สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และองค์การวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย วิทยาลัยการอาชีพละงู จัดกิจกรรม สัญจรลงพื้นที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาต้นแบบ ยกระดับสู่สถานศึกษาลดปัจจัยเสี่ยงเพิ่มปัจจัยบวก ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักเรียนอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา โดยมีกิจกรรมสานสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เกี่ยวกับสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกิจกรรมสร้างสรรค์ “ดนตรีเล่าเรื่อง” โดยศิลปิน แดเนียล วิวัฒน์วงศ์ ดูวา หวังสร้างความตระหนักรู้ เสริมภูมิคุ้มกันแก่เยาวชน
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า การลงพื้นที่สัญจรจัดกิจกรรม ลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยบวก ของ สสส. ดำเนินการมาตลอดปีการศึกษา ซึ่งจัดขึ้นในวิทยาลัยอาชีวศึกษาทุกภาคทั่วประเทศ เนื่องจากเยาวชนในวัยนี้ คือกลุ่มเสี่ยงสำคัญที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดอื่นได้ง่าย โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า แม้การบริโภคบุหรี่และยาสูบมีแนวโน้มโน้มลดลง แต่เราพบนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชนมากขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า จากผลสำรวจปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค และ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า เด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า คือ จาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6% ในปี 2565 โดยกลยุทธ์ทางการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ ที่แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะผิดกฎหมาย แต่ก็แอบขายผ่านช่องทางออนไลน์ มีการโฆษณาส่งเสริมการขาย เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48 และยังพบตัวเลขที่น่าเป็นห่วงคือ นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อบุหรี่ซองและบุหรี่ไฟฟ้าที่มีรสชาติโดย ร้อยละ 31.1 เห็นด้วยว่าทำให้สูบง่ายกว่าบุหรี่ธรรมดา และร้อยละ 36.5 เห็นด้วยว่าจะทำให้เด็กและวัยรุ่นสนใจการสูบมากขึ้น
“น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีอันตรายเกือบ 2,000 ชนิด และ นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา เมื่อสูบแล้วจะเป็นไอละอองฝอยเทียบเท่าฝุ่น PM 2.5 ที่สามารถเข้าไปทำลายปอดและระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือด และยังมีฤทธิ์กระตุ้นการเสพติดง่ายขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งมีงานวิจัยที่พบว่า เด็กที่ลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีแนวโน้มที่จะเริ่มสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 4-5 เท่า ขณะที่เด็กจะมีพฤติกรรมการสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนเพิ่มเป็น 7 เท่า และยังนำไปสู่การใช้สารเสพติดชนิดอื่นอีกด้วย” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นางบัณฑิตา ทวีเมือง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพท่าแซะ จ.ชุมพร กล่าวว่า ปัญหาปัจจัยเสี่ยงที่พบในสถานศึกษาจะพบเป็นเรื่องบุหรี่ การสูบใบจาก และบุหรี่ไฟฟ้า แต่จะพบเป็นส่วนน้อย และหากมีกรณีที่รุนแรงจะมีมาตรการร่วมกับผู้ปกครองในการส่งไปรักษาบำบัด โดยทางวิทยาลัยได้มีวิธีการดูแลจัดการปัญหาจากงบประมาณที่ได้รับสนับสนุน โดยแบ่งหน้าที่หลัก ๆ เป็น 3 ส่วน ตั้งแต่ระดับ ครูที่ปรึกษา ทำหน้าที่ดูแลเด็กในความคุ้มครองของแต่ละห้อง ระดับแผนกวิชา ที่จะต้องให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะรับทราบเรื่องราวและปัญหาของนักศึกษาแบบรายบุคคล ระดับชุมชน ทางวิทยาลัยได้สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการรณรงค์ เรื่องเหล้าและบุหรี่ เพื่อให้คอยช่วยเป็นหูเป็นตา และสำหรับการจัดกิจกรรมของ สสส. ครั้งนี้ จะมีนักศึกษาทุกชั้นปีที่ไม่ติดภารกิจฝึกงานได้มาเข้าร่วม เพราะอยากให้นักศึกษาได้รับรู้ข้อมูล ได้มีประสบการณ์ ที่จะทำให้เขามีภูมิต้านทานที่ดีได้
“เด็กเยาวชนในวัยนี้ เป็นธรรมชาติที่เขาจะมีความอยากรู้อยากลอง แต่ ผอ. รู้สึกโชคดีมากที่เด็กของเราพบพฤติกรรมยุ่งเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงน้อยมาก เด็ก ๆ ค่อนข้างน่ารัก คุยง่าย ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งยังไม่เคยพบปัญหารุนแรงเลยสักครั้ง ผอ. ก็จะคอยบอกเขาถึงโทษ หากเราสูบหรือดื่มตั้งแต่อายุยังน้อย วันหนึ่งอายุมากขึ้น สภาพร่างกายจะเป็นอย่างไร เพื่อให้เขาได้คิดด้วยตัวเอง และขอขอบคุณ สสส. ที่มีกิจกรรมดี ๆ เพื่อเติมองค์ความรู้ เสริมภูมิต้านทานให้กับลูก ๆ ในวิทยาลัยการอาชีพท่าแซะ” ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพท่าแซะ กล่าว
เคน อ่อนเกตุพล ครูแกนนำ วิทยาลัยการอาชีพท่าแซะ จ.ชุมพร กล่าวว่า การร่วมทำโครงการกับ สสส. มาจากเมื่อปี 2566 ได้ส่งนักศึกษาเข้าร่วมอบรมแกนนำ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี หลังจากนั้นได้นำข้อมูลที่ได้จากการอบรมมาทำแผนในการรณรงค์ในวิทยาลัยและในชุมชน ร้านค้าใกล้เคียง เรื่องการลด ละ เลิก เหล้าและบุหรี่ และนำเสนอกับผู้อำนวยการ เพื่อนำองค์ความรู้จากการอบรมมาสื่อสารต่อเพื่อน ๆ ในวิทยาลัย โดยแบ่งการทำงานเป็นแผนกวิชา 5 แผนกวิชา ทำการณรงค์ในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งทุกฝ่ายให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
“ในการลงพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นชุมชน อำเภอ จะมีชาวบ้านมาร่วมชมกิจกรรมนักศึกษา และให้ความสนใจเป็นอย่างดี ขณะที่นักเรียนก็สนใจทำกิจกรรม ซึ่งมองว่าเป็นการช่วยส่งเสริมให้เขากล้าคิด กล้าแสดงออก โดยเฉพาะผู้ปกครองที่เห็นด้วยที่มีโครงการแบบนี้ เพื่อปกป้องลูกหลานไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเหล้า บุหรี่” ครูแกนนำ กล่าว
แดเนียล วิวัฒน์วงศ์ ดูวา ศิลปิน ที่ได้มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวในกิจกรรมดนตรีเล่าเรื่อง กล่าวว่า วันนี้ได้มาเตือนในสิ่งที่น้อง ๆ อาจจะรู้กันอยู่แล้ว แต่ยังไม่ตระหนัก ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ เหล้า ที่แม้ว่าบางคนจะไม่ได้ใช้มัน แต่ก็มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบ อย่างเรื่องราวที่นำมาคุยกับน้อง ๆ คือเรื่องราวของตัวเองที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากผู้ที่ใช้
“รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้กับน้อง ๆ เพราะบางทีหากไปเตือนผู้ใหญ่ เขาอาจจะไม่สนใจเท่ากับน้อง ๆ ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า เชื่อว่าทุกคนจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ครับ” แดเนียล กล่าว
นายณัฐพงษ์ แก้วเหลี่ยมทอง นักศึกษาชั้น ปวส.2 สาขาช่างไฟฟ้ากำลัง นักศึกษาแกนนำในโครงการฯ กล่าวว่า ได้เข้าร่วมโครงการอบรมนักศึกษาแกนนำ และได้เขียนโครงการนำเสนอ ก่อนมาปฏิบัติจริงภายในวิทยาลัย โดยจะแบ่งออกเป็น 3 โครงการย่อย ได้แก่ 1. การเดินรณรงค์ในชุมชน ซึ่งเป็นโครงการหลัก โดยมีนักศึกษารณรงค์แจกแบบสอบถามให้พ่อค้าแม่ค้าตามร้านรอบวิทยาลัย ซึ่งเป็นการสอบถามเกี่ยวกับความเห็นเรื่องโทษ ผลตอบรับ คือ มีคนให้ความสนใจอย่างมาก สะท้อนมาว่าอยากให้จัดกิจกรรมแบบนี้บ่อย ๆ 2. โครงการที่ร่วมกับกรมสุขภาพจิต ที่เข้ามาอบรมเรื่องราวเกี่ยวกับโรคภัยจากการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ 3. โครงการประกวดชุดแฟนตาซี ภายใต้แนวคิด “ประหยัดที่สุดและสื่อสารเรื่องราวโทษของเหล้าและบุหรี่” ซึ่งผลงานที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าน้อง ๆ เพื่อน ๆ ในวิทยาลัยให้ความสนใจในการอบรมอย่างมาก เพราะสามารถนำข้อมูลความรู้ที่ได้รับสื่อสารออกมาได้เป็นอย่างดี ส่วนในครั้งนี้ที่ สสส. ได้เชิญ พี่แดเนียล มาแบ่งปัญประสบการณ์ ต้องขอบคุณอย่างมาก ที่มาช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาที่อาจจะกำลังอยากรู้อยากลองปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้รู้ถึงผลที่ตามมา
“ปัญหาบุหรี่ ในวิทยาลัย พบเป็นบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ส่วนมากเป็นผู้ชาย และผู้หญิงก็มีบ้าง ส่วนตัวเคยเห็นการโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์ มีประกาศขายอย่างโจ่งแจ้ง และมีบางคนแอบเอาเข้ามาบ้าง แต่ครูและนักศึกษาแกนนำ ก็จะตรวจเจอแล้วยึดเอาไว้” นายณัฐพงษ์ กล่าว