xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.นิรโทษเคาะรายงานแนวทางล้างผิดเริ่มจากคดีปี 2548-ปัจจุบัน ส่วน 112 โยนสภาชี้ขาด จ่อยื่น ปธ.สภาดันวาระด่วน เชื่อฝ่ายค้านเอาด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กมธ.นิรโทษกรรม” เคาะรายงาน ผลศึกษาแนวทางร่าง กม.นิรโทษกรรม คดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน ส่วนคดี ม.112 และ 110 โยนให้สภาพิจารณา เตรียมยื่น ปธ.สภาฯ พร้อมเสนอวิป รบ. ดันเป็นวาระด่วน คาดเข้าสู่สภาฯ กลาง ส.ค. เชื่อไร้ปัญหา ฝ่ายค้านเห็นพ้อง



วันนี้ (25ก.ค.) นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎรว่า วันนี้ (25 ก.ค.) เป็นการประชุมวันสุดท้ายของกมธ. ซึ่งได้พิจารณาเสร็จสิ้นเรียบร้อย โดยที่ประชุมได้ดูรายงานอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ และมีมติรับรองรายงานการประชุมที่จะเสนอต่อสภาฯ และที่ประชุมมีมติที่สำคัญ ดังนี้คือ 1. ให้มีการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง นับตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน นี่คือหลักการสำคัญและการนิรโทษกรรมนี้ เราจะใช้รูปแบบของคณะกรรมการ โดยจะมีบัญชีแนบท้ายว่ามีคดีประเภทใดบ้างที่สมควรจะนิรโทษกรรม ขณะเดียวกันก็จะมีบัญชีแนบท้าย เพื่อให้กรรมการได้พิจารณาว่าคดีประเภทนี้นิรโทษกรรมได้หรือไม่ เข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดหรือไม่ นี่คือเรื่องทั่วไปแต่สาระสำคัญต้องเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ซึ่งจะมีบัญชีแนบท้ายว่ามีคดีใดบ้าง

2.คดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนข้อสำคัญคือคดีที่เกี่ยวกับความผิดต่อชีวิตมาตรา 288 และมาตรา 289 ซึ่งเป็นคดีที่ถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ไม่อยู่ในข่ายที่เราเห็นว่าควรจะนิรโทษกรรม

3. คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ได้แก่ คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 ถึงแม้คดีประเภทนี้มีความเห็นเสนอไปโดย กมธ.จะเสนอสู่สภาฯ ด้วยว่าความเห็นเกี่ยวกับคดีเหล่านี้ทางกมธ.เห็นอย่างไรบ้าง โดยสามารถแยกความเห็นได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่ 1 พวกที่เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรมเลย ก็จะมีเหตุผลให้ไว้ว่าทำไมไม่ควรนิรโทษกรรม กลุ่มที่ 2 ควรมีการนิรโทษกรรมซึ่งจะมีเหตุผลให้ไว้ว่าทำไมควรนิรโทษกรรม ด้วยเหตุผลอะไร และกลุ่มที่ 3 มีการนิรโทษกรรม แต่มีเงื่อนไข เช่น ให้กรรมการดูว่าผู้ที่เป็นผู้ต้องหาเป็นจำเลยเหล่านั้นมีมูลเหตุจูงใจอะไร หรืออาจจะมีการตั้งเงื่อนไขว่าต้องห้ามกระทำความผิดซ้ำ เป็นต้น

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีมติชัดเจนคือควรมีมาตรการในทางบริหารก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรม เนื่องจากมีคดีอยู่หลายประเภทที่ค้างอยู่ตามสถานีตำรวจ คดีเล็กๆน้อยๆ เช่นผิดกฎหมายจราจร แต่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมาตรการทางบริหารสามารถที่จะใช้ได้ก่อนที่จะมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เช่น มาตรการสั่งไม่ฟ้อง ตามมาตรา 21 ของกฎหมายอัยการ หรือมาตรการอย่างอื่นที่จำเป็น และท้ายที่สุดกมธ.ก็มีข้อสังเกตว่าเรื่องการนิรโทษกรรมนั้นจะเป็นไปได้ที่สุด รัฐบาลก็ควรจะต้องรับเรื่องนี้เอาไปพิจารณาและเป็นเจ้าภาพหรือช่วยกันทำอย่างไรที่จะเร่งรัดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมให้เกิดขึ้น ความสำเร็จในการประนีประนอม การทำให้ประเทศเข้าสู่สังคมปกติ น่าอยู่ น่าอาศัย และไม่ต้องทะเลาะกันเหมือนในอดีตก็จะเกิดขึ้น

ด้านนายนิกร กล่าวว่า ในวันที่ 26 ก.ค. เวลา 16.30 น. ทางกมธ. จะยื่นรายงานต่อประธานสภาฯ เพื่อบรรจุเข้าวาระรวมทั้งหมด 3 ฉบับ ซึ่งรายงานฉบับหลักคือที่กมธ.พิจารณาเสร็จในวันนี้และจะมีภาคผนวกเป็นอนุกมธ.ฯ ชุดศึกษาเรื่องความผิดเกี่ยวกับเรื่องคดีอีก 1 ฉบับ และเรื่องจำแนกคดีอีก 1 ฉบับ หลังจากนั้นจะรอการพิมพ์เล่มรายงาน เพื่อแจกกับสมาชิกอาจใช้เวลาประมาณ 20 วัน และเมื่อประธานบรรจุเข้าสู่วารการพิจารณาแล้ว จะขอให้วิปรัฐบาลเลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาโดยเร่งด่วยเพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคม

ขณะที่นายสมคิด กล่าวว่า เมื่อยื่นรายงานต่อประธานสภาฯในวันที่ 26 ก.ค. แล้ว หากประธานสภาฯบรรจะเข้าสู่วาระการประชุมทัน ก็จะนำเข้าสู่การประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 30 ก.ค. นี้ เพื่อที่จะให้เลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาโดยเร่งด่วน แต่หากไม่ทัน ในสัปดาห์หน้าก็คาดว่าจะสามารถนำรายงานดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯได้ประมาณกลางเดือนส.ค. ซึ่งเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะฝ่ายค้านก็เห็นพ้องด้วย จากนั้นก็จะเสนอรายงานดังกล่าวต่อรัฐบาลเพื่อให้พิจารณา และเร่งดำเนินการตามบันทึกแนบท้ายว่าให้เร่งออกเป็นพ.ร.บ.ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น