“ก้าวไกล” จี้รัฐบาลหยุดขยายสัมปทานทางด่วนเอื้อนายทุนเจ้าเดิมโดยไม่มีการแข่งขัน อ้างลดค่าครองชีพประชาชนบังหน้า ย้ำหลักการหมดสัมปทานต้องคืนรัฐ บริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด “สุรเชษฐ์” ชวนจับตา 14 ส.ค. หาสร้างทางด่วน Double Deck ชงเข้า ครม.
วันที่ 27 กรกฎาคม 2567 พรรคก้าวไกลแถลง Policy Watch หัวข้อ “ทวงคืนทางด่วน หมดสัมปทานต้องคืนรัฐ” นำโดย นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ, นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพฯ เขต 9 และ นายชยพล สท้อนดี สส.กรุงเทพฯ เขต 10 เนื้อหาภาพรวมเป็นการติดตามการทำงานของรัฐบาล ซึ่งพรรคก้าวไกลพบว่ามีความพยายามเอื้อประโยชน์นายทุนผ่านการขยายสัมปทานทางด่วนให้กับเอกชนเจ้าเดิมที่ถือสัมปทานดังกล่าวมายาวนาน รวมถึงมีแผนหาสร้างทางด่วนตอนใหม่โดยให้กับเอกชนรายเดิมแบบไม่ต้องประมูลไม่ต้องแข่งขัน เป็นการหาช่องเพื่อขยายสัมปทานโดยรัฐบาลเพื่อไทย
นายศุภณัฐ กล่าวถึงกรณีดอนเมืองโทลล์เวย์หรือทางยกระดับอุตราภิมุข ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าตามข้อตกลงในสัมปทาน จะมีการขึ้นค่าผ่านทาง โดยอธิบายว่าทางยกระดับนี้ มี 2 ตอน ได้แก่ ดินแดง-ดอนเมือง และ ดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ทั้ง 2 ตอนสร้างและอนุมัติไม่พร้อมกัน แต่ผู้รับสัมปทานเป็นเจ้าเดียวกัน โดยในปี 2532 รัฐบาลขณะนั้นเปิดประมูลสัมปทานตอนที่หนึ่งเป็นเวลา 25 ปี ตกลงค่าผ่านทางที่ 20 บาทตลอดสาย แต่ต่อมาเกิดการแก้ไขสัมปทานรวม 3 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2538 ครั้งที่สองในปี 2539
ในการแก้ไขครั้งที่สอง รัฐบาลขณะนั้นอ้างว่าต้องการสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ตอนที่ 2 แต่รัฐบาลกลับไม่เปิดประมูล กลับแก้ไขสัมปทานโดย (1) ขยายสัมปทานตอนที่หนึ่ง จากเดิมจะจบในปี 2557 เพิ่มอีก 7 ปี รวมเป็น 32 ปี และ (2) พ่วงสัมปทานตอนที่สอง ระยะเวลา 25 ปี ตั้งแต่ปี 2539-2564 โดยจิ้มเลือกเอกชนรายเดิมที่เป็นเจ้าของสัมปทานตอนที่หนึ่ง กลายเป็นเอกชนรายเดียวกันได้ทั้งสองสัมปทาน ต่อมาปี 2550 มีการแก้ไขรอบที่ 3 โดยขยายสัมปทานทั้งสองตอนให้กับเอกชนเจ้าเดิมเพิ่มไปอีก 13 ปี กลายเป็นไปจบที่ปี 2577 ทั้งคู่
“นี่คือเทคนิคลับลวงพราง ที่พอจะเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่รายใดก็มักใช้วิธีพ่วงสัมปทานของเดิม เพิ่มเติมด้วยส่วนต่อขยายใหม่ ผสมกันไปมั่วกันไปหมด อันเป็นการทั้งขยายสัมปทานเดิมและประเคนสัมปทานใหม่โดยไม่ต้องมีการแข่งขันใดๆ”
นายศุภณัฐ กล่าวต่อว่า กระทั่งปีนี้ รัฐบาลเพื่อไทยก็เตรียมแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งที่ 4 เพื่อขยายสัมปทานให้กับเอกชนเจ้าเก่าอีกรอบ โดย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปูทางว่าทางด่วนกำลังจะขึ้นราคา ประชาชนจะไม่ไหว รัฐมนตรีบังเอิญเป็นห่วงประชาชนมาก ทั้งที่เรื่องสำคัญอย่างอื่นเช่นรถเมล์ก็ไม่เห็นจะสนใจ แต่พอเป็นเรื่องสัมปทานก็สนใจเป็นพิเศษ เลยชงมาว่าจะต้องลดราคา ต่อสายเจรจาหาเอกชน ซึ่งต้องถามว่ารัฐมนตรีคิดไปเองหรืออย่างไรว่าหรือเอกชนจะใจดีไม่ขึ้นค่าทางด่วนให้ฟรีๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะตามสัมปทานตกลงกันว่าต้องขึ้นราคา แต่เมื่อรัฐมนตรีชง เอกชนก็รับลูกด้วยการบอกว่าถ้าไม่อยากให้ขึ้นราคาก็ต้องขยายสัมปทานอีกรอบ แบบนี้ยิ่งเข้าทางรัฐมนตรี อ้างเหตุสั่งให้กรมทางหลวงไปศึกษาคำนวณว่าจะขยายสัมปทานอีกกี่ปี
จนถึงตอนนี้สัมปทานผ่านมาแล้ว 45 ปี จะจบปี 2577 แต่สิ่งที่รัฐบาลจะทำคืออยากขยายอีก แบบนี้เรียกว่า “ขยายแล้ว ขยายอยู่ ขยายต่อ” หรือไม่ แทนที่เมื่อหมดอายุ ทางด่วนจะตกมาเป็นของรัฐบาล รัฐบาลกลับสรรหาสารพัดข้ออ้างเพื่อขยายสัมปทานต่อไปเรื่อยๆ ให้เป็นของเอกชนรายเดิมต่อไปเรื่อยๆ และที่น่ากลัวกว่าคือรัฐบาลมีแผนที่จะออกสัมปทานตอนใหม่ คือตอนที่สาม รังสิต-บางปะอิน ซึ่งอาจถูกนำไปพ่วงเป็นมูลเหตุขยายสัมปทานครั้งใหม่โดยไม่มีการแข่งขัน
พรรคก้าวไกลขอคัดค้านการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนด้วยวิธีการแบบนี้ สัมปทานควรหมดแล้วหมดเลยแล้วค่อยเปิดให้มีการแข่งขันใหม่อย่างเป็นธรรม จึงขอเรียกร้องให้หยุดขยายสัมปทานเดิม ประเคนสัมปทานใหม่ ทวงคืนทางด่วนให้ประชาชน ลองมาเป็นรัฐบาลที่สนใจประโยชน์ของประชาชนก่อนประโยชน์ของนายทุน เชื่อว่าถ้าทำได้ ประชาชนจะรักท่านมากกว่านี้ ประเทศไทยจะเจริญมากกว่านี้
ด้านนายชยพล กล่าวถึงการก่อสร้างทางด่วนศรีรัชชั้นที่ 2 หรือเรียกว่าโครงการ Double Deck ว่า อันที่จริงทางด่วนศรีรัชหมดอายุสัมปทานไปแล้ว แต่ช่วงประมาณปี 2563 ดันมีการขยายสัมปทานออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน เพื่อแลกกับการที่เอกชนถอนฟ้องคดีต่อรัฐ หรือรู้จักกันในนาม “ค่าแกล้งโง่” และในวันนี้ นายทุนใหญ่หน้าเดิมเล็งจะขยายสัมปทานเพิ่มอีก 22 ปี 5 เดือน ทำให้สัมปทานทั้งหมดรวมกันจะจบที่ปี 2601
สำหรับเหตุผลของการต่ออายุสัมปทาน รมว.คมนาคม อ้างว่าเพื่อลดราคาค่าทางด่วน โดยยืนยันว่าไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน อย่างไรก็ตาม ตนมองว่ามีหลายสิ่งที่น่าข้องใจ เช่น บอกว่าไม่เอื้อประโยชน์ให้เอกชน แต่นี่คือการเจรจาต่อสัมปทานโดยไม่มีการประกวดราคาใหม่ ทั้งที่สามารถรอให้สัมปทานเดิมหมดอายุก่อนก็ได้ เพราะปกติทุกการลงทุน เอกชนจะต้องวางแผนคำนวณจุดคุ้มทุนหรือจุดที่จะได้กำไรอยู่แล้วตามอายุสัมปทานที่มี ดังนั้นเมื่อหมดอายุสัมปทาน โครงสร้างของทางด่วนก็ควรกลับมาเป็นของรัฐ รัฐสามารถบริหารจัดการให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนได้ เช่นอาจให้ขึ้นทางด่วนฟรี หรืออาจเก็บเงินเพื่อเอารายได้มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ หรืออาจมองว่าไม่สามารถบริหารจัดการเองได้เองเลยเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ
แต่ตอนนี้กลับเกิดความดันทุรัง จะเร่งเซ็นสัญญาให้ได้ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังติดปัญหาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment – EIA) และการเวนคืนที่ดิน เช่นบริเวณใกล้สถานีกลางบางซื่อ มีประชาชนที่คัดค้านการสร้าง Double Deck เพราะได้รับผลกระทบจากการสร้างทางด่วนรอบแรก ปัญหาสำคัญคือเมื่อมีการสร้างทางด่วน พื้นที่ใต้ทางด่วนก็จะเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แทนที่ประชาชนจะได้ใช้พื้นที่ส่วนกลางเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน หรือพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ก็ไม่สามารถทำได้
ดังนั้นหากรีบเซ็นภายในปีนี้ เชื่อว่าจะติดปัญหาทั้งเรื่องอีไอเอ การเวนคืน และเสียงคัดค้านของประชาชน แล้วหากโครงการไม่สามารถเดินหน้าตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ในสัญญาที่จะเซ็นกันก็จะทำให้เกิดผลกระทบตามมาต่อรัฐบาล เช่น ค่าปรับ มูลเหตุการฟ้องร้องคดี หรือการหาเรื่องขยายสัมปทาน เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือผลลัพธ์ของการที่รัฐบาลไม่ได้เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง แต่ให้ประชาชนเป็นเพียง “ทางผ่าน” ไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงคือการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนรายเดิม เพิ่มเติมคือส่วนแบ่ง
ตนเข้าใจความจำเป็นของการที่เมื่อเมืองเติบโต มีคนเยอะขึ้น ก็ต้องมีการก่อสร้างถนน แต่คำถามคือจำเป็นต้องสร้างตอนนี้ ตรงนี้หรือไม่ หรือสามารถลงทุนด้านอื่น หรือที่อื่นได้ เช่น เพิ่มเส้นทางที่เป็นเส้นเลือดฝอย เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงเส้นทางที่เป็นเหมือนเส้นเลือดหลัก ตนต้องการให้รัฐบาลมองการพัฒนาขนส่งสาธารณะเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการเดินทางได้อย่างเท่าเทียมทั่วถึงกันทั้งเมืองมากกว่านี้
ด้านนายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ทั้งสองเรื่องข้างต้นมีความพยายามคล้ายกันที่จะหา “ข้ออ้าง” เช่นลดราคา เพิ่มส่วนต่อขยาย แต่เนื้อหาที่แท้จริงคือการหาเหตุในการขยายสัญญาสัมปทาน เก็บเงินจากประชาชนเข้ากระเป๋านายทุนมากขึ้นหรือนานขึ้น โดยผู้มีอำนาจไม่ว่าจะคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่กำกับดูแล หรือหัวหน้าหน่วยงานราชการ ทำไมจึงยอมให้นายทุนหาผลประโยชน์จากประชาชนมากมายขนาดนี้
“สัมปทานคือสัญญา ในระหว่างสัญญาก็ควรปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา ซึ่งเมื่อหมดสัญญาแล้วก็ควรจบเลย กลับมาเป็นของรัฐแล้วคิดโครงสร้างราคาใหม่ที่สมเหตุสมผลมากขึ้น โดยหากจะให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการต่อก็สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ไม่ใช่ปิดห้องเจรจาลับแล้วหาเหตุขยายสัมปทานให้เจ้าเดิม ทั้งนี้ หากรัฐบาลอยากลดราคาจริง โดยไม่แอบพ่วงโครงการ Double Deck ก็สามารถทำได้โดยปรับสัดส่วนการแบ่งรายได้ระหว่างรัฐกับเอกชน โดยไม่ต้องขยายสัมปทานแม้แต่ปีเดียว
นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนสิงหาคมนี้คือ รัฐบาลมีแผนที่จะนำเรื่องการขยายสัมปทานทางด่วนชั้นที่ 2 เข้าที่ประชุม ครม. อันจะเป็นอีกครั้งที่เกิดการเอื้อประโยชน์ครั้งใหญ่ให้นายทุน เป็นการหาสร้าง Double Deck เพื่อแลกกับการขยายสัมปทานออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน ทั้งที่สัญญาสัมปทานปัจจุบันยังเหลืออีกถึง 11 ปี ทำให้สัมปทานลากยาวไปถึง 31 มีนาคม 2601 โดยไม่มีการแข่งขัน จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันจับตา รักษาผลประโยชน์ของประเทศ
สำหรับทางด่วนชั้นที่ 2 นั้น เมื่อพิจารณาถึงปัญหาตามแนวทางของรัฐบาลปัจจุบัน คำถามที่มีคือหากส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ตามสัญญาจะเป็นอย่างไร ทุกวันนี้พื้นที่ใต้ทางด่วนบางส่วนเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย บางส่วนเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีสัญญาเช่าพื้นที่กับประชาชนและผู้ประกอบการอยู่ หากรีบเซ็นสัญญาแล้วคืนพื้นที่ไม่ได้ก็อาจเกิดเป็นค่าโง่หรือมูลเหตุในการขยายสัมปทานต่อไปในอนาคตอีก
นายสุรเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาทางด่วนโดยเนื้อแท้คล้ายกับปัญหารถไฟฟ้า คือที่ผ่านมารัฐเอานายทุนผู้รับสัมปทานเป็นตัวตั้ง มองทางด่วนเป็นท่อนๆ ทำให้ประชาชนต้องจ่ายหลายท่อนแล้วรู้สึกแพง ถ้าจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องคิดเรื่องโครงสร้าง “ค่าผ่านทางร่วม” ซึ่งพรรคก้าวไกลเคยเสนอไปแล้วตอนยื่น พ.ร.บ.ถนน แต่ก็โดนรัฐบาลปัดตกไปอย่างไร้เหตุผล ดังนั้น เราต้องทวงคืนทางด่วน หมดสัมปทานต้องคืนรัฐ หากจะให้เอกชนร่วมดำเนินการ ก็ต้องเกิดการประมูลใหม่อย่างเป็นธรรมและโปร่งใส เลิกหากินกับการปะผุปัญหาด้วยการหาเรื่องขยายสัมปทาน แต่ต้องร่วมกันแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน