xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.เกษตรฯ แนะยกเลิกปุ๋ยคนละครึ่ง หากจำเป็นควรมีโครงการคู่ขนาน-ให้ซื้อตามความเหมาะสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปธ.กมธ.เกษตรฯ แนะยกเลิก “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ชี้ หากมีความจำเป็น ควรมีโครงการคู่ขนาน พร้อมให้สิทธิเกษตรกรซื้อปุ๋ยเองตามความเหมาะสม

วันนี้ (11 ก.ค.) เมื่อเวลา 15.30 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.จ.ตราด พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ. แถลงว่า วันนี้ ทาง กมธ.มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่อง “มาตรการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต ๒๕๖๗/๖๘” โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการของโครงการดังกล่าว เพื่อสนับสนุนค่าปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ในราคาไม่เกินไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในปีการผลิต 2567/2568 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร และสนใจเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน

ซึ่งผู้แทนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีความเห็นว่า ควรโอนเงินค่าสนับสนุนปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรโดยตรง เพื่อให้สามารถเลือกซื้อปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของเกษตรกรและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่เพาะปลูกในแต่ละพื้นที่อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่มีเงินไม่เพียงพอในการจ่ายสมทบเข้าร่วมโครงการ และในบางพื้นที่ได้ล่วงเลยระยะเวลาการใช้ปุ่ยและชีวภัณฑ์ในการเพาะปลูกข้าวแล้ว

นายศักดินัย กล่าวว่า ทาง กมธ.มีข้อเสนอแนะว่า

1. รัฐบาล ควรยกเลิกโครงการดังกล่าว เนื่องจากยังพบข้อจำกัดหลายประการ แต่หากมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป ควรกำหนดให้เกษตรกรมีสิทธิได้เลือกซื้อปุ๋ยเองตามความเหมาะสม ควรเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกำหนดแนวทางการทำงานอย่างรอบคอบเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรชาวนาอย่างแท้จริง อีกทั้งควรกำหนดมาตรการหรือโครงการอื่นในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว คู่ขนานกับโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยเฉพาะโครงการสินเชื่อชะลอการขาย ข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ไร่ละ ๑,๐๐๐ บาท สูงสุดไม่เกิน ๒๐ ไร่) ซึ่งเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์และตรงตามความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

2. กรมการข้าว ควรกำหนดสูตรปุ๋ยและยี่ห้อปุ๋ยที่มีธาตุอาหารถูกต้องตามหลักวิชาการ สอดคล้องกับพันธุ์ข้าวและสภาพพื้นที่เพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลือกใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพและช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไรได้อย่างแท้จริง
อีกทั้งควรจัดหาผู้ประกอบการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ ให้มีจำนวนหลากหลายเพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้ปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร ทั้งนี้ ราคาปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่จำหน่ายตามโครงการ จะต้องเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไป เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นการให้เกษตรกรสมทบเงินเพื่อซื้อปุ๋ยด้วยครึ่งหนึ่ง ดังนั้น จึงควรให้เกษตรกรได้มีสิทธิในการเลือกสูตรปุ๋ยและยี่ห้อปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการ

3. กรมการข้าวและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ควรคำนึงถึงเกษตรกรผู้ปลูก ข้าวซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีเงินเพียงพอในการจ่ายสมทบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว

4. กรมวิชาการเกษตร ควรกำหนดมาตรการในการตรวจสอบคุณภาพปุ๋ยและชีวภัณฑ์จากผู้ประกอบการปุ่ยที่เข้าร่วมโครงการ อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการปลอมปนปุ่ยไม่ได้คุณภาพ

รวมถึงต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่เข้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการ ในปัจจุบันกว่า ๑๘๖ บริษัท โดยต้องยึดหลักการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริต

5. กรมส่งเสริมสหกรณ์ ควรคำนึงถึงแนวทางการดำเนินการให้เกิดความโปร่งใสในการจ่ายเงินจากสหกรณ์การเกษตรให้กับผู้ประกอบการจำหน่ายปุ๋ยและชีวภัณฑ์

6. กรมส่งเสริมการเกษตร ควรกำหนดมาตรการการขึ้นทะเบียนและประชาสัมพันธ์ให้แก่เกษตรกร ผู้ปลูกข้าวให้ครอบคลุมและทันต่อระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการ

และ 7. กรมการค้าภายใน ควรกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อเสนอต่อคณะคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต คุ้มค่างบประมาณเป็นไปตามวินัยการเงินการคลังของรัฐ และครอบคลุมความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง โดยเฉพาะโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่)


กำลังโหลดความคิดเห็น