‘พิธา’ ชู ‘พันธุ์อาจ ชัยรัตน์’ เป็นตัวแทนก้าวไกล ชิงนายก อบจ.เชียงใหม่ อวยเป็นนายกนวัตกรรม เพราะเคยนั่ง ผอ.สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ พร้อมทำงานร่วม 7 สส.ก้าวไกล ผุดไอเดียแก้ปัญหาธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี วอนมาใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นกันให้มากเท่าเลือกตั้งใหญ่ ไม่เช่นนั้นก้าวไกลมีสิทธิแพ้
วันนี้ (20 ก.ค.67) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ปราศรัยในงาน Policy Fest จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมครั้งที่ 3 และเป็นครั้งแรกในภาคเหนือ นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัว นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
นายพิธา กล่าวว่าการเลือกตั้ง อบจ.แตกต่างจากการเลือกตั้งระดับชาติ เพราะไม่สามารถไปเลือกตั้งล่วงหน้า นอกพื้นที่หรือต่างประเทศได้ อย่างจังหวัดปทุมธานีคนมาใช้สิทธิ์เพียงแค่ครึ่งเดียว แต่เลือกตั้งใหญ่คนปทุมธานีใช้สิทธิ์เกิน 70% ขณะที่วานนี้ไปลำพูน เมื่อดูตัวเลขแล้วเห็นว่าไม่มีใครหายจากการเลือกระดับชาติ 250,000 คนเลือกตั้งท้องถิ่นมีประมาณ 240,000 คน แต่เมื่อมาดูการเลือกตั้งของชาวเชียงใหม่ สมัยนายกฯ อบจ.ปี 2563 จาก 1,000,000 คนใช้สิทธิ์อยู่แค่ 800,000 คน และหากเป็นแบบนี้ พรรคก้าวไกลก็คงมีสิทธิ์แพ้
นายพิธากล่าวอีกว่า การเลือกนายกฯ อบจ. สำคัญไม่แพ้กับการเลือกตั้งใหญ่ งบ อบจ.เชียงใหม่ ประมาณ 1,800 ล้าน ที่เป็นภาษีของประชาชน ไม่ออกไปเลือกและนายกฯ ที่ได้มาไม่ถูกใจ แล้วจะยอมให้นำเงินงบประมาณไปบริหารได้อย่างไร การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ตนก็อยากให้เกิดขึ้น เมื่อครั้งที่นายพริษฐ์ วัชระสินธุ และ นายปิยะบุตร แสงกนกกุล เคยร่างกฎหมายไว้แต่ก็ถูกสภาคว่ำไป ซึ่งการเลือกตั้งนั้นตนก็เข้าใจว่าหลายคนจะต้องปิดร้าน หยุดทำมาหากิน แต่ก็ขอว่าไม่อยากให้เสียชื่อคนเชียงใหม่ และอยากให้ได้เท่ากับการเลือกตั้งปี 2566
เมื่อถามว่าเหตุใดการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องเป็นนายพันธุ์อาจ มีคำจำกัดความสำหรับว่าที่ผู้สมัครคนนี้ คือนายกนวัตกรรม เนื่องจากตั้งแต่ที่ตนเองรู้จักก่อนหน้านี้นับ 10 ปี ก็รู้จักกันในฐานะกรรมการตัดสินกิจกรรมหนึ่ง รวมทั้งนายพันธุ์อาจ เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญ การศึกษาจากประเทศเดนมาร์ก แต่ก็ไม่ได้ใช้คำนำหน้าว่าด็อกเตอร์ ซึ่งที่กล่าวมานี้ไม่ได้จากอวดอ้างว่าแคนดิเดตของพรรคก้าวไกลเรียนจบนอก จากยุโรป แต่อยากให้รู้ว่าแคนดิเดตที่มาลงสมัครนั้นสามารถทำอะไรได้มีนโยบายอะไรบ้าง จากสถานการณ์ 3 เดือนเผา 5 เดือนแอ่ว 7 เดือนดักปิ้ง (เงียบ) ที่เกิดขึ้นของเชียงใหม่
อีกทั้งยังเท้าความกลับก่อนหน้า ที่จะหาตัวแทนเป็นผู้สมัคร สส. หรือนายก อบจ.ก็ยาก แต่ขณะนี้พรรคใหญ่ขึ้นมีชื่อเสียงก็หลากหลายหลายคนที่จะฝากเข้ามาให้เป็นผู้สมัครในตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่งก็ย้ำว่าทรงนี้พรรคก้าวไกลที่มีนโยบายและนายพันธุ์อาจ ก็ไม่ได้ร้องขอตนเองในเรื่องนี้ด้วย ส่วนผลที่จะได้หลังจากนายพันธุ์อาจ เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้น คือการนำนวัตกรรมที่ขึ้นหิ้ง มาแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน เป็นเทคโนโลยีแจ้งความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ผูกโบว์ตัดริบบิ้นกันอย่างเดียว เพราะขณะนี้ชาวเชียงใหม่รู้สึกว่าเทคโนโลยีไร้ประโยชน์เพราะไม่ได้นำมาใช้ช่วยเหลืออย่างจริงจัง
นายพิธา กล่าวถึงความมั่นใจในฐานเสียงสนามเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ว่า หากคุยกันด้วยวิทยาศาสตร์และตัวเลขมีน้ำมีเนื้อที่จะพอชนะได้ แต่ก็ประมาทไม่ได้เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นต่างจากการเลือกตั้งระดับชาติ ต้องมีการทำงานร่วมกัน เพื่อคว้าชัยชนะมาให้ได้
ส่วนที่มีความพยายามจะทวงคืนพื้นที่ นายพิธา ระบุว่าในทางการเมือง การแข่งขันเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะการสร้างนโยบาย และการบริหารจัดการในแต่ละพื้นที่ นวัตกรรมแบบใดที่เหมาะสมกับปัญหา ยิ่งการแข่งขันเยอะยิ่งมีประสิทธิภาพ ตนเองนิยามนายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ว่าเป็น “นายกฯ นวัตกรรม” เพราะเคยไปอยู่ที่เดนมาร์กและเป็นผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ หวังว่าจะนำนวัตกรรมที่อยู่บนหิ้งมาแก้ไขปัญหาให้กับชาวเชียงใหม่ให้เห็นเป็นรูปธรรม หากนายพันธุ์อาจทำไม่ได้ก็ไม่มีนายก อบจ.คนไหนทำได้ใกล้เคียง อย่างไรก็ตามต้องให้นายพันธุ์อาจได้พิสูจน์ฝีมือด้วย
เมื่อถามถึงการดึงนายทัศนัย บูรณุปกรณ์ น้องชายของนางสาวทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ มานั่งเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งนายก อบจ.นั้น นายพิธา กล่าวว่าเมื่อปีที่ผ่านมาได้ขึ้นเวทีที่จังหวัดเชียงใหม่คุยกันเรื่องการกระจายอำนาจ จึงได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นทำให้เห็นว่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นเหรียญสองด้าน อาจจะกลายเป็นนรกของบางคนเพราะมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดเป็นท็อป 5 นอกจากนี้ยังมีปัญหาความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ และว่างงาน ซึ่งจะเป็นสิ่งที่นายพันอาจได้พิสูจน์ฝีมือ และยังต้องทำงานอย่างไร้รอยต่อกับการเมืองระดับชาติ โดยจังหวัดเชียงใหม่มี สส.จากพรรคก้าวไกล 7 คน ซึ่งหากแก้ปัญหาได้จริง จะถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้พรรคอื่นไม่สามารถแข่งกับเราได้
ส่วนการดึงคำว่า “นวัตกรรม” มาใช้ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องไกลตัวหรือไม่ เพราะวันนี้ทุกคนนั่งดูจุดฮอตสปอต และดาวเทียม GISTDA ทุกคนอยากเห็นนวัตกรรมการป้องกันก่อนเกิดไฟป่า ประชาชนเห็นแล้วว่าเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ เป็นเรื่องเดียวกันกับปัญหาปากท้อง นอกจากนี้เชียงใหม่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมฉับพลันเป็นอันดับต้นของประเทศ ควรจะมีเซ็นเซอร์เตือนภัยล่วงหน้า เชื่อว่านายพันอาจจะทำได้จากประสบการณ์ที่มี หากทำไม่ได้ก็ยังจะมีทีมนวัตกรรมของพรรคคอยหนุนหลัง
นายพิธา กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้กลับบ้านไปทบทวนการปราศรัยครั้งนี้ ว่าเราจะทำให้การเลือกตั้ง อบจ.เหมือนกับระดับชาติ ซึ่งตนเองก็อยากให้ถึงหลักล้าน หากมาน้อยระบบจัดตั้งก็จะชนะแน่นอน
นายพันธุ์อาจ กล่าวเสริมถึงเรื่องนวัตกรรมว่า เชียงใหม่มีนวัตกรรมอยู่แล้ว มีบุคคลที่ทำงานบนโลกออนไลน์ได้ทุกที่ก็มาก วิทยาลัยหลาย 10 แห่ง ก็พยายามจะทำนวัตกรรมแยกออกมาจากมหาวิทยาลัย ธุรกิจหลายตัวก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไปไม่สุด เราจึงพยายามแก้ปัญหาโดยการใช้นวัตกรรม
นายพันธุ์อาจ มองว่า เชียงใหม่มีสองมุม คือมุมสร้างและมุมใช้ ในส่วนของมุมสร้างนั้น ยังไปไม่ได้ไกลเท่าไหร่ ส่วนมุมการใช้จะเป็นไปในลักษณะของการพัฒนาแบบไร้รอยต่อ เนื่องจากคนระดับล่างและบนมีนวัตกรรมที่ต่างกันในเชิงสังคม เชียงใหม่มีครบทุกเรื่อง แต่ยังไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาในบริบทของการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวประชาชน
ฉะนั้น ถ้าเรามองจิ๊กซอว์ในภาพใหญ่ ตนทำแล้ว นักธุรกิจทำแล้ว ครั้งนี้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ก็ควรจะทำหน้าที่ในการเป็นตัวกลาง เพื่อเชื่อมโยงทำให้เชียงใหม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนวัตกรรมจริงๆ
ส่วนผลตอบรับจากการลงพื้นที่นั้น เนื่องจากตนใช้ยุทธวิธีป่าล้อมเมือง เริ่มจากคนที่อยู่ไกลๆ ก่อน แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่คนในพื้นที่เหล่านั้น กลับเข้าถึงข้อมูลในอินเตอร์เน็ตได้เยอะมาก จนเรารู้สึกว่าการใช้วิธีแบบเดิม อาจจะเริ่มใช้ไม่ได้กับคนที่อยู่ต่างอำเภอแล้ว
ส่วนอยากฝากอะไรกับชาวเชียงใหม่บ้าง นายพันธุ์อาจ กล่าวว่า เชียงใหม่มีอะไรเยอะมากกว่าที่เราคิดว่าทำไม่ได้ มาร่วมมือ ร่วมแรง แก้ปัญหาเชียงใหม่ด้วยกัน เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน เพราะฉะนั้น ก้าวไกลอาสามาพัฒนา และเป็นผู้สมัคร อบจ.แล้ว นี่คือตัวเชื่อมโยงที่ดีที่สุดที่เราจะมอบให้กับคนเชียงใหม่