“สุรพงษ์” ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ตรวจคืบหน้างานตามข้อสั่งการ "นายกฯ" เร่งปรับแบบ เพิ่มทางระบายน้ำ สร้างถนนเลียบทางรถไฟเชียงใหม่-ลำพูน กว่า 11 กม. กำชับ รฟท.ทำ MOU ส่งมอบที่ 62 ไร่ให้ อบจ.เชียงใหม่เข้าปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะกลางเมืองเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน
วันนี้ (24 มิถุนายน 2567) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายมณเฑียร อัตถจริยา รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สินด้านบริหาร การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เปิดเผยว่า ได้ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาถนนเลียบทางรถไฟเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรในพื้นที่บริเวณด้านหลังโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย (ใต้สะพานยกระดับ) ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ขออนุญาตใช้พื้นที่จาก รฟท.เพื่อก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟเชียงใหม่-ลำพูน ระยะทางรวม 11.142 กิโลเมตร ปัจจุบันกรมโยธาฯ อยู่ระหว่างการแก้ไขแบบ ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้มีข้อสั่งการให้ออกแบบทางระบายน้ำ โดยเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถระบายน้ำได้มากขึ้นและทำทางเชื่อมให้ระบายน้ำออกไปตามคูคลองต่างๆ ได้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
จากนั้น นายสุรพงษ์ และคณะได้ลงพื้นที่สวนสาธารณะสถานีรถไฟเชียงใหม่เพื่อติดตามการดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2567 เนื่องจากสวนสาธารณะจำนวน 62 ไร่เป็นพื้นที่ของ รฟท. ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.เชียงใหม่) มีแผนพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ใจกลางเมืองให้คนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา อีกทั้งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ รฟท.ทำ MOU ร่วมกับ อบจ.เชียงใหม่ เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ อบจ.เชียงใหม่เข้ามาดำเนินการปรับปรุงและใช้พื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะใจกลางเมืองของคนเชียงใหม่เต็มรูปแบบ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุญาตใช้พื้นที่ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการทำ MOU ร่วมกันระหว่างสองหน่วยงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามแผนที่กำหนดไว้โดยเร็วต่อไป
ต่อมาได้เดินทางไปยังศูนย์หัตถกรรมไม้แกะสลักบ้านถวาย ติดตามการพัฒนาระบบขนส่งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สำหรับศูนย์หัตถกรรมฯ ปัจจุบันมีประเด็นปัญหาคือ จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงตั้งแต่ช่วง COVID-19 อีกทั้งยังขาดการประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ได้มีข้อแนะนำให้พิจารณาถึงปัญหาที่แท้จริง โดยจัดตั้งคณะทำงานฟื้นฟูศูนย์หัตถกรรมฯ ขึ้นมาเป็น “บ้านถวายโมเดล” ให้มีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย เพื่อเก็บข้อมูลการตลาดที่ผ่านมานำมาวิเคราะห์จัดทำแผนฟื้นฟูศูนย์หัตถกรรมฯ และวางแผนการตลาดให้ตรงตามความต้องการของนักท่องเที่ยว
ส่วนการเดินทาง ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกได้จัดรถโดยสารประจำทาง สาย 2524 เชียงใหม่-บ้านถวาย-อำเภอบ้านสารภี ให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-16.30 น. วันละ 8 เที่ยว เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว
สำหรับการทดลองเดินรถโดยสารเชื่อมโยงโครงข่ายสาธารณะรองรับการเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ผลักดันการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและระบบรองรับการเดินทางในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี อุทยานหลวงราชพฤกษ์ น้ำตกห้วยแก้ว สวนสัตว์เชียงใหม่ วัดพระธาตุดอยคำและโบราณสถานเวียงกุมกาม ซึ่งบริษัท กรีนแคปปิตอล จำกัด ได้นำรถเที่ยวชมเมือง หรือ HOP&GO มาให้บริการ และร่วมกับสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ผลักดันให้เกิดเส้นทางเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวทั้ง 7 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวได้มีระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงถึงกัน ทำให้การเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นนั้น
เบื้องต้นพบว่ายังมีจำนวนผู้โดยสารไม่มาก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมจึงขอให้ทุกหน่วยงานในจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกันสร้างกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ รวมทั้งผลักดันให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น