายทะเลสากลแต่ประการใด

ดังปรากฏ บทความของ ดร.ประจิตต์ โรจนพฤกษ์ ที่ปรึกษาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะเคยเป็น “หัวหน้าคณะฝ่ายไทย” การเจรจาตกลงจนเป็นผลสำเร็จในบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรร่วมเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีปของประเทศทั้งสองในอ่าวไทย (JDA ไทย-มาเลเซีย) ได้ให้ความเห็นเอาไว้ในบทความเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2554 ในหัวข้อ “ควรบอกเลิกบันทึกความเข้าใจ พ.ศ. 2544 (MOU 2544) เกี่ยวกับเขตทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา หรือไม่?”


ซึ่งบทความดังกล่าวได้รับการรับรองและเผยแพร่ในนามคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 เกี่ยวกับ MOU 2544 โดยได้อธิบายแตกต่างกับการเจรจาไทย-มาเลเซีย กับ MOU 2544 ระหว่างไทย-กัมพูชา ปรากฏในหน้าที่ 11-12 ความว่า

“อาจมีคำถามว่าการยอมรับประกาศเขตทางทะเลระหว่างกัน ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะต่างฝ่ายต่างก็รับรองประกาศเขตทางทะเลของอีกฝ่ายหนึ่ง ควรดำเนินการพัฒนาร่วมกัน ดังกรณีตัวอย่างพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area) ระหว่างไทยกับมาเลเซีย

คำตอบในเรื่องนี้ ในฐานะที่ผู้เขียนเคยเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ในการจัดทำความตกลงว่าด้วยเขตพัฒนร่วมไทย-มาเลเซีย ขอชี้แจงว่า การแบ่งเขตทางทะเลนั้น หากตกลงแบ่งเขตกันได้ก็เป็นการดีที่สุด แต่ถ้าไม่สามารถกระทำได้ การแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีชีวิตร่วมกันย่อมป็นทางออก ทั้งนี้ต้องปรับพื้นที่ที่ตกลงกันไม่ได้ให้เหลือน้อยที่สุด เพราะเมื่อแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันเสร็จสิ้นตามอัตราส่วนและระยะเวลาที่กำหนด ก็จะช่วยให้แบ่งเขตทางทะเลในภายหลังตกลงกันได้ง่ายขึ้น เพราะในพื้นที่ที่พัฒนาร่วมกันนั้นได้แสวงประโยชน์ไปแล้ว

กรณีพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียนั้น มีความแตกต่างอันสำคัญกับกรณีไทยกัมพูชา เพราะกัมพูชาได้ประกาศเขตทางทะเลโดยไม่มีหลักกฎหมายระหว่างประเทศสนับสนุน ทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย“[1]

บทความที่เผยแพร่โดยคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ฉบับนี้ ยังได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ว่า “ควรบอกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ นี้หรือไม่?” และหากไม่ยกเลิกจะมีความเสี่ยงอย่างไร? ความว่า

“อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า หากดำเนินการทำความตกลงตามบันทึกความเข้าใจฯ ต่อไป จะทำให้พื้นที่ทับซ้อนในทะเลส่วนล่างซึ่งตกลงกันจะแสวงประโยชน์ร่วมกันนั้น เมื่อความตกลงมีผลบังคับก็จะเป็นผลให้พื้นที่ในท้องทะเลส่วนล่างนี้เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) ทับซ้อนไปด้วยกันทันที ซึ่งทำให้แต่ละประเทศมีสิทธิทำการประมงในเขตนี้ และยังคงมีปัญหาในการแบ่งพื้นที่ทับซ้อนในทะเลส่วนล่างต่อไป เพราะในบันทึกความเข้าใจฯ ไม่ได้กล่าวไว้

หากกัมพูชาไม่ยอมปรับเส้นเขตทะเลดังกล่าวตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศโดยนัยสำคัญแล้ว ฝ่ายไทยจะต้องรีบบอกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ นี้โดยเร็ว มิฉะนั้นแล้วหากเป็นคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ​หรือศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล ประเทศไทยย่อมเสียเปรียบในรูปคดีแน่ เพราะศาลก็จะบังคับให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจฯ ตามที่ศาลเห็นสมควร”[1]

จากเหตุผลดังกล่าวปัจฉิมลิขิตของบทความที่เผยแพร่โดยคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ฉบับนี้ปรากฏในหน้าที่ 16 ความว่า

“ปัจฉิมลิขิต

โดยที่บันทึกความเข้าใจฯ นี้ทำให้เกิดพื้นที่ทางทะเลที่อ้างสิทธิทับซ้อนอย่างกว้างขวางถึงประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจากข้อมูลปรากฏว่ามีทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีชีวิต ได้แก่ น้ำมัน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติปริมาณมากมีมูลค่ามหาศาล และยังไม่สายเกินไปที่จะดำเนินการแก้ไขประโยชน์ของประเทศชาติ

จึงหวังว่า ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะพิจารณาทบทวนแก้ไขในเรื่องนี้ มิฉะนั้นแล้ว จะเป็นกรณีศึกษาวิชากฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศเจ้าของเกาะยอมให้ประเทศอื่นลากเส้นแบ่งเขตทางทะเลแบ่งเกาะของตนและเขตทางทะเลของเกาะตน เท่ากับเป็นการเสียเขตทางทะเลซึ่งส่วนหนึ่งเป็นน่านน้ำภายในและทะเลอาณาเขต ซึ่งเป็นเขตที่อยู่ในอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) เสมือนดินแดนบนบกของประเทศ และส่วนอื่น ซึ่งเป็นเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะซึ่งเป็นเขตที่อยู่ในสิทธิอธิปไตย (sovereignty right) ของตน”[1]


เมื่อพิจารณาภาพขยายของหลักเขตที่ 73 มาถึงเกาะกูดนั้น จึงทำให้เห็นว่า เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา ภายใต้ MOU 2544 นั้นไม่เป็นไปตามกฎหมายทะเลสากล ดังนี้

1. เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชารุกล้ำ “ทะเลภายใน” คือ พื้นที่ทิศเหนือขึ้นไปของเส้นฐานตรงจากหลักเขตที่ 73 ถึงทิศใต้สุดของเกาะกูด จึงเท่ากับรุกล้ำดินแดนของราชอาณาจักรไทย ไม่เป็นไปตามกฎหมายทะเลสากล

2. รุกล้ำทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล รอบเกาะกูดทั้งด้านทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตก จึงเท่ากับรุกล้ำอธิปไตยไทย ไม่เป็นไปตามกฎหมายทะเลสากล

3. รุกล้ำเขตต่อเนื่อง 24 ไมล์ทะเลรอบเกาะกูด ทั้งด้านทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศนะวันออจึงเท่ากับรุกล้ำอธิปไตยไทย ไม่เป็นไปตามกฎหมายทะเลสากล

4. รุกล้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทยด้านทิศตะวันตกของเส้นมัธยะฐานที่ลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 แบ่งครึ่งมุมระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง จึงไม่เป็นปตามกฎหมายทะเลสากล


การเจรจาตกลงกันระหว่างไทย-กัมพูชา ภายใต้ MOU 2544 จึง “ขัดต่อพระบรมราชโองการ พ.ศ. 2516” ในสมัยรัชกาลที่ 9 ซึ่งกำหนดวิธีการเจรจาตกลงกันโดยต้องอยู่บนมูลฐานของกฎหมายทะเลสากลเท่านั้น การเจรจาภายใต้ MOU 2544 จึงขัดต่อพระบรมราชโองการ และเมื่อไม่ผ่านความเห็นขอบจากสภา จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงย่อมเป็นโมฆะ หากยังฝืนเจรจาต่อไปย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

อย่างไรก็ตาม MOU 2544 นั้น เป็นสนธิสัญญาหรือไม่ คำตอบนี้ปรากฏในงานเขียนของ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยเอง ในฐานะผู้ลงนามใน MOU 2544 ร่วมกับ นายซก อาน รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา


โดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ได้เขียนบทความเผยแพร่จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 92 ฉบับเดือน พฤษภาคม 2544 ในหัวข้อ พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา : ปัญหาและพัฒนาการ ในหน้าที่ 36 ความว่า

“บันทึกความเข้าใจดังกล่าวได้ลงนามโดยผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจเต็มจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ จึงมีสถานะเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969”[2]

เมื่อถอดรหัสข้อเขียนนี้ว่าเหตุใด ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย จึงได้เขียนในบทความว่าตัวเองเป็นผู้แทนที่ได้รับอำนาจเต็มจากรัฐบาล และ MOU 2544 มีสถานภาพเป็นสนธิสัญญา?

เรื่องดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศเอง ยอมรับเองว่า “บันทึกความเข้าใจ” หรือ Memorandum of Understanding - MOU นั้นสามารถเป็น “สนธิสัญญา” ได้ ตราบใดที่การตกลงนั้นมีองค์ประกอบครบ คือ ทำเป็นลายลักษณ์อักษร, ทำขึ้นระหว่างรัฐ, ทำขึ้นเป็นฉบับเดียว หรือสองฉบับ หรือหลายฉบับประกอบกันเป็นความตกลง และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม และอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ[3]

โดยเว็บไซต์ของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้เผยแพร่ด้วยว่า บุคคลที่มีอำนาจในการลงนาม ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 ข้อ 7 ระบุว่า ผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศ ที่มีความสามารถในการทำสนธิสัญญา ได้แก่ ประมุขแห่งรัฐ (Head of State), หัวหน้ารัฐบาล (Head of Government), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (Minister for foreign Affairs), บุคคลอื่นที่ได้รับมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) จากประมุขแห่งรรัฐ หัวหน้ารัฐบาล หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, หรือบุคคลอื่นที่ปรากฏจากแนวปฏิบัติของรัฐนั้น หรือจากสถานการณ์อื่นว่ารัฐนั้นมีเจตนาให้บุคคลนั้นกระทำการดังกล่าวโดยได้รับมอบอำนาจเต็ม

อย่างไรก็ตาม การที่ MOU 2544 ได้ถูกระบุว่ามีสถานภาพเป็นสนธิสัญญาได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะได้รับอำนาจการรับรองโดยนายกรัฐมนตรีของทั้ง 2 ประเทศจริงหรือไม่ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ”แถลงการณ์ร่วมระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร กับ นายฮุน เซน” ในวันเดียวกัน คือ วันที่ 18 มิถุนายน 2567 หรือที่เรียกว่า JC2544 ซึ่งนำมาเปิดเผยโดยหม่อมหลวง วัลย์วิภา จรูญโรจน์


โดยเฉพาะในข้อ 14 ในแถลงการณ์ร่วมระหว่าง นายทักษิณ ชินวัตร และนายฮุน เซน ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยมีเนื้อหาความว่า

”ทั้งสองฝ่ายแสดงความพึงพอใจในความพยายามต่างๆ ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกันมา และให้การรับรองในบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทยว่าด้วยพื้นที่ที่ทั้งสองประเทศอ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ซึ่งลงนามโดยนายซก อาน รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และฯพณฯดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย”[4]

แต่เนื่องจากการไปลงนามของฝ่ายไทยไม่ว่าจะเป็น MOU2544 หรือ JC2544 น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเพราะขัดต่อพระบรมราชโองการ ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา จึงย่อมต้องเป็นโมฆะตั้งแต่แรก ด้วยเหตุผลดังนี้

ประการแรก การประกาศเกี่ยวกับสิทธิอธิปไตยทางทะเลของราชอาณาจักรไทย เป็น พระบรมราชโองการในสมัยรัชกาลที่ 9 ทั้งสิ้น สถานภาพถูกรับรองด้วยรัฐธรรมนูญไม่สามารถลบล้าง บิดเบือน หรือเปลี่ยนแปลงโดยปราศจากพระบรมราชโองการ

ดังเช่น การประกาศความกว้างทะเลอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2509, การประกาศใช้อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเลเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2512, การประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516, การประกาศใช้บันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย เกี่ยวกับการจัดต้้งองค์กรร่วมเพื่อแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีปของประเทศทั้งสองในอ่าวไทยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2523, และการประกาศใช้สนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียเกี่ยวกับการแบ่งเขตทางทะเลอาณาเขตของประเทศทั้งสองเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ล้วนแล้วแต่เป็นการประกาศโดยพระบรมราชโองการทั้งสิ้น

“พระบรมราชโองการ” ตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า “Royal Command” ซึ่งมีความหมายว่า “คำสั่งราชการของพระมหากษัตริย์” ในฐานะ “ประมุขแห่งรัฐ” และทรงเป็น “จอมทัพไทย” โดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเป็นนายกรัฐมนตรีตามธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย

ดังนั้น นายกรัฐนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่อาจลบล้าง บิดเบือน หรือกระทำการขัดต่อพระบรมราชโองการได้ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงพระบรมราชโองการเป็นอย่างอื่น

เพราะนายกรัฐมนตรีไทย หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ไม่ใช่ประมุขแห่งรัฐ ไม่ใช่จอมทัพไทย และไม่ใช่พระมหากษัตริย์ไทย

ประการที่สอง พระบรมราชโองการสมัยรัชกาลที่ 9 ได้ทรงกำหนดวิธีการตกลงเจรจาเขตแดนทางทะเลในอนาคตให้อยู่ภายใต้มูลฐานของกฎหมายทะเลสากลเท่านั้น


พระบรมราชโองการในสมัยรัชการที่ 9 ได้ทรงประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 ความตอนท้ายของพระบรมราชโองการว่า

”สำหรับสิทธิอธิปไตยในส่วนที่เป็นทะเลอาณาเขตซึ่งต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตของประเทศใกล้เคียงกันอันจะถือเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปนั้นจะเป็นไปตามที่จะได้ตกลงกันโดยยึดถือมูลฐานแห่งบทบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา ลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1958”

ดังนั้น การเจรจาตกลงกันโดยอาศัย MOU 2544 จึงอยู่นอกเหนือจาก "มูลฐานแห่งบทบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา ลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ.1958”


การเจรจาภายใต้ MOU 2544 จึงย่อมเป็นการขัดต่อพระบรมราชโองการ เนื่องด้วยเพราะเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาภายใต้ MOU 2544 เป็นการเจรจาไม่อยู่บนมูลฐานแห่งบทบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขต่อเนื่อง ซึ่งกระทำ ณ กรุงเจนีวา ลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1958

ประการที่สอง เมื่อกรอบการเจรจาภายใต้ MOU 2544 ไม่อยู่บนมูลฐานแห่งบทบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขต่อเนื่อง ลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1958 จึงย่อมเป็นการฝ่าฝืนกรอบการเจรจาที่ได้กำหนดเอาไว้โดยพระบรมราชโองการ ประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 จึงต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และต้องโดยพระบรมราชโองการเท่านั้น


ทั้งนี้ เมื่อปรากฏว่า MOU 2544 ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, ยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 178 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 MOU 2544 จึงย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ


จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า MOU 2544 ขัดต่อพระบรมราชโองการในสมัยรัชกาลที่ 9, ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และไม่ได้มีพระบรมราชโองการให้กระทำการใดที่ให้ขัดต่อพระบรมราชโองการในสมัยรัชกาลที่ 9 จึงย่อมเป็นโมฆะและไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้น

ใครฝ่าฝืนเดินหน้าเจรจาต่อไปโดยไม่ฟังพระบรมราชโองการและเสียงของประชาชน ย่อมอาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการขายชาติขายแผ่นดินเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมืองกันเองหรือไม่?

ด้วยความปรารถนาดี

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
28 พฤศจิกายน 2567

อ้างอิง
[1] ประจิตต์ โรจนพฤกษ์, “ควรบอกเลิกบันทึกความเข้าใจ พ.ศ. 2544( MOU 2544) เกี่ยวกับเขตทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา หรือไม่?”, คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา, 21 ธันวาคม 2554

[2] สุรเกียรติ์ เสถียรไทย, พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา : ปัญหาและพัฒนาการ, จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 92, พฤษภาคม 2544, หน้า 36

[3] เว็บไซต์กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย, หลักเกณฑ์และกระบวนการทำสนธิสัญญา,
https://treaties.mfa.go.th/th/content/สนธิสัญญา-หลักเกณฑ์และกระบวนการทำสนธิสัญญา?cate=635b8a19e7bc717ee6647ef3

[4] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, เปิดเอกสาร JC 2544 และแชร์ไปให้มากๆ, แฟนเพจเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, 26 พฤศจิกายน 2567
https://www.facebook.com/100044511276276/posts/1102315007928865


กำลังโหลดความคิดเห็น