“ชัยธวัช” รับเข็นนิรโทษกรรมคดี ม.112 มีผลกระทบ หลัง “ทักษิณ” ถูกสั่งฟ้องคดี ม.112 เชื่อจะเป็นชนวนให้เกิดปัญหาทางการเมือง ย้ำ กมธ.เร่งพิจารณาเนื้อหา ส่งสภาเดือน ก.ค.นี้
วันนี้ (30 พ.ค.) ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภา กล่าวยอมรับต่อประเด็นการขับเคลื่อนการนิรโทษกรรมในคดีมาตรา 112 ว่าจะมีอุปสรรคมากขึ้น หลังจากที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถูกอัยการสูงสุด สั่งฟ้องในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งนี้ ใน กมธ.ยังไม่ได้หารือ แต่ส่วนตัวมองว่าจะมีผลกระทบ
เมื่อถามว่า การศึกษาของ กมธ.จะวางหลักอย่างไร เมื่อมีประเด็นผูกโยงกับกรณีของนายทักษิณ และ กมธ.มีคนของพรรคเพื่อไทยเป็นเสียงข้างมาก นายชัยธวัช กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณีของนายทักษิณ จะทำให้การเสนอพิจารณานิรโทษกรรมมีปัญหาทางการเมืองมากขึ้น แต่การทำงานของ กมธ. ที่จะประชุมวันนี้ (30 พ.ค.) ประเด็นของมาตรา 112 ไม่ใช่วาระหลักที่จะพิจารณา แต่มีประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ กลไกกรรมการที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ทั้งองค์ประกอบ อำนาจ หน้าที่ ของกรรมการเป็นอย่างไร ซึ่งมอบหมายให้อนุกรรมการไปศึกษา
“ในรูปแบบคณะกรรมการที่จะพิจารณาคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม แทนการบัญญัติฐานความผิดให้นิรโทษกรรมโดอัตโนมัติ เพราะอาจไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่มีคดีความต่อเนื่องยาวนาน อย่างไรก็ดี ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ากรรมการอาจมีอำนาจเหนือศาล หรือรัฐบาลนั้น ข้อเท็จจริงกฎหมายนิรโทษกรรม คือ การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ผ่านอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และสามารถทำได้ ซึ่งทำมาทุกครั้ง เช่น การนิรโทษกรรมในอดีต ในคดีมาตรา 112 สามารถออกพระราชกำหนดแบบสั่งให้คดีหมายเลขนี้ ที่อยู่ในชั้นศาลให้ปล่อยตัวได้” นายชัยธวัช กล่าว
เมื่อถามว่า ในการทำงานได้วางหลักการของผลศึกษาอย่างไร นายชัยธวัช กล่าวว่า ต้องเสนอแนวทางของการออกกฎหมายที่มีรายละเอียด ไม่ใช่เสนอแค่กรอบกว้างๆ จับต้องไม่ได้ คือ ต้องมีการพิจารณาในกรอบคดีที่ควรได้รับการพิจารณา กรอบเวลากระบวนการนิรโทษกรรม รวมถึงทางเลือก ข้อดี ข้อเสีย รวมถึงรายละเอียดว่านิรโทษกรรมจะกินความแค่ไหน จะรวมถึงการล้างมลทินให้บุคคลที่เคยได้รับคำพิพากษาหรือได้รับโทษเสร็จสิ้นหรือไม่ เป็นต้น
เมื่อถามย้ำถึงการกำหนดบัญชีแนบท้ายเพื่อนิรโทษกรรมความผิด นายชัยธวัช กล่าวว่า เป็นประเด็นที่ถกเถียงเช่นกันว่าจะมีบัญชีแนบท้ายหรือไม่ หากพิจารณาให้มีกรรมการแล้วบัญชีแนบท้ายไม่จำเป็น อีกทั้งการเสนอบัญชีความผิดใน 25 ฐานความผิด รวมกันแล้วมีมากถึง 2 ล้านคดี ซึ่งการใส่บัญชีนั้นมีข้อจำกัดในตัวเอง
“กมธ.จะเร่งทำงานเพื่อทำให้เกิดรูปธรรม และสรุปว่าจะใช้กลไกแบบไหนเพื่อพิจารณานิรโทษกรรม รวมถึงมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขบางคดี หรือบางประเภทเพื่อเป็นเงื่อนไขหรือกระบวนการเบื้องต้นก่อนได้รับพิจารณานิรโทษกรรมหรือไม่ หรือเป็น เอมเนสตี้โปรแกรม เพื่อพิจารณาเรื่องที่ละเอียดอ่อนทางการเมือง ซึ่งหลังจากนี้ จะประชุมทุกสัปดาห์เพื่อทันส่งให้สภาพิจารณาช่วงเปิดสมัยประชุม เดือน ก.ค. นี้” นายชัยธวัช กล่าว.