“เรืองไกร” ร้องศาล รธน.สอบ “พิธา” แุถลงแนวทางสู้คดียุบพรรค ทั้งที่มีคำสั่งให้หยุดแสดงความคิดเห็น เพื่อรอคำวินิจฉัย เข้าข่ายฐานเป็นผู้ใดละเมิดอำนาจศาลหรือไม่
วันที่ 17 มิ.ย. 67 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีข่าวการเมืองที่สำคัญ ซึ่งควรติดตามเยอะมาก เช่น เรื่องคุณสมบัตินายกฯ, เรื่องคดี 112 ของอดีตนายกฯ, เรื่องบทกฎหมายการเลือก ส.ว.ขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และเรื่องการยุบพรรคก้าวไกล เป็นต้น
ส่วนเรื่องการยุบพรรคก้าวไกล อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามข่าวศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2567 วันที่ 5 มิ.ย. 2567 หัวข้อที่ (4) ศาลเห็นว่า ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย คู่กรณีไม่สมควรแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีที่เป็นการชี้นำสังคมอันอาจกระทบต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2567 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งมีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ได้เปิดเผยข้อต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล ลงในเฟซบุ๊กของนายพิธา รวมทั้ง QR code คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหารวม 70 กว่าหน้า ที่สาธารณชนทั่วไปเข้าถึง และ download ได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าว อาจเข้าข่ายฐานเป็นผู้ใดที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีที่เป็นการชี้นำสังคมอันอาจกระทบต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ตามข่าวที่ 20/2567 หัวข้อที่ (4) หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 39 หรือไม่ (รายละเอียดปรากฏอยู่ในเฟซบุ๊กของนายพิธา)
นายเรืองไกร กล่าวว่า ต่อมาในเฟซบุ๊กของนายพิธา วันที่และเวลาไม่ปรากฏ แต่ก่อนวันที่ในหนังสือนี้ 3 วัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังได้โพสต์เฟซบุ๊กต่อเนื่องจากกรณีดังกล่าวอีก (ตามที่ปรากฏในเฟซบุ๊กของนายพิธา)
นายเรืองไกร กล่าวว่า โดยที่ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 9 ข้อ 10 ข้อ 11 กำหนดไว้ว่า “ข้อ 9 ศาลอาจออกคำสั่งให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว
ข้อ 10 ห้ามมิให้ผู้ใดบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาล หรือวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลโดยไม่สุจริตหรือใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี ปลุกปั่น ยุยง หรืออาฆาตมาดร้าย
ข้อ 11 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดหรือคำสั่งศาลตามข้อ 8 ข้อ 9 และข้อ 10 ให้ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 39”
นายเรืองไกร กล่าวตามมาว่า โดยที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 39 บัญญัติว่า
“มาตรา 39 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลหรือคำสั่งศาลตามมาตรา 38 ให้ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล และให้ศาลมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) ตักเตือน โดยจะมีคําตําหนิเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้
(2) ไล่ออกจากบริเวณศาล
(3) ลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาเท่าที่จําเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี การสั่งลงโทษตาม (3) ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของตุลาการทั้งหมด เท่าที่มีอยู่
ในการดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาลตาม (3) ให้นําประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญามาใช้บังคบด้วยโดยอนุโลม”
“การกระทำของนายพิธา ที่ได้โพสต์เฟซบุ๊ก รวมทั้ง QR code คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยเปิดเผยซึ่งสาธารณชนทั่วไปเข้าถึงได้ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา และยังได้กระทำการในลักษณะทำนองเดียวกันตามมาอีก ซึ่งอาจกระทบต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ศาลได้ทำการตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจต่อไป” นายเรืองไกร กล่าว
นายเรืองไกร สรุปว่า ในวันนี้ ตนจึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบนายพิธา กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2567 และวันต่อมา ว่า เข้าข่ายฐานเป็นผู้ใดที่กระทำการฝ่าฝืนคำสั่งศาล ตามข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2567 วันที่ 5 มิ.ย. 2567 ข้อ (4) หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวจะถือเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามความในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 หรือไม่