‘มาริษ’ หวังดันไทยเป็นผู้นำใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หลังเชิญ CEO ZOOM ตั้ง สนง.ในไทย เผยญี่ปุ่น-WHO ชมกำเนิด ‘30 บาท’ - นานาชาติยอมรับ ‘แพทองธาร’ ต่อยอดรักษาทุกที่
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 79 และการประชุมที่เกี่ยวข้องในวันเดียวกัน ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
นายมาริษ กล่าวว่า ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 79 โดยมีประธานการประชุม เลขาธิการสหประชาชาติ และประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวเปิดการประชุม ซึ่งข้อความที่ผู้นำทั้งหลายได้กล่าวถึงในครั้งนี้ หลายคนกล่าวถึงการปรับปรุง และเพิ่มบทบาทขององค์การสหประชาชาติ ทั้งสมัชชา และคณะมนตรี ให้มีศักยภาพมากขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นกล่าวถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลก ซึ่งน่าจะเป็นบทบาทสำคัญของสหประชาชาติ ทุกประเทศจึงต่างมุ่งมั่นร่วมมือแก้ปัญหา ไม่ใช่แค่การใช้กำลังทางทหารอย่างเดียว แต่ต้องเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ อาหาร และพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายของสหประชาชาติ (SDGs) ต่อไปได้ในอนาคต
หลังจากร่วมพิธีเปิดการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ นายมาริษ เปิดเผยต่อว่า ได้ไปเปิดงานการประชุมระดับรัฐมนตรีประจำปีครั้งที่ 5 ของกลุ่มเพื่อนด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสุขภาพทั่วโลก (UHC) ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก เราเป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือและเป็นผู้นำในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเป็นจุดกำเนิดระบบจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคในอดีต ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งจะพยายามลดการใช้ยาต้านจุลชีพลง เพราะปัจจุบันการใช้ยาต้านจุลชีพจำนวนมาก ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพเท่าใดนัก แต่บางครั้งมีการใช้ยาผิดประเภท หรือไม่เป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ ทำให้มีผลเสียมากกว่าผลดี
“วันนี้ผมได้เน้นย้ำศักยภาพประเทศไทยที่เป็นผู้นำในเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ภายใต้โครงการของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร จึงเน้นย้ำโครงการ 30 บาทรักษาได้ทุกที่ ซึ่งได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิก กลุ่มเพื่อนของไทย และกลุ่มเพื่อนของโครงการ UHC โครงการทั้งหลายที่เรานำมาเสนอ ล้วนแล้วแต่ได้รับการยอมรับและชื่นชมเป็นอย่างมาก”
นายมาริษ ยังเปิดเผยด้วยว่า มีผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แสดงความขอบคุณ ที่ไทยให้การสนับสนุน หรือมีบทบาทชัดเจนในการเป็นผู้นำพัฒนาโครงการ UHC นี้เป็นอย่างมาก รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประธานร่วมนั้น ได้กล่าวชื่นชมบทบาทของประเทศไทย และรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการเรียนรู้โครงการ 30 บาทจากประเทศไทย เพราะประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความมั่นคงของมนุษยชาติ ไทยพร้อมจะมีบทบาทนำ และยินดีแลกเปลี่ยนความเห็น ประสบการณ์ที่ไทยมีถึง 22 ปี สามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลมากกว่า 90%
จากนั้น นายมาริษ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการเฉลิมฉลอง 40 ปี การเป็นสมาชิกสหประชาชาติของบรูไนดารุสซาลาม โดยได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีฮาจี ฮัซซานัล บลเกียะฮ์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละฮ์ แห่งบรูไนดารุสซาลาม ซึ่งก็ได้แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิด และพลังของประเทศอาเซียนด้วยกัน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และอีกหลายประเทศ ตลอดจนผู้หลักผู้ใหญ่จากกลุ่มเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมงานด้วย
นอกจากนี้ นายมาริษ เปิดเผยว่าได้หารือกับ CEO และผู้ก่อตั้งบริษัท ZOOM ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในนครซานฟรานซิสโก และสำนักงานอีกหลายแห่งในสหรัฐฯ จึงได้พยายามเชิญชวนทำธุรกิจในไทย อย่างการตั้งสำนักงานในไทย เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ซึ่งในท้ายที่สุดน่าจะเป็นสิ่งที่เข้ามาในชีวิตประจำวันของมวลมนุษยชาติ ทั้งการให้คำแนะนำข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาทุกด้าน ZOOM ก็เป็นธุรกิจที่สร้างแพลตฟอร์มการประชุมระยะไกล รวมถึงช่วยวางแผนการดำเนินธุรกิจกับชีวิตประจำวันของทุกคน วิเคราะห์ข้อมูลนำเข้า ช่วยตอบสนองต่อคำถามแนะนำการปฏิบัติในทุกด้าน ทั้งสองฝ่ายจึงค่อนข้างตื่นเต้น จึงขอให้เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน หารือกับสำนักงาน ZOOM ในกรุงวอชิงตันต่อไป เพื่อวางแผนอำนวยความสะดวกในทุกด้าน โดยเฉพาะการร่วมทุนกับบริษัทที่มีศักยภาพเช่นนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี สร้างเครือข่าย และดึงดูดปริมาณเงิน ถือเป็นทางลัดนำไทยก้าวสู่ประเทศที่เป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีประเภทขั้นสูง