xs
xsm
sm
md
lg

นิรโทษสุดซอย-ม.112 คาสภารอลักหลับ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชูศักดิ์ ศิรินิล - ทักษิณ ชินวัตร
เมืองไทย 360 องศา

ตามรายงานระบุว่า ในวันพฤหัสบดี ที่ 3 ตุลาคมนี้ สภาผู้แทนราษฎรจะมีการพิจารณา ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและรับทราบรายงานของของ คณะกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่พิจารณาเสร็จแล้ว ทำให้ต้องมีการจับตาว่า จะได้ข้อสรุปอย่างไร โดยเฉพาะเกี่ยวกับการนิรโทษที่ครอบคลุมความผิดตามมาตรา 112 ด้วยหรือไม่

ที่ผ่านมามีบางพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ไม่เคยมีท่าทีชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกับการนิรโทษกรรมที่ให้ครอบคลุมความผิด มาตรา 112 ทำให้ จึงเป็นที่มาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ไม่มีข้อสรุป โดยเสนอเพียงแค่ “ข้อสังเกต” จากหลายแนวทาง แล้วนำกลับมาให้สภาฯ พิจารณาอีกครั้ง

นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การพิจารณาของสภา ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ว่า พรรคปชป.ไม่ต้องการให้รายงานฉบับนี้เข้ามา โดยควรที่จะทำให้จบก่อน ซึ่งพรรคไม่เห็นด้วยอยู่แล้วกับการนิรโทษกรรมตั้งแต่เบื้องต้น โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เราจึงไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ เพราะควรที่ทำให้สมบูรณ์กว่านี้ เพราะใน กมธ.ไม่มีการยกมือ แต่เขาเอาความเห็นของทุกภาคส่วนมา แล้วเสนอให้สภารับทราบเท่านั้น

“การประชุม สส.ของพรรคประชาธิปัตย์สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบแล้วว่าเราไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ และการประชุม สส.สัปดาห์นี้ คงต้องแจ้งอีกครั้ง และยืนยันว่าไม่ว่ารายงานฉบับไหนที่เกี่ยวกับนิรโทษกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พรรคก็ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่จะนิรโทษกรรมเรื่องอื่นๆ หรือความคิดเห็นต่างทางการเมืองก็ว่ากันไป” นายประมวลกล่าว

ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคและกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวว่า แปลกใจเหตุใดการศึกษาของ กมธ.จึงไม่ใช้เสียงอย่างเป็นเอกฉันท์ หรือใช้เสียงข้างมาก แต่กลับเสนอข้อสังเกตแบบปลายเปิดให้สภาพิจารณาหาข้อยุติ ซึ่งทำได้ยาก ที่สำคัญสภาจะมีมติให้ตั้ง กมธ.ไปศึกษาเพื่อจัดทำรายงานทำไม หากไม่มีมติออกมา

นายชวลิตกล่าวว่า ขอเสนอแนะต่อรัฐบาลด้วยความสุจริตใจว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 6 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” ดังนั้น รัฐบาลควรปกป้องสถาบัน เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในต่างประเทศล้วนมีกฎหมายปกป้องประมุข หรือผู้นำประเทศกันทั้งสิ้น การถอนรายงานการศึกษาดังกล่าวไปจัดทำใหม่ให้ได้ข้อยุติในชั้น กมธ.แล้วมานำเสนอต่อสภา น่าจะเป็นหนทางที่จะทำให้การพิจารณาในสภาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

อย่างไรก็ดี ท่าทีล่าสุดของพรรคเพื่อไทย โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนฯ ระบุว่า สมควรเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน โดยอ้างว่าควรรอให้มีการหารือกับบรรดาหัวหน้าพรรคการเมือง เพื่อให้ตกผลึกกันก่อน ให้ได้ข้อสรุปเป็นข้อยุติว่าควรออกมาแบบไหน เนื่องจากเกรงว่าจะซ้ำรอยการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เหมือนที่ผ่านมา ที่มีเสียงคัดค้านในเรื่องการลดคุณสมบัติเกี่ยวกับจริยธรรมของนักการเมือง

การเสนอ ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในครั้งนี้ได้รับการจับตามองอย่างมาก เนื่องจากบางพรรคต้องการให้ครอบคลุมไปถึงความผิด มาตรา 112 โดยพรรคการเมืองที่มีท่าทีค่อนข้างชัดเจนว่าเห็นด้วย คือพรรคประชาชน ส่วนพรรคเพื่อไทยยังไม่ชัดว่าจะมาแนวไหน เพียงแต่ว่า “ยังไม่ปฏิเสธในเรื่องการนิรโทษ มาตรา 112” มีเพียง พรรคภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ชาติไทยพัฒนา รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้กระทั่งพรรคไทยสร้างไทย ล้วนไม่เห็นด้วย

สำหรับพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย หากมองอีกมุมหนึ่งก็สามารถเข้าใจได้ เนื่องจากมีแกนนำพรรคและส.ส.ของพรรครวมไปถึงแนวร่วม ถูกดำเนินคดีความผิดมาตรา 112 หลายคนกำลังติดคุก หลายคนกำลังจะถูกตัดสินความผิด ทำให้พวกเขามีความต้องการให้มีการนิรโทษกรรมออกมาให้เร็วที่สุด

ส่วนพรรคเพื่อไทยนั้น ทราบกันดีว่า นายทักษิณ ชินวัตร กำลังตกเป็นจำเลยในคดี มาตรา 112 คดีกำลังดำเนินการในชั้นศาลตามขั้นตอน แม้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าจะได้ข้อสรุป แต่มันก็เหมือนกับมีชนักปักหลังอยู่ตลอดเวลา และจะมีผลในวันข้างหน้า แต่ถึงอย่างไร นาทีนี้พวกเขาก็ยังไม่กล้าผลีผลาม เนื่องจากเกรง “กระแสต่อต้าน” เหมือนกับกรณีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในประเด็นแก้ไขให้ลดทอนมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง จนต้องถอยกรูดออกมาแทบไม่ทัน

อย่างไรก็ดี ท่าทีล่าสุดของพรรคเพื่อไทย ได้แสดงออกมา “แค่เลื่อน” การพิจารณาออกไป โดยมอบหมายให้ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ไปประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาล แน่นอนว่า แค่เลื่อนเวลาการพิจารณาออกไป ไม่ใช่การถอนร่าง หรือว่าให้ตัดการนิรโทษความผิด มาตรา 112 ออกไป ทำให้เข้าใจได้ว่า เป็นการ “ถอยเพื่อรอจังหวะ” หรือจะเรียกว่ารอให้บรรยากาศเป็นใจเสียก่อน ค่อยมาว่ากันใหม่

หากพิจารณากันตามความเป็นจริงแล้ว สำหรับพรรคเพื่อไทยเชื่อว่าคงยังไม่กล้าเดินหน้ากับการเสนอกฎหมายนิรโทษเข้ามาในช่วงเวลานี้ หรือให้สภาพิจารณา คงต้อง “เลื่อน” ออกไปก่อน เนื่องจากที่ผ่านมา ก็ได้รับบทเรียนจากการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในเรื่องปมจริยธรรมนักการเมือง และคงไม่อยากพลาดซ้ำสองในเวลาติดๆ กัน เพราะนั่นจะส่งผลกระทบไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่เพิ่งบริหารได้ไม่ถึงเดือน โดยเฉพาะเสียงค้านจากพรรคร่วมรัฐบาลที่ยืนกรานไม่เอาด้วย

แต่ขณะเดียวกันหากถามว่าจะ “ถอน” ออกไปเลยหรือไม่ คำตอบก็คือ “ไม่ถอน” แน่นอน ปล่อยให้คาสภาเอาไว้ก่อน เพราะมีผลเกี่ยวข้องกับ “นายใหญ่” แต่ครั้นจะรีบเดินหน้าคงได้ไม่คุ้มเสีย ก็ต้องพักไว้ก่อน รอจังหวะทีเผลอ หรือบรรยากาศเหมาะๆ รวบรัดเสนอเข้ามารวดเดียวแบบ “ลักหลับ” ในอดีต เนื่องจากมีพรรคประชาชนเป็นแนวร่วมอยู่ตลอดเวลา แต่หากทำแบบนั้นถือว่าเสี่ยงสูงมาก จะกล้าหรือเปล่าเท่านั้นเอง !!


กำลังโหลดความคิดเห็น