xs
xsm
sm
md
lg

ปุ๋ยคนละครึ่ง พลิกแต้มลบรัฐบาล!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เศรษฐา ทวีสิน  - ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
เมืองไทย 360 องศา

โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือที่เรียกว่า “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ที่เสนอโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังจะกลายเป็น “ภาพลบ” ให้กับรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแทนที่จะได้แต้ม แต่ผลออกมาเป็นตรงกันข้าม หลังจากเริ่มมีปฏิกิริยาคัดค้านจากชาวนามากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดได้มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ จากพรรคเพื่อไทยเอง ก็แสดงความเห็นคัดค้านแล้ว

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ตามที่คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 และคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

โครงการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ตามความต้องการของเกษตรกรแบบมีส่วนร่วม โดยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ในลักษณะ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” เพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้เข้มแข็งและเกิดความยั่งยืน และลดภาระการเงินการคลังของประเทศ โดยการสนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ในราคาครึ่งหนึ่งไม่เกินครัวเรือนละ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท ตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริง รวมมูลค่าปุ๋ยไม่เกิน 20,000 บาท

สำหรับคุณสมบัติเกษตรผู้ปลูกข้าวที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2567/68 กับกรมส่งเสริมการเกษตร นอกจากนี้ ลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ สามารถเข้าร่วมโครงการได้ด้วยเช่นกัน โดยวิธีเข้าร่วมโครงการนั้นเกษตรกรต้องใช้สิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. เข้าร่วมโครงการฯ จากนั้นระบุปุ๋ยสูตรที่เข้าร่วมโครงการฯ และชำระเงินค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ครึ่งหนึ่งผ่านแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. (รัฐช่วยจ่ายค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ครึ่งหนึ่งและเกษตรกรจ่ายครึ่งหนึ่ง) เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตข้าว เพิ่มโอกาสและบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร ส่งผลให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น

แม้ว่าโครงการนี้มีเจตนาที่ดูดี คือต้องการลดต้นทุนของเกษตรกร เป็นการช่วยเหลือลดค่าปุ๋ย ที่ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเป็นต้นทุนหลักในการทำนา แต่ก็ตามมาด้วยเสียงวิจารณ์ว่า เป็นการ “เพิ่มภาระ” ให้กับชาวนา เพราะชาวนาที่เข้าร่วมโครงการต้อง “ชำระเงินครึ่งหนึ่ง” หากครัวเรือนละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือ ไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งเป็นภาระที่หนักสำหรับชาวนาในเวลานี้ และที่สำคัญยังมีการกล่าวว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทจำหน่ายปุ๋ยอีกด้วย และกำหนดสูตรปุ๋ยไม่ตรงกับความต้องการ เป็นต้น

อีกทั้งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับโครงการ “เยียวยาไร่ละพัน” ไม่เกิน 20 ไร่ไม่เกิน 20,000 บาท ที่ถูกยกเลิกไป โดยชาวนาเรียกร้องให้กลับมา เนื่องจากเป็นการช่วยเหลือโดยตรง โดยที่ชาวนาไม่ต้องสำรองจ่าย โดยเวลานี้เริ่มมีปฏิกิริยาคัดค้านเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ

ที่น่าสนใจก็คือ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 18 กรกฎาคม มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระกาประชุมได้เปิดให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ โดยนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) หารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ว่า เรื่องโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ซึ่งเป็นโครงการหลักของรัฐบาลที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับชาวนาที่จะช่วยเหลือค่าปุ๋ย ไร่ละไม่เกิน 500 บาท สูงสุด 20 ไร่ เป็นเงิน 1 หมื่นบาท ซึ่งมีปัญหามากมาย ทั้งการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น สูตรปุ๋ยที่อาจจะไม่ตรงใจกับชาวนา ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ที่สำคัญคือ เงินที่พี่น้องเกษตรกรจะต้องนำไปซื้อปุ๋ยและต้องสำรองจ่ายก่อนครึ่งหนึ่ง

“พี่น้องชาวนาฝากให้ผมมาพูดว่าอยากให้รัฐบาลได้ทบทวน และถ้าเป็นไปได้พี่น้องเกษตรกรอยากได้การช่วยเหลือแบบไร่ละพันเหมือนเดิมที่ผ่านมา เอาปุ๋ยคนละครึ่งคืนไป เอาไร่ละพันกลับมา”นายกรวีร์ กล่าว

นายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย หารือว่า ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจต่อเกษตรกร ขอให้ยกเลิกโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง แต่โครงการเยียวยาชาวนาไร่ละ 1 พันบาทขอให้คงไว้ตามเดิม

นายทินพล ศรีธเรศ สส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย หารือว่า ขอยืนยันว่าชาวนาในจังหวัดก็เป็นกังวลกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่งของรัฐบาลว่าจะตอบโจทย์ช่วยเหลือชาวนาจริงหรือไม่ ถ้าชาวนาไม่มีเงินสมทบเติมเพื่อซื้อปุ๋ยจะทำอย่างไร ตามปกติถ้าชาวนาไม่มีเงินก็จะเชื่อปุ๋ยมาก่อน หรือไม่ก็นำปุ๋ยจากกองทุนหมู่บ้านมาใช้ เมื่อขายผลผลิตได้แล้วจึงนำเงินไปใช้หนี้ แต่สำหรับโครงการนี้กลับต้องนำเงินไปใส่สมทบไว้เสียก่อน นี่คือข้อกังวลของขาวนา

“ซ้ำร้ายกว่านั้นได้ยินมาว่าหากมีโครงการปุ๋ยคนละครึ่งแล้ว จะไม่มีโครงการไร่ละพัน ยิ่งทำให้ชาวนาทุกข์ใจเพิ่มมากขึ้น หากรัฐบาลยังยืนยันจะทำโครงการปุ๋ยคนละครึ่งอยู่ ชาวบ้านขอเรียกร้องอยากให้โครงการไร่ละพันอยู่เหมือนเดิม เพราะตอบโจทย์ชาวนามากกว่า จึงฝากไปยังรัฐบาลและรมว.เกษตรและสหกรณ์ทบทวนพร้อมชี้แจงให้ประชาชนทราบด้วย” นายทินพล กล่าว

ด้านนายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย หารือว่า ได้รับการร้องเรียนจากชาวนาเกี่ยวกับปุ๋ยคนละครึ่ง ที่รัฐบาลกำลังดำเนินโครงการ เนื่องจากโครงการนี้แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือกลับเป็นการซ้ำเติม เพราะประชาชนจะต้องไปกู้เงินมาล่วงหน้าเพื่อมาสมทบก่อน และปุ๋ยที่ได้ไม่แน่ใจว่าจะมีคุณภาพ ถูกต้องตรงตามที่ต้องการหรือไม่ และไม่สามารถที่จะนำเงินเหล่านี้ไปใช้ช่วยลดปัจจัยการผลิตด้านอื่นๆได้ ไม่เหมือนโครงการไร่ละ1 พันบาท ซึ่งเกษตรกรได้รับเงินโดยตรงไม่ต้องมีหนี้สิน สามารถนำเงินเหล่านั้นไปใช้ลดต้นทุนการผลิต ทั้งค่าเก็บเกี่ยว ค่าไถ ค่าหว่าน ค่าปุ๋ย ได้ทุกอบ่างครบวงจร จึงขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพและชาวนาได้รับประโยชน์สูงสุดตามนโยบายของรัฐบาล

จะว่าไปแล้วโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ที่ตอนแรกคาดว่าจะเป็น “ไม้เด็ด” ของรัฐบาล และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ผลักดันอย่างเต็มที่ แต่กลายเป็นว่าไม่ได้รับการตอบรับจากชาวนา ที่ถือว่ามีจำนวนมาก เพราะพวกเขาบอกว่าเป็นการ “เพิ่มภาระ” ไม่ใช่การช่วยเหลือ เนื่องจากต้องสำรองจ่ายครึ่งหนึ่ง ผิดกับโครงการ “ไร่ละพัน” ที่ได้รับเงินโดยตรง สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อปุ๋ย ค่าเก็บเกี่ยว หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆได้ตามใจ

ทั้งนี้โครงการ หรือมาตรการเยียวยา “ไร่ละพัน” ดังกล่าว ริเริ่มมาในยุครัฐบาล “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเริ่มจ่ายเงินงวดแรกเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เรื่อยมา แต่มายกเลิกในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยนายเศรษฐา ทวีสิน และ มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ผลักดันอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี เมื่อมีเสียงต่อต้าน คัดค้านจากชาวนา และเรียกร้องให้นำโครงการไร่ละพันกลับมา พวกเขาก็อ้างว่าไม่ได้ยกเลิก เพียงแต่แยกกัน นั่นคือหากมีปัญหาราคาข้าวไม่ดีก็จะนำกลับมาใช้อีก ความหมายก็คือ “แต่ตอนนี้ยังไม่จ่าย” นั่นแหละ

ดังนั้น หากพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว “ปุ๋ยคนละครึ่ง” เป็นอีกหนึ่งโครงการของรัฐบาลที่สร้าง“ภาพลบ”เพิ่มขึ้นมาอีก สิ่งที่พิสูจน์ได้ว่ามันไม่เข้าเป้า ก็ต้องสังเกตได้จากปฏิกิริยาคัดค้านของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ที่มี สส.จากพรรคเพื่อไทยส่งเสียงให้ยกเลิกดังๆ ให้ยกเลิก แล้วนำโครงการ “ไร่ละพัน” กลับมาโดยเร็ว นี่ยังไม่นับในสื่อโซเชียลฯ ที่มีคลิปโวยวายด่าทอกันดังลั่น มันก็พอะท้อนให้เห็นภาพแล้วว่า อาการหนักเพียงใด!!


กำลังโหลดความคิดเห็น