“เรืองไกร” ยื่นร้องผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งศาลปกครองวินิจฉัยกรณีมติ ครม.เห็นชอบโครงการดิจิทัลวอลเล็ตโดยจำกัดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับแจกเงิน เข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือไม่
วันที่ 17 ก.ค. 67 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า จากกรณีนายกรัฐมนตรี และ ครม.มีมติเห็นชอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต มีวงเงิน 500,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลจะใช้เงินจาก 3 แหล่ง ขณะนี้ มีออกมาแล้ว 2 แหล่ง คือ งบกลางในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท และงบกลางในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มติ ครม.เมื่อวันที่ 23 เม.ย.67 ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้มีอายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน สัญชาติไทย มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท นั้น ซึ่งจะแจกให้ประชาชน 50 ล้านคน จึงทำให้คนอีกกว่า 10 ล้านคน ไม่ได้รับแจกเงินตามโครงการดังกล่าวด้วย กรณีนี้จึงเข้าข่ายเป็นการกระทำของ ครม.ที่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาค
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า หากเทียบเคียงตามแนวคำพิพากษาของศาลปกครอง โครงการแจกเงิน 10,000 บาท ที่ ครม.ให้ความเห็นชอบแล้วนั้น จึงเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 4 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง จึงร้องได้ 2 ทาง คือ 1. ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231(2) และ 2. ร้อง ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234(1) ซึ่งขณะนี้ ควรร้องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งให้ศาลปกครองวินิจฉัยก่อน ส่วนการร้องไปที่ ป.ป.ช. นั้น ควรรอให้ ส.ส. ร่วมกระทำการก่อน แล้วค่อยร้องตามหลัง วันนี้ตนจึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองและให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้าว่า มติ ครม.ที่เห็นชอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยจำกัดกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 50 ล้านคน โดยไม่ได้ให้สิทธิประชาชนทั่วไปอื่นอีกกว่า 10 ล้านคน นั้น เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ขัดต่อหลักนิติธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาค และมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 4 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง หรือไม่