“เรืองไกร” ยก 6 ข้อกฎหมาย ร้อง “ป.ป.ช.” ต้องสอบ “เศรษฐา” ปมแต่งตั้ง ผบ.ตร. ต่อ ถึงแม้ “เสรีพิศุทธ์” ถอนคำร้องจากการร้องขอของสองอดีตนายกฯ
วันนี้ (7 ก.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า กรณีที่ปรากฏข่าวการร้องขอจากอดีตนายกฯ 2 คน ที่ขอให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถอนคำร้องที่กล่าวหานายกฯ เศรษฐา กับพวก ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีแต่งตั้ง ผบ.ตร. กรณีดังกล่าว แม้จะมีการถอนคำร้องแล้ว แต่ถ้าดูข้อกฎหมายใน พรป.ป.ป.ช. การถอนคำร้องไม่น่าจะมีผลให้ ป.ป.ช. ยุติเรื่องได้ เพราะต้องถือว่า มีความปรากฏแล้ว ดังนั้น ในวันนี้ ตนจึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ทำการตรวจสอบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อไป โดยมีการยกข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ใส่ไว้ในดังนี้
ข้อ 1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง (1) มาตรา 48 วรรคหนึ่ง และมาตรา 183 บัญญัติไว้ดังนี้
“มาตรา 28 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”
“มาตรา 48 เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะมีการกล่าวหาหรือไม่ ว่ามีการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยพลัน โดยในกรณีที่จำเป็นต้องมีการไต่สวน ต้องไต่สวนและ มีความเห็นหรือวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ซึ่งต้องไม่เกินสองปี นับแต่วันเริ่มดำเนินการไต่สวน”
“มาตรา 183 กรรมการ พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลหรือคณะบุคคลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 180 หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ต้องระวางโทษสองเท่าของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น และในกรณีที่บุคคลดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความเที่ยงธรรมให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ”
ข้อ 2. เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ได้ยื่นหนังสือกล่าวโทษ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กับพวก รวม 10 คน ซึ่ง ป.ป.ช. รับคำร้องพร้อมเอกสารไว้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ดังความควรแจ้งแล้วนั้น
ข้อ 3. ต่อมา ประมาณวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ปรากฏข่าวตามสื่อต่างๆ ว่า พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ได้ถอนเรื่องกล่าวหาดังกล่าว โดยมีการกล่าวอ้างถึง อดีตนายกฯ 2 คน มาร้องขอ และกล่าวอ้างว่า เมื่อถอนคดีแล้วจะมีคนไปวิ่งเต้นคดีกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ต่อไปนั้น ประกอบกับวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล ได้มายื่นกล่าวหานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่ง รายละเอียด ป.ป.ช. ควรทราบแล้วนั้น
ข้อ 4. กรณี ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง แล้ว ย่อมเห็นได้ว่า ป.ป.ช. ยังคงต้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อตรวจสอบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กับพวก ต่อไป เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว
ข้อ 5. ดังนั้น กรณีการกล่าวหานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นคำร้องของพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และคำร้องของพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล ย่อมเป็นความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วเช่นกัน กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อไปตามหน้าที่และอำนาจในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง (1)
ข้อ 6. สำหรับกรณีการกล่าวอ้างว่า จะมีคนไปวิ่งเต้นคดีกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ต่อไปนั้น กรณีนี้ จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ต่อไปว่า มีเจ้าหน้าที่ผู้ใด เข้าข่ายกระทำการช่วยเหลือให้มีการวิ่งเต้นคดีอันมีโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 183 หรือไม่
นายเรืองไกร สรุปว่า ในหนังสือดังกล่าว จึงได้ขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำร้องของพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และคำร้องของพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล ต่อไปว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่